คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6163/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน และบรรยายฟ้องข้อ 1 จ. ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันแผ้วถางป่าตัดต้นกาลอในป่านิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดยะลา อันเป็นการทำลายป่า ทำให้เสื่อมสภาพที่ดินเป็นอันตรายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในที่ดินภายในเขตของนิคมโดยไม่ได้รับอุนญาต… และมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพฯ มาตรา 4, 14, 15, 41 ซึ่งคำบรรยายฟ้องดังกล่าวครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพฯ แล้ว เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและโจทก์ระบุมาตรา 41 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดฐานนี้ได้ การที่โจทก์ไม่ได้ระบุบทกฎหมายที่เป็นบทความผิดและบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ มีผลทำให้จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดและไม่ต้องรับผิดสำหรับความผิดฐานนี้ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ เท่านั้น หาทำให้จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพฯ ไปด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 7, 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พ.ร.บ. ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 พ.ร.บ. จัดสรรที่ดิน (ที่ถูกจัดที่ดิน) เพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 4, 14, 15, 41 ป.อ. มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 7, 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พ.ร.บ. ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 16,692 บาท ความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ มาตรา 73 วรรคหนึ่ง จำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท ความผิดตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท ฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท ความผิดฐานแผ้วถางป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 8 เดือน ปรับคนละ 12,000 บาท รวมจำคุกคนละ 3 ปี ปรับคนละ 78,692 บาท (ที่ถูก 62,000 บาท) จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร เป็นเงิน 8,346 บาท ความผิดฐานอื่น คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 31,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ จำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท ฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท ฐานมีไม้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับจำเลยที่ 1 รวมกับค่าปรับตาม พ.ร.บ. ศุลกากรฯ 16,692 บาท แล้วเป็นรวมจำคุกจำเลยที่ 1 จำนวน 16 เดือน ปรับ 46,692 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 รวมจำคุก 16 เดือน ปรับ 30,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 23,346 บาท จำเลยที่ 2 คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 15,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานแผ้วถางป่าในที่ดินภายในเขตของนิคมได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน และบรรยายฟ้องในข้อ 1 จ. ว่า “…จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันแผ้วถางป่าตัดต้นกาลอในป่านิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดยะลา อันเป็นการทำลายป่า ทำให้เสื่อมสภาพที่ดินเป็นอันตรายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในที่ดินภายในเขตของนิคม ทั้งนี้โดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่ป่านิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้…” กับมีคำขอท้ายฟ้องโดยขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 4, 14 15, 41 ประกอบด้วย ป.อ. มาตรา 83, 91 เห็นว่า คำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพฯ ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไป…ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดินหรือทำให้เป็นอันตรายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในที่ดินภายในเขตของนิคม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี” เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและโจทก์ได้ระบุมาตรา 41 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษ สำหรับความผิดดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดนี้ตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้องได้ การที่โจทก์ไม่ได้ระบุบทกฎหมายที่เป็นบทความผิดและบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ มีผลเพียงทำให้จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดฐานนี้ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ เท่านั้น หาทำให้จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพฯ ไปด้วยไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 4, 14, 15, 41 ปรับคนละ 1,000 บาท ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงปรับคนละ 500 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ. ศุลกากรฯ เมื่อรวมกับโทษสำหรับความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 แล้ว จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 8 เดือน ปรับคนละ 15,500 บาท โดยให้รอการลงโทษจำคุกตามเดิม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9.

Share