คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 918/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประเด็นแห่งคดีย่อมเกิดจากคำฟ้องและคำให้การ มิใช่เป็นข้อโต้แย้งที่เพิ่งเกิดขึ้นจากที่คู่ความนำสืบโต้แย้งในระหว่างการพิจารณา คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลย ประเด็นแห่งคดีจึงมีเพียงว่าการที่ไม้สักต้องห้ามขนย้ายออกนอกเขตพื้นที่จังหวัดลำพูน ถือว่าจำเลยไม่สามารถส่งมอบบ้านไม้สักให้แก่โจทก์อันจะถือว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ตามหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก และหนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยคืนเงินจำนวน 100,000 บาท ที่รับไว้ที่เป็นเอกสารแนบท้ายคำฟ้อง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องนั้นก็ไม่มีข้อความส่วนใดที่ระบุว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องขออนุญาตรื้อถอนบ้านหรือขออนุญาตย้ายไม้สัก ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยยังไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตรื้อถอนบ้านต่อเจ้าพนักงานจึงถือว่าจำเลยยังไม่ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่ยังไม่ขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่จำเลยเช่นกันและถือว่าโจทก์มิได้ผิดสัญญานั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
คำว่า “มัดจำ” ป.พ.พ. มาตรา 377 บัญญัติว่า “เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว…” ดังนั้นเงินที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลยในวันทำหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก จึงถือว่าเป็นมัดจำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายวางมัดจำเป็นฝ่ายผิดสัญญาละเลยไม่ชำระหนี้แก่จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินจำนวน 50,000 บาท ดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินอีกจำนวน 50,000 บาท ที่โจทก์นำมามอบไว้ให้แก่จำเลยภายหลังจากวันทำหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก แม้จะมีข้อความของตอนท้ายหนังสือสัญญาดังกล่าวระบุว่า ” สัญญาเพิ่มเติม ผู้ซื้อจะโอนเงินค่ามัดจำเพิ่มเติมให้แก่ผู้ขาย 50,000 บาท รวมเป็นค่ามัดจำ 100,000 บาท” ก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ โจทก์ได้ให้ไว้แก่จำเลยภายหลังจากวันทำสัญญา จึงไม่ถือว่าเป็นมัดจำ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 377 แต่เป็นเพียงเงินที่ชำระราคาซื้อขายบ้านไม้สักบางส่วน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 101,729.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 100,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นว่า เงินจำนวน 100,000 บาท เป็นมัดจำหรือไม่เพียงใด และจำเลยต้องคืนแก่โจทก์หรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยยังมิได้ยื่นคำขออนุญาตรื้อถอนบ้านต่อเจ้าพนักงานถือว่าจำเลยยังไม่ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่ยังไม่ขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่จำเลยเช่นกันและถือว่าโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยเห็นพ้องด้วยนั้นเป็นคำวินิจฉัยที่นอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า ประเด็นแห่งคดีย่อมเกิดจากคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลย มิใช่เป็นข้อโต้แย้งที่เพิ่งเกิดขึ้นจากที่คู่ความนำสืบโต้แย้งกันในระหว่างการพิจารณาคดี คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่า จำเลยไม่สามารถส่งมอบบ้านไม้สักตามสัญญาซื้อขายให้แก่โจทก์ได้เนื่องจากไม้สักดังกล่าวต้องห้ามขนย้ายออกนอกเขตพื้นที่จังหวัดลำพูน โจทก์จึงขอให้จำเลยคืนเงินที่รับไปจำนวน 100,000 บาท ให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่าการซื้อขายบ้านไม้สักตามฟ้องไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย โจทก์ไม่สุจริตและผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิขอเงินคืนโดยจำเลยชอบที่จะริบเงินมัดจำดังกล่าว เห็นได้ว่าตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลย ประเด็นแห่งคดีจึงมีเพียงว่าการที่ไม้สักต้องห้ามขนย้ายออกนอกเขตพื้นที่จังหวัดลำพูน ถือว่าจำเลยไม่สามารถส่งมอบบ้านไม้สักให้แก่โจทก์อันจะถือว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาตามหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก ที่โจทก์แจ้งให้จำเลยคืนเงินจำนวน 100,000 บาท ที่รับไว้ที่เป็นเอกสารแนบท้ายคำฟ้อง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องนั้นก็ไม่มีข้อความส่วนใดที่ระบุว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องขออนุญาตรื้อถอนบ้านหรือขออนุญาตย้ายไม้สัก ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยยังไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตรื้อถอนบ้านต่อเจ้าพนักงานจึงถือว่าจำเลยยังไม่ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่ยังไม่ขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่จำเลยเช่นกันและถือว่าโจทก์มิได้ผิดสัญญานั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาชอบที่จะยกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองเสียและให้พิพากษาใหม่ตามประเด็นแห่งคดี แต่อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เมื่อคู่ความนำสืบพยานหลักฐานมาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปเสียเลยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองเพื่อพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องคืนเงินจำนวน 100,000 บาท ที่ได้รับไว้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก ข้อ 1 ระบุว่า ในวันทำสัญญาโจทก์ยินยอมจ่ายค่ามัดจำจำนวน 50,000 บาท คำว่า “มัดจำ” ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 บัญญัติว่า “เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว…” ดังนั้นเงินที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลยในวันทำหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก จึงถือว่าเป็นมัดจำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงดังที่วินิจฉัยมาแล้ว ฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายวางมัดจำเป็นฝ่ายผิดสัญญาละเลยไม่ชำระหนี้แก่จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินจำนวน 50,000 บาท ดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (2) ส่วนเงินอีกจำนวน 50,000 บาท ที่โจทก์นำมามอบไว้ให้แก่จำเลยภายหลังจากวันทำหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก แม้จะมีข้อความของตอนท้ายหนังสือสัญญาดังกล่าวระบุว่า ” สัญญาเพิ่มเติม ผู้ซื้อจะโอนเงินค่ามัดจำเพิ่มเติมให้แก่ผู้ขาย 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) รวมเป็นค่ามัดจำ 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)” ก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ โจทก์ได้ให้ไว้แก่จำเลยภายหลังจากวันทำสัญญา จึงไม่ถือว่าเป็นมัดจำ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 แต่เป็นเพียงเงินที่ชำระราคาซื้อขายบ้านไม้สักบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและหลังจากนั้นข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้รื้อถอนบ้านไม้สักดังกล่าวเพื่อนำไปปลูกสร้างบ้านใหม่แล้ว จึงถือว่าเป็นการเลิกสัญญากันแล้วโดยปริยาย ดังนั้นโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินที่โจทก์มอบให้ไว้แก่จำเลยหลังจากวันทำสัญญาจำนวน 50,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่จำเลยได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2440 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 791.67 บาท) คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share