แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรกและมาตรา 115 ก็ตาม แต่พฤติการณ์เป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าเดิมทีโจทก์กับจำเลยได้รู้ว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทไม่สมบูรณ์ เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นสัญญาโอนการครอบครองโดยมีค่าตอบแทน การทำนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงสมบูรณ์ตามอย่างหลังนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 136
กฎหมายไม่ได้บังคับว่าการโอนการครอบครองที่ดินต้องมีหนังสือมาแสดงกรณีนี้จึงนำพยานบุคคลมาสืบและศาลรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารได้
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกกับจำเลยสำนวนหลังเป็นโจทก์ เรียกจำเลยสำนวนแรกกับโจทก์สำนวนหลังเป็นจำเลย
โจทก์ฟ้องสำนวนแรกและให้การในสำนวนหลังทำนองเดียวกันรวมใจความว่าบิดามารดาโจทก์ได้ยกที่ดินแปลงหนึ่งให้โจทก์เนื้อที่ ๔๔ ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านดอนทะแยง หมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านปรางค์อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา เจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์ในเนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๓ งาน ๒๐ ตารางวาเท่าที่โจทก์ทำนา ตาม น.ส.๓ เล่ม ๒ หน้า ๘๕ สารบบเล่มเลขที่ ๗๑ต่อมาโจทก์ได้กู้เงินจำเลยจำนวน ๔,๐๐๐ บาท โดยมอบ น.ส.๓ ดังกล่าวให้จำเลยยึดถือไว้ และส่งมอบที่ดินทั้ง ๔๔ ไร่ ให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ย โดยตกลงกับจำเลยว่า หากโจทก์มีเงิน ๔,๐๐๐ บาทเมื่อใด จะไถ่ที่นาคืนต่อมาโจทก์ไปขอไถ่ที่นาคืน จำเลยอ้างว่าโจทก์ขายให้จำเลยแล้ว หากโจทก์จะเอาคืนก็จะขายให้ในราคา๑๕๐,๐๐๐ บาท ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยให้รับชำระเงิน๔,๐๐๐ บาท จากโจทก์ คืนที่นาและ น.ส.๓ แก่โจทก์ ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินโจทก์อีกต่อไป กับยกฟ้องคดีสำนวนหลัง
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การสำนวนแรกและฟ้องสำนวนหลังทำนองเดียวกันรวมใจความว่า จำเลยไม่เคยให้โจทก์กู้ยืมเงินโจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๒๑ ไร่เศษให้แก่จำเลยในราคา๒๐,๐๐๐ บาท แต่ยังไม่ทันจดทะเบียนโอนกันตามกฎหมายโจทก์ก็อพยพครอบครัวไปอยู่ที่อื่น จำเลยได้เข้าครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของเรื่อยมาเป็นเวลา ๑๕-๑๖ ปีแล้ว และจำเลยได้ก่นสร้างเพิ่มเติมจนมีเนื้อที่ ๔๔ ไร่ โดยโจทก์ไม่เคยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีกเลย หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์จำเลยก็ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของมาเป็นเวลา ๑๕-๑๖ ปีโจทก์เพิ่งมาฟ้องเรียกคืนการครอบครองจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ห้ามโจทก์เกี่ยวข้อง กับบังคับให้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลย หากโจทก์ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาแทนโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ กับให้โจทก์ไปจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลย หากโจทก์ไม่ไปก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของจำเลยที่ให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเสีย นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ขายและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยอ้างว่าได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากโจทก์ จำเลยไม่มีหนังสือสัญญาซื้อขายมาแสดง แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารว่า ได้มีการซื้อขายที่ดินพิพาทกันจริง ซึ่งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖วรรคแรก และมาตรา ๑๑๕ ก็ตาม แต่ตามมาตรา ๑๓๖ บัญญัติว่า”การใดเป็นโมฆะกรรม แต่เข้าแบบเป็นนิติกรรมอย่างอื่นโมฆะกรรมนั้นท่านว่าย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยฐานเป็นนิติกรรมอย่างอื่นนั้น หากเป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าเดิมทีคู่กรณีได้รู้ว่าการตามจำนงนั้นไม่สมบูรณ์ก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นอย่างหลังนี้” คดีนี้ที่ดินพิพาทที่ซื้อขายกันยังไม่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์มีเพียง น.ส.๓ ซึ่งผู้ขายมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้นการโอนการครอบครองย่อมทำได้โดยการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๘ และพฤติการณ์เป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าเดิมที่โจทก์กับจำเลยได้รู้ว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทไม่สมบูรณ์ เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์ เป็นสัญญาโอนการครอบครองโดยมีค่าตอบแทนดังจะเห็นเจตนาได้จากผู้ขายได้มอบที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ซื้อในวันทำสัญญาซื้อขาย กรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีหนังสือมาแสดง จำเลยจึงนำพยานบุคคลมาสืบและศาลรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.