คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5822/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นอย่างเดียวกันคือจำเลยที่ 2 กับพวกนำรถยนต์โดยสารมารับส่งคนโดยสารในเส้นทางสัมปทานของโจทก์อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นการกระทำที่สืบเนื่องติดต่อกันมากับการกระทำเดิม มิใช่เป็นการกระทำละเมิดขึ้นใหม่ แม้คดีนี้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองหยุดรับส่งคนโดยสารไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีและมีคำขอบังคับให้ศาลมีคำสั่งมิให้จำเลยทั้งสองหยุดรับส่งคนโดยสารในเส้นทางสัมปทานของโจทก์ซึ่งโจทก์มิได้มีคำขอในคดีเดิม แต่ตามคำฟ้องโจทก์ในคดีเดิมได้บรรยายถึงการกระทำดังกล่าวมาแล้วจึงเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถขอมาในคดีเดิมได้อยู่แล้ว คำฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีจึงเป็นเรื่องเดียวกัน โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นฟ้องซ้อน แต่คดีก่อนโจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยด้วย ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่ง โจทก์ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมีสิทธิประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางหมวด 1 สายที่ 1 บ้านธาตุ – สามแยกเข้าหมู่บ้านหนองแก ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับจ้างขนส่งคนโดยสารและเป็นผู้มีสิทธิประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางหมวด 4 สายที่ 1460 อำเภอเมืองอุบลราชธานีถึงอำเภอเดอุดม ช่วงอำเภอเมืองอุบลราชธานีถึงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารประจำทางคันหมายเลขทะเบียน 10-4265 อุบลราชธานี จำเลยที่ 2 ได้รับจำเลยที่ 1 เข้าร่วมกิจการขนส่ง ช่วงอำเภอเมืองอุบลราชธานีถึงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ข้าราชการและนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีกำหนดเวลาจำนวนเที่ยวในการเดินรถ และบริเวณจอดรถเดิมคือ วัดศรีอุบลรัตนารามถึงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีจุดจอดรับ – ส่งผู้โดยสารระหว่างทางได้ คือตลาดสดเทศบาลวารินชำรราบ, บ้านหนองหว้า, บ้านหนองโก และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เท่านั้น จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะหยุดรับ – ส่งผู้โดยสารและเก็บเงินค่าโดยสารตามรายทางในเส้นทางประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารของบริษัทโจทก์ เมื่อประมาณต้นเดือนกันยายน 2545 จนถึงวันฟ้อง จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันหรือแทนกันนำรถโดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-4265 อุบลราชธานี ออกวิ่งแย่งรับ – ส่งผู้โดยสารตามรายทางในเส้นทางสัมปทานของโจทก์ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่นายทะเบียนขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีกำหนด เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ คือ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันกระทำการหยุดรับ – ส่งแย่งผู้โดยสาร ณ บริเวณโรงเรียนเทศบาลวารินวิชาชาติ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2545 จำเลยทั้งสองร่วมกัน หรือแทนกันกระทำการหยุดรับ – ส่งผู้โดยสาร ณ แยกทางเข้าโรงเรียนบ้านสุขสำราญ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2545 จำเลยทั้งสองหยุดรับ – ส่งแย่งผู้โดยสาร ณ บริเวณสามแยกต้นแต้ (กม.1) และเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันหยุดรับ – ส่งแย่งผู้โดยสาร ณ บริเวณสามแยกต้นแต้ (กม.1) ทำให้โจทก์ขาดรายได้อันพึงมีถึงได้ในการประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางเดินรถประจำทางของโจทก์ไปไม่น้อยกว่าวันละ 10,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองหยุดกระทำหรือพฤติกรรมอันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โดยห้ามจำเลยทั้งสองเดินรถโดยสารประจำทางหมวด 4 สายที่ 1460 อำเภอเมืองอุบลราชธานีถึงอำเภอเดชอุดม ช่วงอำเภอเมืองอุบลราชธานีถึงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหรือช่วงรถร่วมอื่นๆ วิ่งแย่งรับ – ส่งผู้โดยสารตามรายทางในเส้นทางประกอบกิจการเดินรถยนต์โดยสารของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราวันละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะหยุดการกระทำหรือพฤติการณ์อันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 ของศาลชั้นต้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสำหรับจำเลยที่ 1 ตามรูปคดีต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเป็นคำพิพากษาใหม่ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขดำที่ 1692/2544 ของศาลชั้นต้น ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 1692/2544 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น” ปรากฏว่า ในคดีหมายเลขดำที่ 1692/2544 ของศาลชั้นต้น โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร หมวด 4 สาย 1460 ระหว่างอำเภอเมืองอุบลราชธานีถึงอำเภอเดชอุดม ช่วงอำเภอเมืองอุบลราชธานีถึงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำรถยนต์โดยสารมารับส่งคนโดยสารเกินจำนวนเที่ยวและจำนวนคันที่สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีกำหนดและแย่งรับส่งคนโดยสารในเส้นทางสัมปทานของโจทก์ ทำให้โจทก์ขาดรายได้วันละ 5,000 บาท และมีคำขอบังคับให้ห้ามมิให้จำเลยที่ 2 เดินรถฝ่าฝืนเงื่อนไขสำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีกำหนดกับให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายนับแต่วันฟ้อง ส่วนที่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ร่วมกันนำรถยนต์โดยสารมารับส่งคนโดยสารในเส้นทางสัมปทานของโจทก์ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีกำหนดเป็นการแย่งรับส่งคนโดยสารในเส้นทางสัมปทานของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหายขาดรายได้วันละ 10,000 บาท ดังนี้เห็นได้ว่าคำฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นอย่างเดียวกันคือจำเลยที่ 2 กับพวกนำรถยนต์โดยสารมารับส่งคนโดยสารในเส้นทางสัมปทานของโจทก์อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหายซึ่งเป็นการกระทำที่สืบเนื่องติดต่อกันมากับการกระทำเดิมมิใช่เป็นการกระทำละเมิดขึ้นใหม่ดังที่โจทก์ฎีกา แม้คดีนี้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองหยุดรับส่งคนโดยสารไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีและมีคำขอบังคับให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยทั้งสองหยุดรับส่งคนโดยสารในเส้นทางสัมปทานของโจทก์ซึ่งโจทก์มิได้มีคำขอคดีเดิมก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์ในคดีเดิมได้บรรยายถึงการกระทำดังกล่าวมาแล้วจึงเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถขอมาในคดีเดิมได้อยู่แล้ว คำฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีจึงเป็นเรื่องเดียวกัน โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างที่คดีหมายเลขดำที่ 1692/2544 อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นฟ้องซ้อนตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น และเมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 1692/2544 ของศาลชั้นต้นด้วย ฟ้องโจทก์คดีนี้สำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โดยมิได้มีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

Share