คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6150/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์โดยสารไม่ประจำทางคันเกิดเหตุ มีความรับผิดต้องชดใช้ค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 3 ยื่นกรมธรรม์ประกันภัยประกอบคำแถลงต่อศาล ซึ่งปรากฏว่าเป็นกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกันกับที่โจทก์อ้าง หากแต่มีรายละเอียดเพิ่มเติมนอกเหนือจากกรมธรรม์ประกันภัยของโจทก์ระบุความรับผิดของจำเลยที่ 3 ในเรื่องค่ารักษาพยาบาลไว้ในแผ่นที่ 2 ว่า “จำนวนเงินจำกัดความรับผิดแต่ละครั้งเกินกว่าจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับมาแล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ถึง 100,000 บาท ต่อหนึ่งคน” แม้จำเลยที่ 3 จะขาดนัดพิจารณาและยื่นกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเอกสารสำคัญอันเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลฎีกามีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าว โดยถือว่าเป็นพยานของศาลเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,197,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,114,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 166,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2543 ถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสอง (ที่ถูกจำเลยที่ 2 และที่ 3) ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 286,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นในนามของโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ให้โจทก์ 8,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์โดยสารไม่ประจำทางคันเกิดเหตุ มีความรับผิดต้องชดใช้ค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่เมื่อพิจารณาตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารที่โจทก์อ้างส่งดังกล่าวประกอบกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 3 ยื่นประกอบคำแถลงฉบับลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2544 ปรากฏว่าเป็นกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกันกับที่โจทก์อ้างหากแต่มีรายละเอียดเพิ่มเติมนอกเหนือจากกรมธรรม์ประกันภัยของโจทก์ระบุความรับผิดของจำเลยที่ 3 ในเรื่องค่ารักษาพยาบาลไว้ในแผ่นที่ 2 ว่า “จำนวนเงินจำกัดความรับผิดแต่ละครั้งเกินกว่าจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับมาแล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ถึง 100,000 บาท ต่อหนึ่งคน” แม้จำเลยที่ 3 จะขาดนัดพิจารณาและยื่นกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแต่ศาลเห็นว่า เป็นเอกสารสำคัญอันเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลฎีกามีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวโดยถือว่าเป็นพยานของศาลเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคท้ายและเมื่อปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ไปบ้างแล้วเป็นเงิน 42,000 บาท จำเลยที่ 3 จึงยังคงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 58,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อโจทก์เป็นเงิน 286,000 บาท นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 3 ต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 266,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 58,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ สำหรับค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้จำเลยที่ 2 นำมาชำระต่อศาลชั้นต้นในนามของโจทก์

Share