แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในขณะที่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายลำปาง-เชียงใหม่ ในท้องที่อำเภอเมืองลำปาง อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง อำเภอแม่ทาอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และอำเภอสารภีอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2509 ซึ่งได้ออกตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2497 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเวนคืนนั้นตกมาเป็นของจำเลยที่ 1ตามมาตรา 10 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 นับแต่วันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ฉบับดังกล่าวใช้บังคับแล้วหาได้ต้องตกอยู่ในเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 1 จะต้องใช้เงินค่าทดแทนและเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนก่อนกรรมสิทธิ์จึงจะตกได้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อขณะที่โจทก์รับโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 8652 โดยการซื้อขาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์แล้วโจทก์จึงมิใช่เป็นเจ้าของที่ดินที่ต้องเวนคืน ซึ่งจะเรียกที่ดินคืนโดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวมิได้ใช้ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนได้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอคืนที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสอง โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนด ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โจทก์จึงจะมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลตามมาตรา 26 วรรคแรก แต่ปรากฏว่าเมื่อโจทก์ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทน โจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 25 วรรคแรก เสียก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยทั้งสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8652 ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา เมื่อวันที่16 มีนาคม 2508 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายลำปาง-เชียงใหม่ พ.ศ. 2508 ทำให้ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเป็นจำนวนเนื้อที่ 1 งาน 73 ตารางวา และในวันที่13 ธันวาคม 2509 ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายลำปาง-เชียงใหม่ ในท้องที่อำเภอเมืองลำปาง อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง อำเภอแม่ทาอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และอำเภอสารภีอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2509 ให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้สร้างทางหลวงสายดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยเมื่อปี 2511 โดยมิได้ใช้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่อยู่ในแนวเขตที่จะต้องเวนคืนแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจะต้องดำเนินการคืนที่ดินส่วนนั้นให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองมิได้ดำเนินการแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองเพิ่งนำเงินค่าทดแทนมาวางเมื่อปี 2530 ค่าของเงินตกต่ำลงและที่ดินของโจทก์อยู่ติดถนนสายลำปาง-เชียงใหม่ ราคาซื้อขายในท้องตลาดปัจจุบันไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 5,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายลำปาง-เชียงใหม่พ.ศ. 2509 ไม่มีผลใช้บังคับโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองคืนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนแก่โจทก์ รวมทั้งเพิกถอนการกระทำใด ๆ ของจำเลยทั้งสองอันเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ และห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท หากโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับที่ดินดังกล่าวคืน ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายและค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,497,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยทั้งสองได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปตกลงราคาค่าทดแทนเมื่อปี 2531 แต่โจทก์เพิกเฉยจำเลยทั้งสองจึงนำเงินค่าทดแทนไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 5 จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งแจ้งให้โจทก์ไปรับ หากโจทก์ไม่พอใจในราคาอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนก็ต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530แต่โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีกลับนำคดีมาฟ้องโดยมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอคืนที่ดินพิพาทและมีสิทธิได้ค่าทดแทนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของคู่ความและตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังมาโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงฟังได้เป็นยุติว่าเมื่อปี 2508 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายลำปาง-เชียงใหม่ พ.ศ. 2508 ออกใช้บังคับและที่ดินโฉนดเลขที่ 8652 ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา อยู่ในแนวเขตที่จะสร้างทางหลวงเพียงบางส่วนเป็นเนื้อที่ 1 งาน 73 ตารางวาซึ่งต่อมาในปี 2509 ก็มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายลำปาง-เชียงใหม่ ในท้องที่อำเภอเมืองลำปาง อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง อำเภอแม่ทาอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และอำเภอสารภีอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2509 ออกใช้บังคับมีผลให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ดังกล่าวซึ่งอยู่ในแนวเขตที่จะสร้างทางหลวงรวมทั้งที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1 งาน 73 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเลขที่ดังกล่าวถูกเวนคืนไปด้วยโจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 8652 มาทั้งแปลงเมื่อวันที่28 กุมภาพันธ์ 2522 โดยซื้อมาจากนายแพทย์บุญเริ่ม สิงหเนตรดังนี้ ในขณะที่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2509ซึ่งได้ออกตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเวนคืนนั้นตกมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 10 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 นับแต่วันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ฉบับดังกล่าวใช้บังคับแล้ว หาได้ต้องตกอยู่ในเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 1 จะต้องใช้เงินค่าทดแทนและเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนก่อนกรรมสิทธิ์จะตกได้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อขณะที่โจทก์รับโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่8652 โดยการซื้อขาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ตกเป็นของจำเลยที่ 1ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์แล้ว โจทก์จึงมิใช่เป็นเจ้าของที่ดินที่ต้องเวนคืนซึ่งจะเรียกที่ดินคืนโดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวมิได้ใช้ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนได้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอคืนที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสอง แต่เฉพาะเงินค่าทดแทนนั้น ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้รับโอนทรัพย์สิน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ปัญหาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินดังกล่าวหรือไม่ ปรากฏว่าต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530และหลังจากพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแล้วก็ยังมีการปฏิบัติเกี่ยวกับการเวนคืนต่อไปอีก โดยนายช่างเขตการทางเชียงใหม่ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทน ณ สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 5 จังหวัดเชียงใหม่ และโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2532 ซึ่งการดำเนินการต่อไปจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ตามบทบัญญัติมาตรา 36 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนด ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โจทก์จึงจะมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลตามมาตรา 26 วรรคแรก แต่ปรากฏว่าเมื่อโจทก์ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทน โจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 25 วรรคแรก เสียก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยทั้งสอง
พิพากษายืน