คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6172/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าทายาทหลายคนไม่ได้ให้ความยินยอม จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2จดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยสุจริต
เจ้ามรดกมีทายาทด้วยกัน 13 คน โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ประกอบมาตรา 1745 โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวและมีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท ศาลมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทรวมถึงทายาทอื่นได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142เมื่อจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 1 ใน 13 ส่วน จำเลยที่ 1มีอำนาจขายและจำนองที่ดินพิพาทส่วนของตนได้ จึงต้องเพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นรวม12 ใน 13 ส่วนเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2539 และให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ในที่ดินพิพาทเพื่อแบ่งปันที่ดินเนื้อที่2 ไร่ 1 งาน 98 ตารางวา ให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามสัญญาขายที่ดินฉบับลงวันที่ 17 มกราคม 2539 ในโฉนดที่ดินเลขที่ 13401 ตำบลไหล่ทุ่งอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เฉพาะส่วนของโจทก์เนื้อที่2 ไร่ 1 งาน 98 ตารางวา ให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนโดยใส่ชื่อโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์

โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยที่ 2 จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและมีพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมมารดาเดียวกันทั้งหมด 13 คน นางบรรณ์หรือบันใจเดียว มารดาถึงแก่กรรมปี 2535 มีทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 13401 อยู่ที่ตำบลไหล่ทุ่ง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานีเนื้อที่ 32 ไร่เศษ ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางบรรณ์หรือบันตามเอกสารหมายจ.5 วันที่ 17 มกราคม 2539 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.6ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยชอบด้วยกฎหมายและผูกพันโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กระทำโดยสุจริตหรือไม่ และจำเลยที่ 2ก็มิได้ต่อสู้ในคำให้การของตน จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทตามที่จำเลยที่ 2ฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ จำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ไปขอกู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 จำนวน 200,000 บาท จำเลยที่ 2 ขอหลักทรัพย์ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ได้นำโฉนดที่ดินพิพาทไปค้ำประกัน จำเลยที่ 2 แนะนำให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางบรรณ์หรือบันจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินเรื่องขอจัดการมรดก วันที่ 19 มกราคม 2539 จำเลยที่ 1 กู้เงินจำเลยที่ 2 จำนวน 200,000 บาทต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2539 จำเลยที่ 1 กู้เงินจำเลยที่ 2 เพิ่มอีก 500,000บาท ได้ชำระดอกเบี้ยตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยทายาทคนอื่น ๆ ไม่ทราบเรื่อง ต่อมานางอุบลประสาร และนางมณี ประสาร ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ตกลงจะขายที่ดินพิพาทคืนให้จำเลยที่ 1 นางอุบลและนางมณีจึงถอนฟ้อง จำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ตกลงซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 แต่มีเงื่อนไขว่าให้จำเลยที่ 1 ไปขอจัดการมรดกให้เรียบร้อยก่อน ตกลงราคา 1,000,000 บาท และชำระเงินมัดจำ500,000 บาท จำเลยที่ 1 กับพี่น้องที่มาด้วยกันรับเงินไปและลงชื่อเป็นหลักฐานในสัญญาจะซื้อจะขายที่มิได้กรอกข้อความเอกสารหมาย ล.4และจำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าพี่น้องของโจทก์และจำเลยที่ 1 จะมีทั้งหมดกี่คนจำไม่ได้ จำเลยที่ 2 ไม่เคยติดต่อทนายความให้แก่จำเลยที่ 1 เพียงแต่แนะนำให้ว่าทนายความในอำเภอตระการพืชผลมีหลายคนให้ไปพบเอง เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 กับโจทก์จะเป็นพี่น้องกันก็ตามในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้แนะนำดำเนินการให้จำเลยที่ 2 เคยเป็นกำนันตำบลขุหลุ และเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย จึงเป็นบุคคลกว้างขวาง น่าจะรู้จักครอบครัวของนางบรรณ์หรือบันดี นางคำล้าน หินนาค พยานโจทก์ซึ่งเป็นน้าของโจทก์เคยไปทำงานรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าที่บ้านจำเลยที่ 2 เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 2 รู้จักกับตระกูลของนางบรรณ์หรือบันดีหมายถึงทราบว่ามีลูกทั้งหมดกี่คน ฉะนั้นที่จำเลยที่ 2 ให้พี่น้องจำเลยที่ 1 ลงชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายที่มิได้กรอกข้อความเอกสารหมาย ล.4 ก็ดี การที่จำเลยที่ 2 ยอมจ่ายเงินจำนวน150,000 บาท ให้นางอุบลกับนางมณีบุตรนางบรรณ์หรือบันที่เกิดจากนายสิม ประสาร ก็ดี แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทราบดีว่า ญาติพี่น้องของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทในทรัพย์มรดกของนางบรรณ์หรือบัน มีหลายคนที่ไม่ได้ให้ความยินยอม ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 จดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยสุจริต ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนของโจทก์เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 98 ตารางวา และให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ไม่ได้พิพากษาให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินพิพาททั้งฉบับและไม่ได้ให้จำเลยที่ 2 ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาททั้งแปลงตามฟ้องขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 และมาตรา 239 นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางบรรณ์หรือบันซึ่งมีทายาทด้วยกัน 13 คน โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359ประกอบมาตรา 1745 โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวและมีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทศาลมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทรวมถึงทายาทอื่นได้ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาโจทก์ข้ออื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงเมื่อจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 1 ใน 13 ส่วน จำเลยที่ 1มีอำนาจขายและจำนองที่ดินพิพาทส่วนของตนได้ จึงต้องเพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นรวม12 ใน 13 ส่วน เท่านั้น ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่น12 ใน 13 ส่วน และให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท12 ใน 13 ส่วน กับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์จำนวน2 ไร่ 1 งาน 98 ตารางวา ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ในกรณีที่จำเลยที่ 2ไม่ไถ่ถอนจำนอง และโจทก์ได้ชำระค่าไถ่ถอนจำนองไปย่อมให้โจทก์มีสิทธิบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้

Share