คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 616/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัมปทานทำไม้ป่าชายเลนระหว่างโจทก์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเลยมีกำหนดระยะเวลา 15 ปี การที่จำเลยโดยกรมป่าไม้สั่งให้โจทก์ระงับการทำไม้ในระหว่างอายุสัมปทาน จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นกระทรวงมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการป่าไม้ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2529 จำเลยให้สำปทานทำไม้ป่าชายเลนกับโจทก์ในป่าโครงการคลองน้ำร้อน (กบ.44) ตำบลห้วยน้ำขาว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ 3,910 ไร่ มีกำหนด 15 ปี ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2529 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2544 ต่อมาปลายปี 2539 โจทก์ได้รับแจ้งด้วยวาจาจากป่าไม้เขตนครศรีธรรมราชและป่าไม้จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลการทำไม้ป่าชายเลนของโจทก์และเป็นตัวแทนของจำเลย อ้างว่าจำเลยมีคำสั่งให้ระงับการทำไม้ป่าชายเลนของโจทก์เป็นการชั่วคราวพร้อมทั้งประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ทันทีถ้าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งห้าม การกระทำของตัวแทนจำเลยที่ได้กระทำตามอำนาจหน้าที่ที่จำเลยมอบหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถทำไม้ป่าชายเลนได้ อายุสัมปทานของโจทก์มีอายุถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2544 จึงเป็นการผิดสัญญาที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ โจทก์มีความประสงค์จะรับเงินชดเชยความเสียหายจากอธิบดีกรมป่าไม้ ตามมาตรา 68 อัฏฐ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ จึงได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยให้ดำเนินการแจ้งคำสั่งระงับการทำไม้ป่าชายเลนเป็นการชั่วคราวให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือ แต่จำเลยไม่ยินยอมดำเนินการใดๆ โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับเงินชดเชยความเสียหาย ผลของการผิดสัญญาของจำเลยที่สั่งระงับการทำไม้ก่อนจะสิ้นอายุสัมปทาน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 1,015,000 บาท โจทก์ลงลายมือชื่อในสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนที่สำนักงานป่าไม้จังหวัดกระบี่ มูลคดีจึงเกิดขึ้นในจังหวัดกระบี่ จึงอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดกระบี่ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 1,015,000 บาท และคืนเงินประกันจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การทำสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนระหว่างโจทก์กับจำเลยทำที่กรมป่าไม้และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งอยู่กรุงเทพมหานคร มูลคดีจึงเกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานครจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดกระบี่ คดีนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่เคยมีคำสั่งให้โจทก์หยุดทำกิจการที่ได้รับสัมปทานตามฟ้องเป็นการชั่วคราวทั้งไม่เคยมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นใดมีคำสั่งเช่นว่านั้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินชดเชยจากจำเลยและไม่มีอำนาจฟ้องแต่เป็นความพยายามของโจทก์ที่จะให้จำเลยออกคำสั่งระงับการทำไม้ป่าชายเลนเพื่อจะได้เป็นเหตุฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลย แต่จำเลยไม่ต้องการระงับการทำไม้ป่าชายเลนของโจทก์ จึงไม่ออกคำสั่งจำเลยจึงยังผิดสัญญา โจทก์เข้าทำไม้ตามสัมปทานก่อนฟ้องเป็นเวลา 10 ปี ผลประโยชน์และรายได้เกินคุ้มเงินลงทุนทั้งหมดที่โจทก์ใช้จ่ายไปแล้วจึงไม่มีค่าเสียหายใดๆ ที่จะเรียกร้องจากจำเลยได้อีก ทั้งนี้ตามความในมาตรา 68 สัตต แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ส่วนค่าชดเชยความเสียหายที่เป็นโรงเรือน บ้านพัก เตาถ่าน เรือ และท่าเทียบเรือเป็นเงิน 1,015,000 บาท ไม่ได้เป็นสิ่งที่โจทก์ทำขึ้นใหม่ แต่ได้รับมอบมาจากผู้ประกอบการคนก่อนที่ได้รับสัมปทานทำไม้มาก่อน จึงไม่ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับสัมปทานจำเลยเป็นผู้ให้สัมปทานทำไม้ป่าชายเลน ตำบลห้วยน้ำขาว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ 3,910 ไร่ มีกำหนดระยะเวลา 15 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2529 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2544 ตามสำเนาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน เอกสารหมาย จ.4 ต่อมาจำเลยโดยกรมป่าไม้มีคำสั่งให้โจทก์ระงับการทำป่าไม้ ก่อนครบกำหนดระยะเวลาสัมปทาน มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า สัมปทานทำไม้ป่าชายเลนระหว่างโจทก์กับจำเลยมีกำหนดระยะเวลา 15 ปี ในระหว่างอายุสัมปทานตามสำเนาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน เอกสารหมาย จ.4 การที่จำเลยโดยกรมป่าไม้สั่งให้โจทก์ระงับการทำไม้ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share