คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 969/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานเจ้าหน้าที่ว่า ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้แก่ตัวโจทก์ไม่ได้เพราะโจทก์เสียชีวิต หากโจทก์ถึงแก่ความตายจริงก็ต้องถือว่าโจทก์ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ คดีจะดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปได้ก็ต่อเมื่อมีบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ และศาลจะต้องมีคำสั่งในการที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนตามนัยมาตรา 42 และ 44 แห่ง ป.วิ.พ. ก่อน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปโดยที่ยังมิได้ดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นการมิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณาตามมาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247 เป็นการไม่ชอบ และการที่โจทก์ถึงแก่ความตายขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ย่อมเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะมีคำสั่งเกี่ยวกับการเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,748,356.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้จนครบถ้วน
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์คืนเงิน 626,514.36 บาท แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ กับให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่จำเลย หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่จำเลย หากโจทก์ไม่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลยให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ในการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2550 ว่า ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้แก่ตัวโจทก์ไม่ได้เพราะโจทก์เสียชีวิต หากโจทก์ถึงแก่ความตายจริงก็ต้องถือว่าโจทก์ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ คดีจะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ก็ต่อเมื่อมีบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ และศาลจะต้องมีคำสั่งในการที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนตามนัยมาตรา 42 และ 44 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก่อน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปโดยที่ยังมิได้ดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นการมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาตามมาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247 เป็นการไม่ชอบ และการที่โจทก์ถึงแก่ความตายขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ย่อมเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะมีคำสั่งเกี่ยวกับการเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์และทำการไต่สวน และส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งและคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเรื่องการเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์และทำการไต่สวน แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งและคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ให้ยกฎีกาของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share