คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6172/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ซึ่งได้ให้ว.เช่าซื้อไปแล้วว. ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันทันทีตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาและว. ต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่ผู้ร้องแต่ว. ไม่ส่งคืนต่อมารถยนต์ได้เกิดอุบัติเหตุถูกพนักงานสอบสวนยึดไว้เพื่อประกอบคดีผู้ร้องได้ไปติดต่อขอรับรถยนต์คืนแต่พนักงานสอบสวนไม่คืนให้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนคืนรถยนต์ให้แก่ผู้ร้องการยื่นคำร้องดังกล่าวไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้หากผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่เกี่ยวกับรถยนต์ก็ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลได้โดยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา55เมื่อผู้ร้องไม่อาจใช้สิทธิทางศาลได้ตามกฎหมายผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอฉะนั้นแม้ผู้คัดค้านจะยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีก็ตามก็ไม่สามารถดำเนินคดีต่อไปอย่างคดีที่มีข้อพิพาทได้และไม่อาจปรับเข้ากับมาตรา188(4)ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 บ-2217 กรุงเทพมหานคร ได้ให้นายวัชรินทร์ ลิ้มสุวรรณเช่าซื้อไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2533 ในราคา 321,216 บาทแบ่งชำระเป็น 48 งวด งวดละ 6,692 บาท งวดแรกชำระวันที่5 มีนาคม 2533 งวดต่อไปชำระในวันที่ 5 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีข้อตกลงว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดหรือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันโดยไม่ต้องบอกกล่าว ผู้เช่าซื้อจะต้องส่งมอบรถคืนในสภาพที่เรียบร้อยทำสัญญาแล้วนายวัชรินทร์ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้ร้องมาเพียง5 งวด งวดสุดท้ายชำระเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2533 หลังจากนั้นนายวัชรินทร์ก็ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้ร้องอีกเลยผู้ร้องจึงติดตามเอารถคืน ปรากฏว่ารถคันดังกล่าวได้เกิดอุบัติเหตุถูกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนครยึดไว้เพื่อประกอบคดี ผู้ร้องจึงได้ไปติดต่อขอรับรถคืนแต่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพังโคนไม่คืนให้ขอให้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพังโคนคืนรถคันดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2534เวลา 1.30 นาฬิกา นายอุดม แสนพล ได้ขับรถยนต์คันที่ผู้ร้องขอให้ศาลสั่งคืนเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 7 ฉ-3719 ด้วยความประมาท เห็นเหตุให้นายพีระทาย จันฤาชัย ผู้ขับขี่ถึงแก่ความตาย นายวีระพงษ์จันฤาชัย ผู้นั่งซ้อนท้ายได้รับอันตรายแก่กาย เกิดเหตุแล้วนายอุดมได้หลบหนีไป ผู้คัดค้านได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบแล้วว่ารถคันดังกล่าวถูกยึดไว้ประกอบคดี ปรากฏว่าผู้ร้องและผู้ครอบครองมิได้แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันเกิดเหตุ รถคันดังกล่าวจึงตกเป็นของรัฐ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้ศาลสั่งคืนให้แก่ผู้ร้องได้ ขอให้ยกคำฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า บุคคลใดจะยื่นคำร้องขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องขอฝ่ายเดียวเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188 ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ แต่กรณีตามคำร้องขอของผู้ร้องในคดีนี้นั้นผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทซึ่งเป็นรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 บ-2217 กรุงเทพมหานคร ได้ให้นายวัชรินทร์ ลิ้มสุวรรณ เช่าซื้อไปแล้วนายวัชรินทร์ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาและนายวัชรินทร์ต้องส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนให้แก่ผู้ร้อง แต่นายวัชรินทร์ไม่ส่งคืนต่อมาปรากฏว่ารถยนต์พิพาทได้เกิดอุบัติเหตุถูกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพังโคนยึดไว้เพื่อประกอบคดี ผู้ร้องได้ไปติดต่อขอรับรถยนต์พิพาทคืน แต่พนักงานสอบสวนดังกล่าวไม่คืนให้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพังโคนคืนรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้ร้อง การยื่นคำร้องขอของผู้ร้องดังกล่าวไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทเพื่อให้ศาลมีคำสั่งดังที่ผู้ร้องกระทำในคดีนี้ได้หากผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่เกี่ยวกับรถยนต์พิพาทดังกล่าวประการใด ผู้ร้องก็ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ โดยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท เมื่อผู้ร้องไม่อาจใช้สิทธิทางศาลได้ตามกฎหมาย ผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอฉะนั้น แม้ผู้คัดค้านจะยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีก็ตาม กรณีไม่สามารถดำเนินคดีนี้ต่อไปอย่างคดีที่มีข้อพิพาทได้ และไม่อาจปรับเข้ากับมาตรา 188(4) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share