คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17432/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากนั้นได้เปรียบผู้บริโภคหรือคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 หรือไม่ ซึ่งในมาตรา 4 วรรคสาม ได้กำหนดตัวอย่างของข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่วน ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคสอง ที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ในการชำระหนี้ก่อนกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ได้ เป็นเพียงบทสันนิษฐานในกรณีเป็นที่สงสัยเท่านั้น แต่ถ้ามีการตกลงหรือมีพฤติการณ์อย่างชัดแจ้งว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ทั้งหมดก่อนครบกำหนดตามเวลาที่ตกลงกันไม่ได้ ลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนครบกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันโดยเจ้าหนี้ไม่ยินยอมหาได้ไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงอย่างชัดแจ้งตามสัญญากู้เงินว่าในกรณีที่ผู้กู้ชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนดทั้งจำนวนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรก ผู้กู้ตกลงชำระค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนด (Prepayment Fee) ในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินกู้ โจทก์จึงชำระหนี้เงินกู้ทั้งจำนวนคืนแก่จำเลยก่อนกำหนดโดยที่จำเลยไม่ยินยอมหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ต้องการคืนเงินกู้ทั้งจำนวนแก่จำเลยก่อนกำหนดภายใน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรก โจทก์จึงต้องชำระค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนดแก่จำเลยตามสัญญากู้ โดยจำเลยมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการได้ตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ข้อ 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญากู้เงินและธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าปรับกรณีไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการอื่น ๆ นอกเหนือจากดอกเบี้ยจากโจทก์ได้ การที่จำเลยกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนด จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ทำให้โจทก์ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 57,222 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 57,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทำสัญญากู้เงิน 2,850,000 บาท จากจำเลยซึ่งเป็นสถาบันการเงิน โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันการชำระหนี้ และจะผ่อนชำระคืนภายใน 360 เดือน โจทก์ตกลงให้จำเลยคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด และหากโจทก์ชำระเงินกู้คืนทั้งจำนวนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรก โจทก์ยอมเสียค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนด (Prepayment Fee) ในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินกู้ ตามสัญญากู้เงินข้อ 4.2 หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์ผ่อนชำระหนี้แก่จำเลยเรื่อยมา แต่ก่อนจะครบ 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรก โจทก์นำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ทั้งจำนวนให้แก่จำเลยพร้อมค่าธรรมเนียมจำนวน 57,000 บาท
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ข้อตกลงตามสัญญาที่ระบุว่า หากโจทก์ชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนดทั้งจำนวนแก่จำเลยภายใน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรก โจทก์จะต้องชำระค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนดในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินกู้ เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว โจทก์อุทธรณ์ในข้อแรกว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคสอง ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ประกอบพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 มาตรา 4 ในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ผู้กู้มีภาระต้องคืนต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่สถาบันการเงินในอัตราที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งกำหนดภายใต้ประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น การที่จำเลยกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนด จึงเป็นข้อสัญญาที่ทำให้โจทก์ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ดังนั้น การจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบผู้บริโภคหรือคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรหรือไม่ และในมาตรา 4 วรรคสาม ได้กำหนดตัวอย่างของข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคสอง ที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ในการชำระหนี้ก่อนกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ได้ เป็นเพียงบทสันนิษฐานในกรณีเป็นที่สงสัยเท่านั้น กล่าวคือ ใช้บังคับแก่กรณีที่ไม่มีข้อตกลงหรือพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า ลูกหนี้ไม่อาจชำระหนี้ได้ก่อนกำหนดอย่างชัดแจ้งเท่านั้น ถ้ามีการตกลงกันหรือมีพฤติการณ์อย่างชัดแจ้งว่า ลูกหนี้จะชำระหนี้ทั้งหมดก่อนครบกำหนดตามเวลาที่ตกลงกันไม่ได้ ลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนครบกำหนดตามเวลาที่ตกลงกันโดยเจ้าหนี้ไม่ยินยอมหาได้ไม่ เมื่อปรากฏว่าโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงอย่างชัดแจ้งตามสัญญากู้เงินข้อ 4.2 ประกอบข้อ 1 ช. ว่า ในกรณีที่ผู้กู้ชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนดทั้งจำนวนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรก ผู้กู้ตกลงชำระค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนด (Prepayment Fee) ในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินกู้ โจทก์จึงชำระหนี้เงินกู้ทั้งจำนวนคืนแก่จำเลยก่อนกำหนดภายใน 5 ปี นับแต่วันที่เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรกโดยที่จำเลยไม่ยินยอมหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ต้องการคืนเงินกู้ทั้งจำนวนแก่จำเลยก่อนกำหนดภายใน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรก โจทก์จึงต้องชำระค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนดแก่จำเลย ส่วนปัญหาการเรียกเก็บค่าบริการของธนาคารพาณิชย์ จำเลยเป็นธนาคารพาณิชย์ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอื่น ๆ นอกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 มาตรา 4 กล่าวคือ พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ทำสัญญากู้เงินจากจำเลยกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องค่าบริการที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกเก็บได้ไว้ใน (3) และธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือแจ้งจำเลยเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ลูกค้า แสดงให้เห็นว่า นอกจากดอกเบี้ยแล้วจำเลยยังมีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าบริการได้อีก และธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าปรับกรณีไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเรียกค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการอื่น ๆ นอกเหนือจากดอกเบี้ยจากโจทก์ได้ การที่จำเลยกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนด จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ทำให้โจทก์ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด
โจทก์อุทธรณ์ในข้อต่อมาว่า จำเลยกำหนดข้อตกลงให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนดทั้งจำนวนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรกในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินกู้ เป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมและเกินสมควรแก่กรณี เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินโจทก์ตกลงผ่อนชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลยจนครบภายในกำหนด 360 เดือน ซึ่งเท่ากับ 30 ปี นับเป็นเวลาชำระคืนเงินกู้ทั้งหมดที่ยาวนานอันเป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้กู้ ส่วนเรื่องเวลาที่โจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนดทั้งจำนวนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรก ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งในหกของกำหนดชำระคืนเงินกู้ทั้งจำนวนในอัตราค่าธรรมเนียมเพียงร้อยละ 2 ของวงเงินกู้ ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติที่จำเลยเรียกจากโจทก์ นับว่าเป็นข้อตกลงที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีแล้ว
โจทก์อุทธรณ์ในข้อสุดท้ายว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าบริการต่าง ๆ และเบี้ยปรับสำหรับธนาคารพาณิชย์ โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์สามารถคิดเบี้ยปรับได้เฉพาะกรณีไถ่ถอนสินเชื่อที่อยู่อาศัยก่อนกำหนดทั้งจำนวน เพื่อไปใช้บริการกับสถาบันการเงินอื่น (Prepayment Fee) เท่านั้น ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส. 80/2551โจทก์ชำระคืนเงินกู้ทั้งจำนวนและไถ่ถอนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อนำไปขายให้แก่บุคคลภายนอกไม่ใช่เพื่อไปใช้บริการกับสถาบันการเงินอื่น จำเลยจึงเรียกเบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมจากโจทก์ไม่ได้ เห็นว่า ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับภายหลังจากยกเลิกพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 และประกาศฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ทำสัญญากู้เงินจากจำเลยและชำระคืนเงินกู้ทั้งจำนวนแก่จำเลยแล้ว จึงนำประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีนี้ไม่ได้ ดังนั้นข้อตกลงตามสัญญาที่ระบุว่า หากโจทก์ชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนดทั้งจำนวนแก่จำเลยภายใน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรกโจทก์ต้องชำระค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนดในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินกู้ จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share