คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 615/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กู้เงินจำเลยและจำนองที่ดินไว้เป็นประกัน ต่อมาโจทก์ออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้จำเลยเพื่อชำระหนี้จำนองดังกล่าวบางส่วน และจำเลยได้รับเงินตามเช็คนั้นแล้วดังนี้ แม้มิได้มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองบางส่วนแต่เมื่อสัญญาจำนองระบุไว้ว่าผู้รับจำนองยินยอมให้แบ่งไถ่ถอนจำนองได้ทั้งการจำนองที่ดินนี้เป็นการจำนองเพื่อประกันเงินกู้ การผ่อนชำระต้นเงินกู้บางส่วนหาต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ผลตามกฎหมายจึงมิใช่ว่าโจทก์มิได้ชำระหนี้เงินกู้ให้จำเลยดังจำเลยอ้าง
กรณีคู่ความซึ่งมีหน้าที่นำสืบพยานภายหลังต้องถามค้านพยานของฝ่ายที่นำสืบก่อนไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 วรรคแรก(ข) นั้น หมายความว่าเพื่อพิสูจน์ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวด้วยการกระทำหรือถ้อยคำ หรือหนังสือซึ่งพยานที่มาเบิกความได้กระทำขึ้น ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายมีหน้าที่นำพยานมาสืบก่อน แต่ตัวโจทก์ซึ่งจำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นผู้ออกเช็คให้ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนที่จะมาเบิกความแม้จะมีผู้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่และได้มาเบิกความต่อศาลก็ตามก็มิใช่ผู้ที่จำเลยออกเช็คให้โดยตรง จึงมิใช่กรณีที่จำเลยต้องถามค้านไว้ก่อนตามบทกฎหมายดังกล่าว
โจทก์ออกเช็คพิพาทให้จำเลยแทนเช็คฉบับก่อนที่จำเลยอ้างว่าหายไปเมื่อปรากฏว่าจำเลยได้นำเช็คฉบับที่อ้างว่าหายนั้นไปขึ้นเงินได้แล้วโจทก์ไม่ต้องรับผิดตามเช็คฉบับพิพาทอีก

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน สำนวนแรกนายบุญเชิดเป็นโจทก์ฟ้องนางขจีเป็นจำเลยว่า โจทก์จำนองที่ดิน 20 โฉนดเพื่อเป็นประกันเงินที่กู้จากจำเลย 200,000 บาท กำหนดไถ่ถอนภายใน 2 ปี และโจทก์ได้สั่งจ่ายเช็ค15 ฉบับ เป็นเงิน 228,000 บาทให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวกับดอกเบี้ยตามสัญญาจำนอง โจทก์ผ่อนชำระต้นเงินกู้ให้จำเลยเป็นเงิน 140,115บาท กับได้ผ่อนชำระดอกเบี้ยเป็นเงิน 33,500 บาท ต่อมาโจทก์ได้นัดให้จำเลยไปรับชำระต้นเงินที่ค้างพร้อมด้วยดอกเบี้ย และรับการไถ่ถอนจำนองกับคืนเช็คทั้ง 15 ฉบับ ณ หอทะเบียนที่ดิน แต่จำเลยไม่ไป จึงขอให้บังคับจำเลยรับชำระต้นเงินที่ค้าง 59,885 บาท ให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินกับคืนเช็คตามฟ้องให้โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ยังไม่ได้ชำระต้นเงินกู้และค้างค่าดอกเบี้ยเป็นเงิน 22,500 บาท เช็ค 15 ฉบับตามฟ้อง โจทก์สั่งจ่ายให้จำเลยเพื่อชำระหนี้รายอื่น ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าดอกเบี้ยที่ค้าง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้ค้างชำระดอกเบี้ย โจทก์ไม่เคยเป็นหนี้จำเลยในหนี้รายอื่น

สำนวนที่สองนางขจีเป็นโจทก์ฟ้องนายบุญเชิดบังคับจำนอง นายบุญเชิดให้การว่าได้ผ่อนชำระต้นเงินจำนองแล้วรวม 140,115 บาท และไม่ได้ผิดนัดในการชำระดอกเบี้ย

สำนวนที่สามนางขจีเป็นโจทก์ฟ้องนายบุญเชิดให้ชำระเงินตามเช็ค 12 ฉบับ เป็นเงิน 219,000 บาท นายบุญเชิดให้การว่า เช็คดังกล่าวจำนวน 11 ฉบับ เป็นเช็คที่ออกให้เพื่อประกันเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญาจำนอง ส่วนอีกฉบับหนึ่งนายบุญเชิดออกให้แทนเช็คซึ่งได้สั่งจ่ายชำระหนี้เงินกู้และนางขจีหลอกลวงว่าหายไป แต่ต่อมาก็ตรวจพบว่าเช็คที่อ้างว่าหายนั้นได้ขึ้นเงินไปแล้ว

สำนวนที่สี่นางขจีฟ้องนางพยุง พุฒกุล ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบุญเชิดให้ชำระเงินตามเช็ค 3 ฉบับ เป็นเงิน 18,000 บาท จำเลยให้การว่าเช็คดังกล่าวไม่มีมูลหนี้

ก่อนสืบพยาน นายบุญเชิดถึงแก่กรรม นางพยุง พุฒกุล ผู้จัดการมรดกร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอนุญาต

ในการพิจารณาเรียกนายบุญเชิด พุฒกุล โดยนางพยุง พุฒกุล ผู้รับมรดกความเป็นโจทก์ และเรียกนางขจีเป็นจำเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับชำระเงินจำนองและดอกเบี้ยที่ค้าง 61,063บาท 18 สตางค์จากโจทก์ ให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดิน 20 โฉนดตามฟ้อง และให้จำเลยคืนเช็ค 15 ฉบับตามฟ้องให้โจทก์ ยกฟ้องแย้งจำเลยและยกฟ้องคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ทั้งสามสำนวน

นางขจีจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

นางขจีจำเลยฎีกาว่า 1. ที่โจทก์อ้างว่าได้ชำระหนี้จำนองบางส่วนแล้วนั้นไม่น่าเชื่อ เพราะโจทก์มิได้มีเอกสารใบรับเงินมาแสดง และแม้สัญญาจำนองจะได้ระบุว่าให้จำเลยยินยอมแบ่งไถ่ถอนจำนองได้ก็ตาม การไถ่ถอนจำนองบางส่วนก็ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะมีผลผูกพันตามกฎหมาย และ 2. เช็ค 15 ฉบับที่โจทก์สั่งจ่ายเชื่อได้ว่าเป็นหนี้รายอื่นมิใช่สั่งจ่ายค้ำประกันหนี้จำนอง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาข้อแรกของจำเลยนั้น ได้พิเคราะห์แล้วโจทก์นำสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารว่าเช็คซึ่งโจทก์สั่งจ่ายให้จำเลยและจำเลยได้รับเงินแล้วคือเช็คเอกสารหมาย จ.5, จ.6, จ.7, จ.9, จ.10, จ.11, จ.12 และจ.25 โดยเฉพาะเช็ค จ.5, จ.6 จำเลยรับว่าได้นำมาคืนโจทก์และรับเงินสดไปแล้วเช็คและเงินสดที่จำเลยได้รับไปจากโจทก์ดังกล่าวนี้จำนวน 19 ครั้ง ตรงกับที่ปรากฏในบัญชีผ่อนชำระหนี้จำนองเอกสารหมาย จ.4 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 140,115 บาท ดังนี้ แม้โจทก์จะมิได้มีเอกสารใบรับเงินมาแสดงดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยเองก็เบิกความรับว่าได้รับเงินตามเช็คเหล่านี้ เพียงแต่อ้างว่าเป็นการชำระหนี้รายอื่น ไม่ใช่ชำระต้นเงินจำนอง หากเป็นค่าดอกเบี้ยจำนองบางส่วน ศาลฎีกาก็เห็นว่าเช็คเหล่านี้เป็นเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายให้จำเลยภายหลังการทำสัญญาจำนองที่ดินตามเอกสารหมาย จ.3 ทั้งสิ้น ที่จำเลยอ้างว่าเป็นเช็คเพื่อชำระหนี้รายอื่นก็มีแต่คำจำเลยเองเพียงปากเดียวปราศจากพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุน ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า จำเลยได้รับเงินผ่อนชำระหนี้จำนองไปจากโจทก์แล้ว 140,115 บาทจริง และถึงแม้ว่าจะไม่มีการไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองบางส่วนก็ตามสัญญาจำนองข้อ 7 ก็ระบุไว้ชัดว่า ผู้รับจำนองคือจำเลยยินยอมให้แบ่งไถ่ถอนจำนองได้ อีกทั้งการจำนองที่ดินรายนี้ก็เป็นการจำนองเพื่อประกันเงินกู้ การผ่อนชำระต้นเงินกู้บางส่วนหาต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ ผลตามกฎหมาย จึงมิใช่ว่าโจทก์มิได้ชำระหนี้ต้นเงินกู้ให้จำเลยดังจำเลยต่อสู้โจทก์จึงยังค้างชำระหนี้ต้นเงินตามสัญญาจำนองกับจำเลยเพียง 59,885 บาทฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

สำหรับฎีกาข้อที่ (2) ของจำเลยนั้น นางพยุง พุฒกุล ภริยานายบุญเชิดโจทก์และผู้รับมรดกความจากโจทก์เบิกความว่า ในการกู้เงินจำเลย 200,000บาทนี้ นอกจากโจทก์ต้องทำสัญญาจำนองที่ดินไว้กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 แล้ว โจทก์ยังต้องสั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.1, จ.2 ให้จำเลยยึดถือเป็นประกันอีกด้วย ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว นายบุญเชิดสั่งจ่ายเช็คหมาย จ.1 เงิน 138,000 บาท และหมาย จ.2 เงิน 200,000 บาท รวม 2 ฉบับเป็นเงิน 338,000 บาท แต่เช็คที่จำเลยฟ้องเรียกเงินจากโจทก์ตามสำนวนที่สามและสำนวนที่สี่รวม 15 ฉบับ รวมเป็นเงิน 237,000 บาท โจทก์นำสืบว่าเช็คที่นายบุญเชิดออกให้จำเลยอีก 15 ฉบับนี้เพื่อแลกกับเช็คหมาย จ.1 และ จ.2เมื่อได้พิเคราะห์ถึงจำนวนเงิน 338,000 บาท กับ 237,000 บาทดังกล่าวแล้วเห็นได้ว่าแตกต่างกันถึง 101,000 บาท ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบอธิบายให้เป็นที่เข้าใจได้ว่า เหตุใดการออกเช็ค 15 ฉบับแทนเช็ค 2 ฉบับแรกจึงได้มีจำนวนเงินแตกต่างกันถึงเพียงนั้น ครั้นพิเคราะห์ถึงข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าเช็ค 15 ฉบับเป็นเรื่องประกันหนี้จำนองราย 200,000 บาทนี้เองมิใช่เรื่องหนี้รายอื่นนั้น ก็ปรากฏจากพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยว่า หลังจากวันที่ 21 กรกฎาคม 2513อันเป็นวันทำสัญญาจำนองหมาย จ.3 แล้ว จำเลยยังได้ออกเช็คหมาย ล.25,ล.28 และ ล.29 ระบุชื่อนายบุญเชิดเป็นผู้รับเงินรวมจำนวนเงินถึง 89,000บาท พยานเอกสารคือเช็คหมาย ล.25, ล.28 และ ล.29 นี้ สอดคล้องต้องกับคำเบิกความของจำเลยว่า นอกจากหนี้จำนองตามเอกสารหมาย จ.3 นายบุญเชิดกับจำเลยยังมีหนี้รายอื่น ๆ ต่อกันอยู่ด้วย ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเกี่ยวกับเช็คหมาย ล.25, ล.28 และ ล.29 นี้ แม้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายมีหน้าที่นำพยานมาสืบภายหลังจะมิได้ถามค้านพยานโจทก์เสียในเวลาที่พยานโจทก์เบิกความก็ตามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 วรรคแรก (ข) นั้นหมายความว่าเพื่อพิสูจน์ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวด้วยการกระทำหรือถ้อยคำ หรือหนังสือซึ่งพยานที่มาเบิกความได้กระทำขึ้น คดีนี้ นายบุญเชิด พุฒกุลผู้ซึ่งจำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นผู้ออกเช็คเหล่านี้ให้ ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนมิได้มาเบิกความต่อศาล และแม้นางพยุง พุฒกุล จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ ทั้งได้เบิกความเป็นพยานต่อศาลก็ตามก็มิใช่ผู้ที่จำเลยออกเช็คดังกล่าวให้โดยตรงฉะนั้น จึงหาใช่กรณีที่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรานี้ไม่ สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่าข้อนำสืบของจำเลยที่ว่าเช็ค 15 ฉบับ โจทก์ออกให้จำเลยเรื่องหนี้รายอื่นจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าข้ออ้างของโจทก์ ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ดังกล่าวข้างต้นนายบุญเชิดเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คทั้ง 15 ฉบับนี้ให้แก่จำเลย จำเลยจึงเป็นผู้ทรงเช็ค เมื่อเช็คเหล่านี้ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน นายบุญเชิดโจทก์ก็ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่จำเลยฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น

แต่เช็คเอกสารหมาย ล.13 อันเป็นเช็คฉบับหนึ่งในจำนวน 15 ฉบับดังกล่าวโจทก์ได้ให้การต่อสู้และนำสืบไว้ด้วยว่า เป็นเช็คที่ออกให้จำเลยแทนเช็คหมาย จ.25ซึ่งจำเลยอ้างว่าหายไป ต่อมาปรากฏว่าจำเลยได้นำเช็ค จ.25 ไปขึ้นเงินแล้ว โจทก์จึงทวงเช็ค ล.13 คืน จำเลยไม่คืนให้ โจทก์ไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจตามเอกสารหมาย จ.27 ในข้อนี้จำเลยเพียงแต่เบิกความปฏิเสธลอย ๆ ว่าเช็ค ล.13มิใช่เช็คที่ออกให้แทน จ.25 แต่จะแทนเช็คฉบับไหนจำเลยมิได้อธิบายไว้ ศาลฎีกาเห็นว่าเช็คหมาย ล.13 และ จ.25 มีจำนวนเงินเท่ากัน และจำเลยยังได้มีหนังสือถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.28 แจ้งว่าได้พบเช็คที่หายไปแล้วอีกด้วย จึงฟังได้ว่ามีการออกเช็คแทนกันจริง และน่าเชื่อว่าเช็ค ล.13 โจทก์ออกให้แทนเช็ค จ.25ตามที่โจทก์นำสืบ เมื่อจำเลยรับว่าได้รับเงินตามเช็ค จ.25 ไปแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดตามเช็ค ล.13 อีก แต่เช็คทั้ง 15 ฉบับที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนจากจำเลยในสำนวนแรก และจำเลยฟ้องให้โจทก์ชำระเงินในสำนวนที่สามและสี่นั้น มีอยู่ฉบับหนึ่งที่ไม่ตรงกัน คือโจทก์มิได้ฟ้องเรียกคืนเช็คหมาย ล.13 ดังกล่าว แต่เรียกคืนเช็คเลขที่ ดี/16,362715 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2515 สั่งจ่ายเงิน 6,000บาท อีกฉบับหนึ่งซึ่งเป็นฉบับที่จำเลยมิได้ฟ้องเรียกเงินจากโจทก์ ดังนั้น ถึงแม้โจทก์จะไม่ต้องรับผิดตามเช็ค ล.13 ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเรียกคืนเช็คดังกล่าว ศาลก็พิพากษาคืนให้แก่โจทก์ไม่ได้

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่เรียกคืนเช็ค 15 ฉบับ ในสำนวนที่หนึ่ง จำเลยไม่ต้องส่งคืนเช็ค 15 ฉบับที่จำเลยฟ้องเรียกเงินจากโจทก์ในสำนวนที่สามและสำนวนที่สี่ ให้โจทก์ใช้เงินตามเช็คในสำนวนที่สามคือเช็คหมาย ล.6 ถึง ล.12, ล.14 ถึง ล.16 และ ล.21 รวม 11 ฉบับยกเว้นเช็คหมาย ล.13 รวมเป็นเงิน 204,000 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละ 7ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จตามที่จำเลยขอมาในฟ้อง และให้โจทก์ใช้เงินตามเช็คในสำนวนที่สี่ คือเช็คหมาย ล.17 ล.18 และ ล.19 ฉบับละ6,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ในจำนวนเงินตามเช็คแต่ละฉบับนับตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน คือวันที่ 23 มิถุนายน2515, 22 พฤษภาคม 2515 และวันที่ 11 กันยายน 2515 ตามลำดับจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share