คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4339/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/25 ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตกแก่ผู้ทำแผนเมื่อศาลคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว และให้นำบทบัญญัติมาตรา 90/12 (9) มาใช้บังคับแก่ผู้ทำแผนโดยอนุโลม ดังนั้น การให้ความยินยอมในการรับโอนสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงถือเป็นการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนที่จะให้ความยินยอมได้ ทั้งไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามมาตรา 90/12 (9)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2545 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งบริษัทปากเกร็ด แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2546 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนโดยมีผู้ทำแผนเป็นผู้บริหารแผน
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญากู้เงิน สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สัญญาจำนำหุ้นเป็นประกัน และสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน 18,533,498.73 ดอลลาร์สหรัฐ และ 600,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละตามเอกสารแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้ และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 17,806,404.44 ดอลลาร์สหรัฐ และ 600,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้บรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/29 แล้ว ธนาคารดอยซ์ แบงก์ เอ จี ลอนดอน เจ้าหนี้รายที่ 22 และเอฟวะนิว เอเชีย อินเวสท์เม้นต์ส แอลพี เจ้าหนี้รายที่ 24 โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญากู้เงิน สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สัญญาจำนำหุ้นเป็นประกันและสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน 18,533,498.73 ดอลลาร์สหรัฐ และ 600,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละตามเอกสารแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้ และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 17,806,404.44 ดอลลาร์สหรัฐ และ 600,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะชำระเสร็จในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในทรัพย์หลักประกันดังนี้
1. หุ้นในบริษัทเอเชียส อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด จำนวน 32,545,000 หุ้น
2. หุ้นในบริษัทคลิปเปอร์ชิพ อินเวสเมนท์ (บีวีไอ) ลิมิเต็ด จำนวน 49,994 หุ้น
3. หุ้นในบริษัทไอร์แลนด์ คันทรี เทเลคอมมูนิเคชั่นส์ อินคอร์ปปอเรต จำนวน 51,419,997 หุ้น
4. หุ้นในบริษัทเจไอ เทเลคอมโฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด จำนวน 12,859 หุ้น
5. หุ้นในบริษัทเอเชียส (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 194,999,993 หุ้น
6. หุ้นในบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) จำนวน 60,000,000 หุ้น
โดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ไปแล้วเพียงใด ให้สิทธิในการได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น
เจ้าหนี้รายที่ 22 ยื่นคำร้องคัดค้านสรุปเป็นใจความว่า เจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาโดยไม่ชอบและไม่สุจริต ทั้งสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้รับโอนมาเป็นหนี้ด้อยสิทธิ จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ และผู้บริหารแผนต่างยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของเจ้าหนี้รายที่ 22 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
เจ้าหนี้รายที่ 22 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2539 ลูกหนี้กู้เงินจากสถาบันการเงินรวม 12 แห่ง เป็นเงินทั้งสิ้น 80,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ค้ำประกัน ตามสำเนาสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2543 บีเอ็นพี แบงคอค อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานวิเทศธนกิจกรุงเทพฯ และบีเอ็นพี พารีบัส สาขาสิงค์โปร์ เจ้าหนี้ผู้ให้กู้ตามสัญญาดังกล่าวได้โอนสิทธิเรียกร้องส่วนของตนให้แก่แบงเกอร์ทรัสต์ คัมปานี เป็นเงิน 7,571,875 ดอลลาร์สหรัฐ และ 3,785,937.50 ดอลลาร์สหรัฐ ตามเอกสารหมาย จ.4 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2543 แบงเกอร์ทรัสต์ คัมปานี ได้โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ที่รับโอนมาดังกล่าวให้แก่ เอ เอส โอ ไอ (มอริเชียส) ลิมิเต็ด จำนวน 11,357,812.50 ดอลลาร์สหรัฐ ตามเอกสารหมาย จ.6 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม 2543 สถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2539 รวมทั้ง เอ เอส โอ ไอ (มอริเชียส) ลิมิเต็ด ได้ตกลงทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สัญญากู้เงินฉบับรับการแก้ไขและยกร่างขึ้นใหม่จำนวน 60,575,000 ดอลลาร์สหรัฐ ฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2543 และสัญญาฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ส่วนมูลหนี้ตามสัญญาตจำนำหุ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2543 ลูกหนี้ได้ทำสัญญา PLEDGE OF NEW SHARES กับธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ตัวแทนสินเชื่อ โดยลูกหนี้นำหุ้นของบริษัทจัสมิน อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่ลูกหนี้เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 50,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท จำนำเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้และสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และในวันเดียวกันลูกหนี้ได้ทำสัญญา PLEDGE OF JI DEFAULT SHARES กับธนาคารแสตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด โดยลูกหนี้นำหุ้นของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่ลูกหนี้เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 10,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท มาจำนำเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ตามเอกสารหมาย จ.29 และ จ.30 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อมาเอ เอส โอ ไอ (มอริเซียส) ลิมิเต็ด, เดอะนิกโก้ เมอร์แชนท์ แบงก์ (สิงคโปร์) ลิมิเต็ด และโซซิเอตเต้ เจเนอราล สาขาสิงคโปร์ ได้โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ส่วนของตนรวมทั้งดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และหลักประกันให้แก่ธนาคารฟลีท เนชั่นแนล เป็นเงิน 8,903,202.22 ดอลลาร์สหรัฐ 2,967,734.07 ดอลลาร์สหรัฐ และ 5,935,468.15 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 17,806,404.44 ดอลลาร์สหรัฐ ตามเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.14 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ สำหรับมูลหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่ลูกหนี้จำนำหุ้นเป็นประกันนั้นเดิมบริษัทโซโลมอน บาร์เดอร์ส โฮลดิ้ง คอมปานี อิงค์, บริษัทโซซิเอลเต้ เจเนอรัล สำนักงานวิเทศธนกิจกรุงเทพฯ, เอ เอส โอ ไอ (มอริเชียส) ลิมิเต็ด และธนาคารคอมเมิร์สแบงค์ อัคเทียนเกเซลล์ ชาฟท์ สาขาสิงคโปร์ เป็นเจ้าหนี้ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) โดยมีต้นเงินกู้ค้างชำระ 7,238,761.84 ดอลลาร์สหรัฐ 2,249,084,392 เยน และ 899,633,757 เยน ต่อมาบริษัทโซโลมอน บราเดอร์ส โฮลดิ้ง คอมปานี อิงค์ กับบริษัทโซซิเอตเต้ เจเนอรัล สำนักงานวิเทศธนกิจ กรุงเทพฯ และ เอ เอส โอ ไอ (มอริเชียส) ลิมิเต็ด ได้โอนสิทธิเรียกร้องจำนวน 7,238,761.84 ดอลลาร์สหรัฐ และ 2,249,084,392 เยน ให้แก่ธนาคารฟลีท เนชั่นแนล และธนาคารคอมเมิร์สแบงก์ อัคเทียน เกเซลล์ชาฟท์ สาขาสิงคโปร์ ได้โอนสิทธิเรียกร้องจำนวน 899,633,757 เยน ให้แก่ธนาคารอโอโซร่า จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.19 ถึง จ.22 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 ธนาคารฟลีทเนชั่นแนล ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้จำนวน 17,806,404.44 ดอลลาร์สหรัฐ และโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) จำนวน 7,238,761.84 ดอลลาร์สหรัฐ และจำนวน 2,249,084,392 เยน ให้แก่เจ้าหนี้ ส่วนธนาคารอโอโซร่า จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) จำนวน 899,633,757 เยน ให้แก่เจ้าหนี้ ตามเอกสารหมาย จ.23 และ จ..24 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และในวันเดียวกันนั้นเจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไปยังลูกหนี้ ผู้ทำแผนของลูกหนี้ บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และผู้ทำแผนของบริษัทดังกล่าว ตามเอกสารหมาย จ.16 จ.17 จ.25 และ จ.26 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2545 ผู้ทำแผนของลูกหนี้และผู้ทำแผนของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) มีหนังสือแจ้งต่อเจ้าหนี้ว่าผู้ทำแผนรับทราบและยินยอมในการรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวโดยรับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องนับตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้นไป ตามเอกสารหมาย จ.18 และ จ.27 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2545 มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 22 ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือไม่ เห็นว่า เจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ฉบับลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 มาจากธนาคารฟลีท เนชั่นแนล และตามสัญญากู้เงินฉบับรับการแก้ไขและยกร่างขึ้นใหม่ของลูกหนี้ ฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2543 มาจากธนาคารโอโซร่า จำกัด โดยสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ฉบับดังกล่าว นอกจากจะไม่ปรากฏว่าผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ตามสัญญาดังกล่าวจะต้องเป็นธนาคารหรือสถาบันการเงินเท่านั้น ยังปรากฏตามแบบของหนังสือเข้าผูกพันตนเป็นเจ้าหนี้ ภาคผนวกหมายเลข 2 เอกสารแนบท้ายของหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว ข้อ 1 ระบุข้อความมีใจความว่า โดยอาศัยสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ฉบับลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 เป็นที่ตกลงกันว่า ธนาคาร สถาบันการเงิน หรือบุคคลอื่นใดก็ตามผู้ซึ่งเจ้าหนี้ปัจจุบันประสงค์ที่จะโอนส่วนร่วมของตนตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ให้นั้น สามารถที่จะป็นคู่สัญญาของสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยการลงนามและส่งมอบหนังสือแจ้งภาคียานุวัตรของเจ้าหนี้ (หนังสือเข้าผูกพันตนเป็นเจ้าหนี้) ให้แก่ตัวแทนสินเชื่อ และตามสัญญากู้เงินฉบับรับการแก้ไขและยกร่างขึ้นใหม่ของลูกหนี้ ฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2543 ข้อ 26.3 (ก) มีข้อตกลงว่า ธนาคารเจ้าหนี้เดิมอาจจะโอนสิทธิของตนทั้งหมดหรือบางส่วนตามสัญญานี้ในเวลาใดๆ ให้แก่ (1) ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น หรือ (2) บุคคลอื่นใดซึ่งได้รับความยินยอมจากลูกหนี้จะเห็นได้ว่าตามข้อตกลงของสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวมิได้จำกัดว่าผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องต้องเป็นธนาคารหรือสถาบันการเงินเท่านั้น แต่มีการระบุถึงการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บุคคลอื่นไว้ด้วย โดยกรณีตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) นอกจากจะต้องมีหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องแล้วยังกำหนดให้ผู้รับโอนทำหนังสือแจ้งภาคียานุวัตร (หนังสือเข้าผูกพันตนเป็นเจ้าหนี้) ด้วย ซึ่งในส่วนนี้ศาลฎีกาเห็นว่า แบบของหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องและหนังสือแจ้งภาคียานุวัตรดังกล่าวมิใช่แบบตามที่กฎหมายกำหนดและมิใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญของสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว แม้การรับโอนสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จากเจ้าหนี้เดิมตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวจะมิได้ทำตามแบบที่กำหนดไว้ก็มิได้ทำให้การรับโอนสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด ส่วนกรณีตามสัญญากู้เงินฉบับรับการแก้ไขและยกร่างขึ้นใหม่ของลูกหนี้ ที่ผู้รับโอนเป็นบุคคลอื่นที่มิใช่ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะรับโอนสิทธิเรียกร้องมาได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ จึงเป็นกรณีที่มิได้ห้ามโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่เจ้าหนี้ที่มิใช่ธนาคารหรือสถานบันการเงินเสียทีเดียวเพียงแต่การโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่เจ้าหนี้ดังกล่าวจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ด้วย และเมื่อมิใช่กรณีโอนสิทธิเรียกร้องแก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินจึงไม่จำเป็นต้องยืนยันสถานะของตนตามแบบการโอนสิทธิเรียกร้องที่กำหนดไว้ในสัญญากู้เงินฉบับรับการแก้ไขฯ ข้อ 26.2 (ข) และปรากฏว่าทั้งผู้ทำแผนของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และผู้ทำแผนของลูกหนี้ได้มีหนังสือลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2545 แจ้งให้เจ้าหนี้ทราบว่าผู้ทำแผนดังกล่าวยินยอมในการรับโอนสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง โดยรับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 อันเป็นเวลาภายหลังวันที่ 17 กันยายน 2545 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และของลูกหนี้และตั้งผู้ทำแผนแล้ว ซึ่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/25 บัญญัติ ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตกแก่ผู้ทำแผนเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้วและให้นำบทบัญญัติมาตรา 90/12 (9) ที่ห้ามมิให้จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น มาใช้บังคับแก่ผู้ทำแผนโดยอนุโลม ดังนั้น การให้ความยินยอมในการับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวของเจ้าหนี้จึงถือเป็นการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนที่จะให้ความยินยอมได้ ทั้งไม่ปรากฏเหตุที่ต้องด้วยข้อห้ามตามมาตรา 90/12 (9) แต่อย่างใด กรณีถือได้ว่าการรับโอนสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ได้รับความยินยอมจากลูกหนี้และบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) แล้ว เจ้าหนี้จึงรับโอนสิทธิเรียกร้องมาโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 ส่วนที่เจ้าหนี้รายที่ 22 อุทธรณ์ว่าได้พิสูจน์การใช้กฎหมายอังกฤษบังคับแก่การรับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้วนั้นไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยข้างต้น ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไป
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 22 ต่อไปว่า หนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับรับการแก้ไขและยกร่างขึ้นใหม่ของลูกหนี้และหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่เจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาเป็นหนี้ด้อยสิทธิหรือไม่ เห็นว่า แม้สัญญากู้เงินฉบับรับการแก้ไขและยกร่างขึ้นใหม่ ข้อ 17.26 และ สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ข้อ 2.2 จะกำหนดไว้ในทำนองเดียวกันว่า ห้ามมิให้ลูกหนี้และบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้ให้แก่บริษัทย่อยของตนและบริษัทย่อย บริษัทในเครือไม่สามารถรับชำรหนี้จากลูกหนี้และบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือลงมติออกเสียงในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้และบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) จนกว่าลูกหนี้และบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครบถ้วนแล้วตามที่เจ้าหนี้รายที่ 22 อุทธรณ์ก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ตกลงยินยอมหรือลงนามในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวอันจะทำให้ข้อสัญญาดังกล่าวมีผลผูกพันเจ้าหนี้ด้วย ทั้งยังปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้เดิมตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวนั้นเอง เมื่อหนี้ของเจ้าหนี้เดิมมิใช่หนี้ด้อยสิทธิและเจ้าหนี้รับโอนสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เดิมมาโดยชอบด้วยกฎหมาย หนี้ที่เจ้าหนี้รับโอนมาจึงมิใช่หนี้ด้อยสิทธิ อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 22 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 22 ข้อสุดท้ายมีว่า เจ้าหนี้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า เจ้าหนี้เป็นนิติบุคคลต่างหากจากลูกหนี้และบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) แม้กรรมการบางคนจะเป็นทั้งกรรมการของเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และบริษัทจัสมิน อินเตอร์แนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) แต่ก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังว่าเจ้าหนี้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาโดยไม่สุจริต ทั้งยังได้ความจากคำแก้อุทธรณ์ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เจ้าหนี้รายที่ 22 เองก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกับเจ้าหนี้โดยรับซื้อหนี้จากเจ้าหนี้เดิมของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เช่นกัน ดังนั้น เพียงแค่เหตุผลตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 22 ดังกล่าว จึงยังไม่พอฟังว่าเจ้าหนี้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาโดยไม่สุจริต ส่วนที่เจ้าหนี้รายที่ 22 อุทธรณ์ว่าเจ้าหนี้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยประสงค์รวบรวมจำนวนหนี้เพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผ่านมติยอมรับแผนของที่ประชุมเจ้าหนี้โดยไม่คำนึงว่าแผนฟื้นฟูกิจการของทั้งสองบริษัทจะเป็นธรรมหรือไม่ และสร้างความเสียหายแก่เจ้าหนี้รายอื่นหรือไม่ เพียงใด อันเป็นการไม่สุจริตนั้นหากแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวไม่เป็นธรรมอย่างไร เจ้าหนี้รายที่ 22 ก็ชอบที่จะยกขึ้นโต้แย้งคัดค้านในชั้นที่ศาลพิจารณาเห็นชอบด้วยแผนได้อยู่แล้ว เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 22 ที่คัดค้านคำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ไม่อนุญาตให้นำนายสมบุญ พัชรโสภาคย์ เข้าเบิกความเป็นพยาน จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share