คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 485/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม บัญญัติว่า “การยื่นคำร้องตามมาตรานี้อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น…” และมาตรา 296 วรรคสี่ บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง เมื่อได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้…(2) ในกรณีที่คำบังคับหรือหมายบังคับคดีกำหนดให้ใช้เงินเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินตามมาตรา 318 มาตรา 319 มาตรา 320 มาตรา 321 หรือมาตรา 322 แล้วแต่กรณี…” ตามบทบัญญัติมาตรา 296 วรรคสามและวรรคสี่ดังกล่าวบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีในการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โดยสามารถยื่นคำร้องได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีเสร็จลง ซึ่งสำหรับในกรณีการยึดทรัพย์เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้นั้นการจะถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงก็ต่อเมื่อมีการจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ถือไม่ได้ว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้
จำเลยที่ 1 อ้างว่าบ้านเลขที่ 58/2 เป็นบ้านร้าง แต่ตามข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งย้ายทางทะเบียนจากบ้ายเลขที่ 105 หมู่ 6 ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นภูมิลำเนาในขณะที่ถูกโจทก์ยื่นฟ้องไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 58/2 เมื่อปี 2545 ภายหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏว่าได้แจ้งให้โจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแต่อย่างใด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะปิดบังภูมิลำเนาที่แท้จริงของตนเองเพื่อให้เกิดความยุ่งยากในการบังคับคดี กรณีจึงต้องถือว่าบ้านเลขที่ 58/2 เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าพนักงานเดินหมายของกรมบังคับคดีนำประกาศขายทอดตลาดไปปิดไว้ที่บ้านเลขที่ 58/2 ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบวันนัดขายทอดตลาดที่ระบุไว้ในประกาศขานทอดตลาดโดยชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,913,879.11 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,651,051.11 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 27 มกราคม 2537) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์พิพาทที่ดินโฉนดเลขที่ 4396 ตำบลหนองเชียงโคต อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 1 จำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีและแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาด ต่อมาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทโดยผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อได้ในราคา 35,800,000 บาท
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทที่ดินโฉนดเลขที่ 4396 ตำบลหนองเชียงโคต อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2546 ผู้แทนโจทก์แถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 จำนองไว้แก่โจทก์ ขณะยึดเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ที่พิพาทไว้เป็นเงิน 40,168,000 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นอนุญาตให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงกำหนดวันขายทอดตลาดนัดแรกในวันที่ 17 สิงหาคม 2547 เมื่อถึงกำหนดนัดเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์พิพาทออกขายโดยเริ่มที่ราคาร้อยละ 80 ของราคาประเมินซึ่งเท่ากับ 32,200,000 บาท มีผู้เข้าสู้ราคา 2 ราย โดยผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 35,800,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์เป็นประการแรกว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ปัญหานี้ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า “การยื่นคำร้องตามมาตรานี้อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น…” และมาตรา 296 วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่า “เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง เมื่อได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้…(2) ในกรณีที่คำบังคับหรือมายบังคับคดีกำหนดให้ใช้เงิน เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินตามมาตรา 318 มาตรา 319 มาตรา 320 มาตรา 321 หรือมาตรา 322 แล้วแต่กรณี…” ตามบทบัญญัติมาตรา 296 วรรคสามและวรรคสี่ดังกล่าวบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีในการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โดยสามารถยื่นคำร้องได้ไม่ว่าเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง ซึ่งสำหรับในกรณีการยึดทรัพย์เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้นั้นการจะถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงก็ต่อเมื่อได้มีการจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ก็ถือไม่ได้ว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ ฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์เป็นประการต่อไปมีว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบแล้วหรือไม่ ปัญหานี้ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาว่า พนักงานเดินหมายของกรมบังคับคดีนำประกาศขายทอดตลาดไปส่งให้จำเลยที่ 1 ที่บ้านเลขที่ 58/2 หมู่ที่ 3 ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นบ้านเลขที่ตามทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 อ้างว่าบ้านเลขที่ 58/2 เป็นบ้านร้าง แต่ตามข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งย้ายทางทะเบียนจากเลขที่ 105 หมู่ที่ 6 ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นภูมิลำเนาในขณะที่ถูกโจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้ไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 58/2 เมื่อปี 2545 ภายหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏว่าได้แจ้งให้โจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแต่อย่างใด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะปิดบังภูมิลำเนาที่แท้จริงของตนเองเพื่อให้เกิดความยุ่งยากในการบังคับคดี กรณีจึงต้องถือว่าบ้านเลขที่ 58/2 เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าพนักงานเดินหมายของกรมบังคับคดีนำประกาศขายทอดตลาดไปปิดไว้ที่บ้านเลขที่ 58/2 ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบวันนัดขายทอดตลาดที่ระบุไว้ในประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ย้ายไปอยู่ที่อื่นนานแล้วจึงไม่ทราบวันนัดขายทอดตลาดหาได้ไม่ ฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปมีว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดเป็นการยึดทรัพย์เกินกว่าพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดี และค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีหรือไม่ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก่อน สำหรับปัญหานี้เป็นว่าทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 จำนองไว้แก่โจทก์ ทั้งคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องขอให้บังคับจำนองด้วยและศาลก็พิพากษาให้ตามขอ การที่โจทก์แถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดก็เป็นการปฏิบัติไปตามคำพิพากษา จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างไม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายทรัพย์พิพาทโดยไม่เลื่อนวันนัดขายทอดตลาดออกไปเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 อ้างว่าการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ผู้ซื้อทรัพย์ในราคาสูงสุดเพียง 35,800,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีและผู้แทนโจทก์ประเมินไว้ในขณะยึด แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ไม่ได้เลื่อนการขายทอดตลาดออกไป กลับเคาะไม้ขายทรัพย์พิพาทให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง โดยอ้างว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไปเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งการที่จะถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบตามมาตรานี้นั้นจะต้องได้ความว่าก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีได้คัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินสมควรแล้ว เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวได้คัดค้านราคาเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ย่อมมีสิทธิที่จะเคาะไม้ขายทรัพย์พิพาทออกไป ทั้งปรากฏว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของราคาประเมินตามที่กำหนดไว้ในประกาศกรมบังคับคดี เรื่อง นโยบายการขายทอดตลาดทรัพย์สินของกรมบังคับคดี การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุที่เพิกถอนการขายทอดตลาด ฎีกาขอผู้ซื้อทรัพย์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับค

Share