แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยขับรถยนต์กระบะมาโดยรู้อยู่แล้วว่าสิ่งของที่บรรทุกมาในกระบะรถยนต์เป็นไม้กฤษณาอันเป็นของป่าหวงห้าม จำเลยจึงมีความผิดฐานมีของป่าหวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 29 ทวิ, 71 ทวิ สำหรับความผิดข้อหานำของป่าเคลื่อนที่ออกจากป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต นั้น ตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ใช้บังคับเฉพาะการนำของป่าที่เก็บตามใบอนญาตเคลื่อนที่ภายหลังที่ได้นำไปถึงสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตตามความในมาตรา 38 เท่านั้น ส่วนการนำของป่าหวงห้ามที่เก็บโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเคลื่อนที่ หาเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 39 ไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานนำของป่าเคลื่อนที่ออกจากป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 29 ทวิ, 39, 71 ทวิ, 74 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 71 ทวิ, 74 ประกอบมาตรา 29 ทวิ, 39 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีของป่าหวงห้ามไว้ในครอบครอง จำคุก 3 ปี ฐานเคลื่อนย้ายของป่าหวงห้ามโดยไม่มีใบเบิกทางปรับ 5,000 บาท รวมจำคุก 3 ปี และปรับ 5,000 บาท ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ให้ริบของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า วัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอประจันตคามจับกุมจำเลยและยึดได้ไม้กฤษณาซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามตามกฎหมาย จำนวน 15 กระสอบ น้ำหนักรวม 100 กิโลกรัม เป็นของกลาง ขณะที่จำเลยขับรถยนต์กระบะบรรทุกไม้กฤษณาของกลางไปตามถนนสายไชยคี บ้านประเถท โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่มีใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับตามกฎหมาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับความผิดข้อหามีของป่าหวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตโจทก์มีร้อยตำรวจโทศราวุธ กองสุข และพันตำรวจโทไพโรจน์ เช่นขาว เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมกันจับกุมจำเลยเป็นพยานเบิกความต้องกันว่าขณะที่พยานทั้งสองกับพวกออกตรวจพื้นที่เขตรับผิดชอบพบจำเลยขับรถยนต์กระบะแล่นสวนทางมา ที่กระบะรถยนต์มีผ้าใบหรือผ้ายางคลุมอยู่จึงเรียกให้หยุดตรวจค้นปรากฏว่ากระบะรถยนต์ที่มีผ้าใบหรือผ้ายางคลุมอยู่เป็นไม้กฤษณาบรรจุอยู่ในกระสอบป่าน 10 ใบ และบรรจุอยู่ในกระสอบปุ๋ยอีก 5 ใบ น้ำหนักรวม 100 กิโลกรัม สอบถามแล้วจำเลยรับว่าไม้กฤษณาเป็นของจำเลย จำเลยไม่มีใบอนุญาตให้ครอบครองและไม่มีใบเบิกทางขนย้าย จึงได้ยึดไม้กฤษณาไว้เป็นของกลางและแจ้งข้อหาจำเลยว่ามีของป่าหวงห้ามไว้ในครอบครองและนำเคลื่อนที่โดยไม่ได้รับอนุญาต ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพ แต่ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานต่อสู้ว่า วันเกิดเหตุ เมื่อจำเลยตื่นนอนขึ้นมาเวลาประมาณ 6 นาฬิกา นายดำ ไม่ทราบนามสกุล ได้มาหาจำเลยที่บ้าน ว่าจ้างให้จำเลยขับรถยนต์กระบะไปบรรทุกของที่ท้ายบ้านไปส่งที่ปากทางตลาดประจันตคาม จำเลยคุ้นเคยกับนายดำมาก่อน เคยรับจ้างบรรทุกของให้นายดำ 2 ครั้งแล้ว ไม่เคยมีปัญหาเกิดขึ้นแต่อย่างใด พยานจึงได้รับจ้างตามที่นายดำว่าจ้างเป็นเงิน 200 บาท จำเลยขับรถยนต์กระบะไปรับของที่ท้ายบ้านซึ่งอยู่ห่างจากบ้านจำเลยประมาณ 1 กิโลเมตร สิ่งของที่จำเลยบรรทุกขึ้นรถบรรจุอยู่ในกระสอบจำนวน 10 กว่าใบ จำเลยไม่รู้ว่าภายในกระสอบเป็นอะไร จำเลยจะต้องขับรถยนต์ไปส่งสิ่งของที่รับบรรทุกดังกล่าวที่ปากทางตลาดประจันตคาม ซึ่งอยู่ห่างจากที่รับบรรทุกนั้นเป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร เมื่อบรรทุกของเสร็จนายดำได้ขับรถจักรยานยนต์ล่วงหน้าไปก่อน จำเลยขับรถยนต์ตามออกมาที่บรรทุกได้ประมาณ 3 กิโลเมตร ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจเรียกตรวจค้น จำเลยไม่รู้ว่าของที่บรรจุอยู่ในกระสอบเป็นไม้กฤษณา เพราะนายดำไม่ได้บอกและจำเลยก็ไม่ได้ตรวจดูก่อน เนื่องจากกระสอบได้ถูกมัดไว้อย่างเรียบร้อยแล้ว เหตุที่จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมเนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจบอกจำเลยว่ามีของกลางอยู่บนรถหากรับสารภาพเรื่องจะง่ายขึ้น ทั้งจำเลยกลัวว่านายนำ ขาวโสม สามีของจำเลยจะรู้ว่าจำเลยนำรถยนต์มารับจ้าง จำเลยรับว่าจำเลยได้ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจตามบันทึกการจับกุม และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนจริง นอกจากนี้ จำเลยมีนางน้ำทิพย์ ระวังภัย เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 6 นาฬิกา พยานไปที่บ้านจำเลยพบนายดำมาว่าจ้างให้จำเลยขับรถยนต์ไปบรรทุกขี้ไก่ โดยตกลงราคาค่าจ้างกัน 200 บาท พยานเคยเห็นนายดำมาว่าจ้างจำเลยไปบรรทุกขี้ไก่ประมาณ 2 ถึง 3 ครั้งแล้ว จากพยานหลักฐานของโจทก์และของจำเลยดังกล่าวปัญหาต้องพิจารณาก็คือจำเลยรู้หรือไม่ว่าสิ่งของที่จำเลยบรรทุกมานั้นเป็นไม้กฤษณาซึ่งเป็นของป่า เห็นว่า การที่จะค้นหาเจตนาของจำเลยว่ารู้หรือไม่รู้ว่าของที่จำเลยบรรทุกมาเป็นไม้กฤษณานั้นจำแป็นจะต้องอาศัยเหตุผลกรณีแวดล้อมและพิรุธแห่งการกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลย เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติเหตุแวดล้อมกรณีแล้วการกระทำของจำเลยไม่สมเหตุสมผลผิดปกติวิสัยของปุถุชนทั่วไปเป็นพิรุธหลายประการ ตั้งแต่จำเลยอ้างว่านายดำเป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยขับรถยนต์ไปบรรทุกของกลาง จำเลยอ้างว่าคุ้นเคยกับนายดำมาก่อนแต่จำเลยไม่ได้นำสืบรายละเอียดเกี่ยวกับนายดำผู้ว่าจ้างอย่างใดเลย ซึ่งตามปกติทั่วไปแล้วหากจำเลยคุ้นเคยกับนายดำและนายดำเป็นผู้ว่าจ้างจริงแล้ว เพื่อให้จำเลยพ้นจากข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดแล้ว จำเลยน่าจะพยายามนำสืบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวนายดำให้ได้ว่ามีตัวนายดำอยู่จริง ไม่ใช่แต่เพียงกล่าวอ้างขึ้นอย่างเลื่อนลอยแม้จำเลยจะอ้างนางน้ำทิพย์เป็นพยานว่า รู้เห็นขณะที่นายดำมาว่าจ้างจำเลยก็ตาม คำเบิกความของนางน้ำทิพย์ก็ไม่ทำให้เกิดความชัดเจนถึงรายละเอียดเกี่ววกับนายดำซึ่งจะทำให้ขัดต่อสู้ของจำเลยมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่ามีตัวตนนายดำอยู่จริงอย่างไรก็ดีหากเป็นกรณีที่จำเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนายดำจริงๆ แล้ว จำเลยก็น่าจะพาเจ้าพนักงานตำรวจไปดูสถานที่รับของและสถานที่ที่จะไปส่งของ ทั้งนี้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของจำเลยทันทีที่ถูกจับกุมว่ามีอยู่จริง มีผู้รับผิดชอบจริง ไม่ใช่ยกขึ้นกล่าวอ้างอย่างลอยๆ เช่นนี้ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของผู้รับจ้างบรรทุกสิ่งของโดยทั่วไปที่ไม่สอบถามว่าสิ่งของที่ผู้ว่าจ้างจะให้ไปบรรทุกนั้นเป็นสิ่งของใด และเมื่อพิเคราะห์จากไม้กฤษณาของกลางมีจำนวนถึง 15 กระสอบ น้ำหนักรวมถึง 100 กิโลกรัม ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเมื่อบรรทุกขึ้นกระบะรถยนต์แล้วยังได้ใช้ผ้ายางหรือผ้าใบคลุมกระบะรถยนต์ไว้ด้วยเช่นนี้ การที่จำเลยอ้างในทำนองว่าไม่ได้สนใจว่าของที่รับจ้างบรรทุกจะเป็นสิ่งของใดนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อ จากพฤติการณ์ที่เป็นพิรุธ ไม่สมเหตุสมผล ผิดปกติวิสัยของปุถุชนทั่วไปดังกล่าวประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยปิดบังข้อเท็จจริงต่อเจ้าพนักงานตำรวจขณะถูกจับกุมว่ารถยนต์ที่ใช้บรรทุกไม้กฤษณาของกลางเป็นของผู้อื่น ไม่ใช่ของสามีจำเลย ทั้งๆ ที่รถยนต์เป็นของสามีจำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาไม่สุจริต จำเลยไม่ใช่คนโง่เขลาเบาปัญญาที่จะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างคนทั่วๆ ไป พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอเชื่อได้ว่าจำเลยรู้ว่าสิ่งของที่บรรทุกมานั้นเป็นไม้กฤษณาอันเป็นของป่าหวงห้ามพยานหลักฐานของจำเลยไม่พอฟังหักล้างพยานโจทก์ จำเลยจึงมีความผิดฐานมีของป่าหวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง สำหรับความผิดข้อหานำของป่าเคลื่อนที่ออกจากป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เห็นว่า มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ใช้บังคับเฉพาะการนำของป่าที่เก็บตามใบอนุญาตเคลื่อนที่ภายหลังที่ได้นำไปถึงสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตตามความในมาตรา 38 เท่านั้น ส่วนการนำของป่าหวงห้ามที่เก็บโดยไม่ได้รับอนุญาตเคลื่อนที่ หาเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 39 ไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานนำของป่าเคลื่อนที่ออกจากป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 29 ทวิ, 71 ทวิ จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2