คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6154/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านเป็นหลักฐานแห่งการระงับซึ่งสิทธิของผู้ให้เช่าจึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9)
จำเลยนำใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยปลอมขึ้นและเป็นเอกสารเท็จยื่นประกอบแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านเพื่อเบิกเงินค่าเช่าบ้าน และจำเลยได้รับเงินค่าเช่าบ้านจากคลังจังหวัดชุมพรไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อว่าจำเลยได้เช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวจริง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อและทำให้จำเลยได้รับเงินค่าเช่าบ้านตามที่จำเลยขอเบิกจ่ายไปจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพร อันน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เจ้าหน้าที่คลังจังหวัดชุมพร ก. และกรมส่งเสริมสหกรณ์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม มาตรา 268
จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเอกสารและกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(4)และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและโดยทุจริตตามมาตรา 157 เมื่อเป็นความผิดตามมาตรา 162(4)ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วจึงไม่ปรับบทลงโทษตามมาตรา 157 อีก
การที่จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งสหกรณ์จังหวัดชุมพรซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพร ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรให้ทำการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรในการอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเช่าบ้านของข้าราชการและลูกจ้างในสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพร ได้ทำการอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินในแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านโดยรู้อยู่แล้วว่าเอกสารใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านและใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านเป็นเอกสารปลอม และมีข้อความเท็จโดยจำเลยได้ลงลายมือชื่ออนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเช่าบ้านได้จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและโดยทุจริตอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ตามเอกสารพิพาทเป็นเอกสารของจำเลยที่จำเลยนำเงินส่วนที่เบิกเกินไปคืนแก่ทางราชการและตามใบเสร็จรับเงินของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ได้รับเงินจากจำเลยไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในความผิดฐานฉ้อโกงและลำพังการที่จำเลยส่งเงินส่วนที่จำเลยเบิกเกินคืนกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์รับไว้ ก็เพียงแต่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดทางแพ่งเท่านั้นไม่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดทางอาญา และยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันอันจะทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกง และในความผิดฐานอื่น
การที่จำเลยปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านอันเป็นเอกสารสิทธิซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 นั้น จำเลยกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และการที่จำเลยได้นำแบบคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านและใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านอันเป็นเอกสารสิทธิที่จำเลยทำปลอมขึ้นดังกล่าวซึ่งมีข้อความเท็จเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อว่าจำเลยได้เช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวจริงและโดยการหลอกลวงทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อและทำให้จำเลยได้รับเงินตามที่ขอเบิกจ่ายไปจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรอันเป็นความผิดตามมาตรา 341 และมาตรา 268 และการที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่กรอกข้อความรับรองคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านได้รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ อันเป็นความผิดตามมาตรา 162(4) และการที่จำเลยในฐานะที่ดำรงตำแหน่งสหกรณ์จังหวัดชุมพรซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพรได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรในการอนุมัติการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรได้ลงลายมือชื่ออนุมัติการเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านของจำเลยในแบบคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยปลอมขึ้นและมีข้อความอันเป็นเท็จ อันเป็นความผิดตามมาตรา 157 นั้นเป็นการกระทำคนละครั้งคนละคราวกัน แต่การที่จำเลยปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้าน นำใบเสร็จดังกล่าวไปใช้ประกอบการยื่นคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้าน ลงลายมือชื่อรับรองการเบิกเงินค่าเช่าบ้านรวมทั้งลงลายมือชื่ออนุมัติการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านในแต่ละเดือนดังกล่าวนั้น แม้จะเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ก็เป็นการกระทำโดยมีเจตนาและจุดประสงค์ในผลอันเดียวกัน คือมุ่งที่จะได้รับเงินค่าเช่าบ้าน การกระทำดังกล่าวตั้งแต่ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านจนถึงการอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเช่าบ้านจึงเป็นกระบวนการเดียวกันเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าเช่าบ้านตามที่จำเลยประสงค์และเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกันในแต่ละเดือนแต่ละคำขอ ตามมาตรา 90เมื่อจำเลยกระทำการดังกล่าวรวม 12 เดือน เดือนละหนึ่งครั้งรวม 12 ครั้ง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 และในแต่ละกรรมต้องลงโทษในบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดคือตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162,264, 265, 268, 341, 90, 91 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 6,800 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 162(4), 264, 265, 268, 341 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดรวม 88 กรรม ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 1 ปีรวมเป็นจำคุก 88 ปี ข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างอันเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 66 ปี แต่เมื่อรวมความผิดทุกกระทงแล้ว คงให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 20 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน6,800 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อ 42 ถึงข้อ 88การกระทำของจำเลยเป็นความผิดรวม 41 กรรม การกระทำผิดตามฟ้อง ข้อ 1 ข้อ 5ข้อ 9 ข้อ 13 ข้อ 16 ข้อ 19 ข้อ 22 ข้อ 25 ข้อ 28 ข้อ 31 ข้อ 34 และข้อ 38เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ส่วนการกระทำตามฟ้องข้อ 2 ข้อ 6 ข้อ 10 ข้อ 14 ข้อ 17 ข้อ 20 ข้อ 23 ข้อ 26 ข้อ 29 ข้อ 32 ข้อ 35 และ ข้อ 39 เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธินั้นให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงให้ลงโทษจำเลยเพียง 29 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปีรวมจำคุก 29 ปี ข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 21 ปี 9 เดือน เมื่อรวมความผิดทุกกระทงแล้ว คงจำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดรวม 88 กรรมตามคำฟ้องข้อ 1 ถึง ข้อ 88 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามคำฟ้องของโจทก์ข้อ 1 ถึงข้อ 41 และยกฟ้องโจทก์ในข้อ 42 ถึงข้อ 88โจทก์มิได้ฎีกา คงฎีกาแต่เฉพาะจำเลย คดีจึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเฉพาะที่เกี่ยวกับการกระทำของจำเลย ตามคำฟ้องของโจทก์ข้อ 1 ถึงข้อ 41ตามฎีกาของจำเลยเท่านั้น สำหรับการกระทำของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ข้อ 42ถึงข้อ 88 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ข้อ 1 ถึงข้อ 41 นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับฟังมาและตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันว่าในช่วงระยะเวลาที่เกิดเหตุคดีนี้ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานดำรงตำแหน่งสหกรณ์จังหวัดชุมพร โดยดำรงตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2525 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 จำเลยเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้านตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2483 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในการเบิกเงินค่าเช่าบ้านตามกฎหมายและระเบียบระหว่างปี 2525 ถึง 2527 ข้าราชการในจังหวัดชุมพรผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้านต้องยื่นคำขอรับเงินค่าเช่าบ้านพร้อมสำเนาต่อหัวหน้าส่วนราชการที่ตนสังกัดเพื่อตรวจสอบว่า มีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้านตามกฎหมายหรือไม่และเป็นจำนวนเงินเท่าใด จากนั้นหัวหน้าส่วนราชการจะต้องทำหนังสือราชการนำส่งคำขอรับเงินค่าเช่าบ้านไปที่คลังจังหวัดชุมพร โดยผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรมีคำสั่งมอบให้คลังจังหวัดชุมพรเป็นผู้พิจารณาอนุมัติคำขอรับเงินค่าเช่าบ้านของส่วนราชการต่าง ๆ แทนตามคำสั่งจังหวัดชุมพรที่ 1124/2523 ข้อ 8.12 คลังจังหวัดชุมพรจะตรวจสอบว่าข้าราชการผู้ขออนุมัติเบิกเงินค่าเช่าบ้านมีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้านตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบค่าเช่าบ้านข้าราชการฯ หรือไม่ และตรวจสอบเงินเดือนของผู้ขออนุมัติเบิกเงินค่าเช่าบ้านว่ามีสิทธิเบิกเงินค่าเช่าบ้านได้เป็นจำนวนเท่าใด เมื่อคลังจังหวัดชุมพรพิจารณาอนุมัติแล้วจะคืนคำขอรับเงินค่าเช่าบ้านให้ส่วนราชการที่ขอรับเงินค่าเช่าบ้านฉบับหนึ่งเพื่อไปตั้งฎีกาขอเบิกในแต่ละเดือน ซึ่งข้าราชการผู้ได้รับอนุมัติแล้วต้องยื่นแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านพร้อมทั้งใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านในแต่ละเดือนเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการที่ตนสังกัดหรือข้าราชการที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าส่วนราชการตรวจสอบว่ามีสิทธิเบิกเงินค่าเช่าบ้านหรือไม่ และให้หัวหน้าส่วนราชการนั้นเป็นผู้อนุมัติการเบิกจ่าย ถ้าหากผู้ขอเบิกดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ แต่ในกรณีจังหวัดชุมพรนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรได้มีคำสั่งมอบอำนาจดังกล่าวให้หัวหน้าส่วนราชการดำเนินการแทนปรากฏตามคำสั่งจังหวัดชุมพรที่ 1124/2523 ข้อ 2.5 และที่ 1264/2523 ข้อ 2.4 เมื่อมีการพิจารณาอนุมัติให้เบิกจ่ายแล้วเจ้าหน้าที่การเงินของส่วนราชการที่ขอเบิกจ่ายจะจัดทำฎีกาพร้อมสำเนาเสนอต่อคลังจังหวัดชุมพรเพื่อตรวจจ่ายโดยหัวหน้าส่วนราชการผู้ขอเบิกหรือผู้รับมอบอำนาจลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกในฎีกา เมื่อคลังจังหวัดชุมพรอนุมัติฎีกาแล้ว จะจัดส่งฎีกาฉบับหนึ่งไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเขตเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง หากปรากฏว่าการเบิกจ่ายไม่ถูกต้องสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเขตก็จะเรียกเงินคืนจากผู้ขอเบิกเมื่อระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2525 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2526 จำเลยได้ใช้ใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านรวม 12 ฉบับ ซึ่งมีข้อความระบุว่านางเกษี ไชยสิทธิ์ ผู้ให้เช่าบ้านเลขที่ 8 หมู่ที่ 1 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ได้รับเงินค่าเช่าบ้านจากจำเลยเดือนละ 2,700 บาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2525 ถึงเดือนกันยายน 2526 เป็นหลักฐานการเบิกค่าเช่าบ้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรเพื่ออนุมัติให้เบิกจ่ายตามแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้าน โดยจำเลยในตำแหน่งสหกรณ์จังหวัดชุมพรได้กรอกข้อความรับรองคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านเดือนตุลาคม 2525 ถึงเดือนธันวาคม 2525 เดือนสิงหาคม 2526 และเดือนกันยายน 2526 ว่าได้มีการขอจ่ายถูกต้องตามระเบียบต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรเพื่ออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน และจำเลยในตำแหน่งสหกรณ์จังหวัดชุมพรทำการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรตามคำสั่งจังหวัดชุมพรที่ 1124/2523 และที่ 1264/2523 ได้อนุมัติเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านในแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านและจำเลยได้รับเงินที่เบิกจ่ายเป็นค่าเช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวไป

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยเช่าบ้านของนางน้อย ไชยสิทธิ์ จริง และใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านมิใช่เอกสารปลอมนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ปลอมหรือร่วมกับผู้อื่นปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้าน และใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการระงับซึ่งสิทธิของผู้ให้เช่าจึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 เมื่อจำเลยนำใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยปลอมขึ้น และเป็นเอกสารเท็จยื่นประกอบแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านเพื่อเบิกเงินค่าเช่าบ้าน และจำเลยได้รับเงินค่าเช่าจำนวนดังกล่าวจากคลังจังหวัดชุมพรไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยการนำแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้าน และใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้าน อันเป็นเอกสารสิทธิที่จำเลยทำปลอมขึ้นซึ่งมีข้อความเท็จไปใช้เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อว่าจำเลยได้เช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวจริงและโดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อและทำให้จำเลยได้รับเงินค่าเช่าบ้านตามที่จำเลยขอเบิกจ่ายไปจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพร อันน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เจ้าหน้าที่คลังจังหวัดชุมพร นางเกษีและกรมส่งเสริมสหกรณ์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 อันเป็นความผิดสองบทรวม 12 กรรมและการที่จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งสหกรณ์จังหวัดชุมพรซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่กรอกข้อความรับรองคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านว่าการเบิกเงินค่าเช่าบ้านของจำเลยตรวจสอบแล้ว ได้มีการขอจ่ายถูกต้องตามระเบียบ เห็นควรอนุมัติได้เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรเพื่ออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเอกสารและกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริง อันเป็นความเท็จอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(4) และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเมื่อเป็นความผิดตามมาตรา162(4)ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วจึงไม่ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อีกนอกจากนี้การที่จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งสหกรณ์จังหวัดชุมพรซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพร ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรตามคำสั่งจังหวัดชุมพร ที่ 1124/2523 และที่ 1264/2523 ให้ทำการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรในการอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเช่าบ้านของข้าราชการและลูกจ้างในสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพรได้ทำการอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินในแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้าน โดยรู้อยู่แล้วว่าเอกสารใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านและใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านเป็นเอกสารปลอมและมีข้อความเท็จโดยจำเลยได้ลงลายมือชื่ออนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเช่าบ้านได้ จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและโดยทุจริตอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวม 12 กรรม

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยเป็นประการที่สองมีว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าการที่จำเลยนำเงินจำนวน 41,800 บาทส่งคืนกรมส่งเสริมสหกรณ์ครบถ้วนแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2529 ตามเอกสารหมาย ป.จ.15 (ศาลอาญา) และ ป.จ.16 (ศาลอาญา) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงและในความผิดฐานอื่น ๆ อีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) และโจทก์จะเรียกร้องเงินที่ยังขาดอีก 6,800 บาท คืนแก่ผู้เสียหายไม่ได้นั้น เห็นว่า ตามเอกสารหมาย ป.จ.15 (ศาลอาญา) เป็นเอกสารของจำเลยที่จำเลยนำเงินส่วนที่เบิกเกินซึ่งเบิกไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2525 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2527 รวมเป็นเงิน 41,800 บาท (สี่หมื่นหนึ่งพันแปดร้อยบาทถ้วน)คืนแก่ทางราชการและตามเอกสารหมาย ป.จ. 16 (ศาลอาญา) เป็นใบเสร็จรับเงินของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ได้รับเงิน 41,800 บาท จากจำเลย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในความผิดฐานฉ้อโกงตามที่จำเลยอ้างและลำพังการที่จำเลยส่งเงินส่วนที่จำเลยเบิกเกินคืนกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์รับไว้ ก็เพียงแต่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดทางแพ่งเท่านั้นไม่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดทางอาญา และยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันอันจะทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ดังที่จำเลยฎีกา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกง และในความผิดฐานอื่น ๆ

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการต่อไปมีว่าการกระทำผิดของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ในข้อ 1 ถึงข้อ 41 ตามที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วเป็นความผิดกรรมเดียวกันหรือหลายกรรมต่างกัน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านอันเป็นเอกสารสิทธิของนางเกษี ไชยสิทธิ์ ตามคำฟ้องของโจทก์ข้อ 1 ข้อ 5 ข้อ 9 ข้อ 13 ข้อ 16 ข้อ 19 ข้อ 22 ข้อ 25 ข้อ 28 ข้อ 31 ข้อ 34และข้อ 38 อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 นั้น จำเลยกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 12 กรรมและการที่จำเลยได้นำแบบคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านและใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านอันเป็นเอกสารสิทธิที่จำเลยทำปลอมขึ้นดังกล่าวซึ่งมีข้อความเท็จเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรเพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อว่าจำเลยได้เช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวจริงและโดยการหลอกลวงทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อ และทำให้จำเลยได้รับเงินตามที่ขอเบิกจ่ายไปจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และมาตรา 268 ตามที่โจทก์ฟ้องในข้อ 2 ข้อ 6 ข้อ 10 ข้อ 14 ข้อ 17 ข้อ 20 ข้อ 23 ข้อ 26 ข้อ 29 ข้อ 32 ข้อ 35 และข้อ 39 และการที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่กรอกข้อความรับรองคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านได้รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จในแบบคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านเดือนตุลาคม 2525 เดือนพฤศจิกายน 2525 เดือนธันวาคม 2525 เดือนสิงหาคม 2526 และเดือนกันยายน 2526 ตามคำฟ้องของโจทก์ข้อ 3 ข้อ 7 ข้อ 11 ข้อ 36และข้อ 40 อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(4) และการที่จำเลยในฐานะที่ดำรงตำแหน่งสหกรณ์จังหวัดชุมพรซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพรได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรในการอนุมัติการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรได้ลงลายมือชื่ออนุมัติการเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านของจำเลยในแบบคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยปลอมขึ้นและมีข้อความอันเป็นเท็จตามคำฟ้องของโจทก์ข้อ 4ข้อ 8 ข้อ 12 ข้อ 15 ข้อ 18 ข้อ 21 ข้อ 24 ข้อ 27 ข้อ 30 ข้อ 33 ข้อ 37 และข้อ 41 อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้นเป็นการกระทำคนละครั้งคนละคราวกันแต่การที่จำเลยปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้าน นำใบเสร็จดังกล่าวไปใช้ประกอบการยื่นคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้าน ลงลายมือชื่อรับรองการเบิกเงินค่าเช่าบ้านรวมทั้งลงลายมือชื่ออนุมัติการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านในแต่ละเดือนดังกล่าวนั้น แม้จะเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ก็เป็นการกระทำโดยมีเจตนาและจุดประสงค์ในผลอันเดียวกันคือมุ่งที่จะได้รับเงินค่าเช่าบ้าน การกระทำดังกล่าวตั้งแต่ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านจนถึงการอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเช่าบ้านจึงเป็นกระบวนการเดียวกันเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าเช่าบ้านตามที่จำเลยประสงค์และเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกันในแต่ละเดือนแต่ละคำขอตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 เมื่อจำเลยกระทำการดังกล่าวรวม 12 เดือน เดือนละหนึ่งครั้งรวม 12 ครั้ง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และในแต่ละกรรมต้องลงโทษในบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดคือตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่าสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานดำรงตำแหน่งสหกรณ์จังหวัดชุมพรซึ่งถือได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานระดับผู้บริหาร มีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการและทำตนให้เป็นตัวอย่างอันดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่จำเลยจงใจกระทำความผิดเสียเองเช่นนี้และเป็นการกระทำความผิดหลายกรรม พฤติการณ์แห่งคดีไม่สมควรรอการลงโทษแก่จำเลย แต่เนื่องจากขณะกระทำความผิดจำเลยใกล้เกษียณอายุราชการ ขณะถูกฟ้องคดีจำเลยอายุ 61 ปี เกษียณอายุราชการแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน ทั้งได้ปฏิบัติราชการด้วยดีตลอดมาจนเกษียณอายุราชการ ไม่ปรากฏข้อเสียหายประการอื่นเงินที่จำเลยเบิกเกินไปจากทางราชการเป็นจำนวนไม่มากและจำเลยชดใช้คืนให้แก่ทางราชการแล้ว ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าจำเลยเช่าบ้านอยู่อาศัยจริงเห็นสมควรให้ความปรานีแก่จำเลยได้ใช้ชีวิตในสังคมในบั้นปลายชีวิตโดยรอการลงโทษจำคุกให้

พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ 1 ข้อ 5 ข้อ 9 ข้อ 13ข้อ 16 ข้อ 19 ข้อ 22 ข้อ 25 ข้อ 28 ข้อ 31 ข้อ 34 และข้อ 38 เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ การกระทำตามฟ้องข้อ 2 ข้อ 6 ข้อ 10 ข้อ 14 ข้อ 17 ข้อ 20 ข้อ 23ข้อ 26 ข้อ 29 ข้อ 32 ข้อ 35 และข้อ 39 เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธินั้นและเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 และ 341 การกระทำผิดตามฟ้องข้อ 3ข้อ 7 ข้อ 11 ข้อ 36 และข้อ 40 เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่กรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(4) และการกระทำตามฟ้องข้อ 4 ข้อ 8 ข้อ 12 ข้อ 15 ข้อ 18 ข้อ 21 ข้อ 24 ข้อ 27 ข้อ 30 ข้อ 33 ข้อ 37 และข้อ 41 เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 การกระทำของจำเลยในแต่ละฐานความผิดในแต่ละเดือนเป็นกรรมเดียวจึงให้ลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 4 ข้อ 8 ข้อ 12 ข้อ 15 ข้อ 18 ข้อ 21 ข้อ 24 ข้อ 27 ข้อ 30 ข้อ 33 ข้อ 37 และข้อ 41 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดรวม 12 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี ปรับกระทงละ 6,000 บาท ข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก กระทงละ 8 เดือน ปรับกระทงละ 4,000 บาท รวมโทษทุกกระทงจำคุก 8 ปี ปรับ 48,000 บาท โทษจำคุกแต่ละกระทงจำคุกไม่เกิน 2 ปี ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และมาตรา 30 ให้ยกคำขอที่ขอให้จำเลยคืนเงิน 6,800 บาท แก่ผู้เสียหายนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share