คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6145/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลาเกิดเหตุ มาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม บัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้นำความดังกล่าวมาใช้กับคู่สมรสและบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาด้วย
จำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจังหวัดนครราชสีมา เขตเลือกตั้งที่ 6 ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ จำเลยและคู่สมรสมีหน้าที่ตามบทบังคับแห่งกฎหมายในอันที่จะต้องไม่กระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยไม่ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม การที่ ก. คู่สมรสของจำเลยเข้าถือหุ้นในบริษัท ป. สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานในการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันจากกระทรวงพลังงานอันมีลักษณะเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและเป็นกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยมีเหตุสิ้นสุดลง จึงส่งเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการต้องห้ามอันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 (6) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามคำวินิจฉัยที่ 12 – 14/2553 ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐตามมาตรา 216 วรรคห้า จำเลยเป็นคู่ความในคดีจึงต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยจงใจกระทำผิดกฎหมายเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดลง เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยว่างลง รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่เป็นเงิน 11,385,447.01 บาท ต้องถือว่าความเสียหายดังกล่าวเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการจงใจกระทำผิดกฎหมายของจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่เป็นค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 หาจำต้องมีบทบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ให้สิทธิโจทก์เรียกค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่จากผู้กระทำผิดได้โดยเฉพาะ จึงจะทำให้การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดดังจำเลยฎีกาไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 12,117,702.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 11,385,447.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 ตุลาคม 2554) ต้องไม่เกิน 732,255.80 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการทั่วไปของคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นการทั่วไป จำเลยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจังหวัดนครราชสีมา เขตเลือกตั้งที่ 6 ภายหลังจากที่จำเลยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นางกาญจนา คู่สมรสของจำเลยถือหุ้นในบริษัทปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สมาชิกวุฒิสภายื่นคำร้องต่อประธานกรรมการการเลือกตั้งว่า คู่สมรสของจำเลยในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 (6) ประกอบมาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าจำเลยกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสมาชิกผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 106 (6) จึงส่งเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการต้องห้ามอันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บริษัทปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยได้รับสัมปทานในการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันจากกระทรวงพลังงาน จึงเป็นบริษัทอันมีลักษณะเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) รัฐธรรมนูญห้ามการเข้าถือหุ้นในบริษัทที่ต้องห้ามโดยไม่ได้ระบุว่า จะต้องถือหุ้นจำนวนเท่าใดและไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีอำนาจบริหารงานหรือครอบงำกิจการหรือไม่ ฉะนั้น การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียวก็ย่อมเป็นการถือหุ้นตามรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ผู้ถือหุ้นจะไม่มีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการก็ตาม การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามการถือหุ้นไว้ชัดเจนก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีช่องทางที่จะใช้หรือถูกใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในทางใดทางหนึ่ง ดังนั้น แม้การซื้อหุ้นของนางกาญจนา คู่สมรสของจำเลยจะเป็นการซื้อในตลาดหลักทรัพย์และแม้จะเป็นการลงทุนระยะสั้นหรือเพื่อเป็นการเก็งกำไรก็ตาม ก็เป็นการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม จำเลยกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 (6) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 12 – 14/2553 เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยว่างลง คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างในวันที่ 13 ธันวาคม 2553 โจทก์เสียค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่นั้นเป็นเงิน 11,385,447.01 บาท สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น จำเลยไม่ได้ยกข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำละเมิดและต้องรับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น มีบัญญัติไว้ชัดเจนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด เช่น ความรับผิดของนายจ้างในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง ความรับผิดของตัวการในการกระทำละเมิดของตัวแทน ความรับผิดของผู้ว่าจ้างในการกระทำละเมิดของผู้รับจ้าง ความรับผิดของบิดามารดาในการกระทำละเมิดของผู้เยาว์ เป็นต้น แต่ไม่มีบทบัญญัติให้สามีภริยาต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อนางกาญจนา คู่สมรสของจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) อันเป็นการกระทำเฉพาะตัวของคู่สมรสจำเลย จำเลยไม่ได้กระทำผิดกฎหมายจึงไม่ได้ทำละเมิดนั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลาเกิดเหตุ มาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม บัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้นำความดังกล่าวมาใช้กับคู่สมรสและบุตรของสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาด้วย จำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจังหวัดนครราชสีมา เขตเลือกตั้งที่ 6 ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จำเลยและคู่สมรสมีหน้าที่ตามบทบังคับแห่งกฎหมายในอันที่จะต้องไม่กระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยไม่ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม การที่นางกาญจนา คู่สมรสของจำเลยเข้าถือหุ้นในบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับสัมปทานในการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันจากกระทรวงพลังงานอันมีลักษณะเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและเป็นกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยมีเหตุสิ้นสุดลง จึงส่งเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการต้องห้ามอันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 (6) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามคำวินิจฉัยที่ 12 – 14/2553 ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐตามมาตรา 216 วรรคห้า จำเลยเป็นคู่ความในคดีจึงต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยจงใจกระทำผิดกฎหมายเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดลง เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยว่างลง รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่นั้นเป็นเงิน11,385,447.01 บาท ก็ต้องถือว่าความเสียหายดังกล่าวเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการจงใจกระทำผิดกฎหมายของจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่นั้น เป็นค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 หาจำต้องมีบทบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ให้สิทธิโจทก์เรียกค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่จากผู้กระทำผิดได้โดยเฉพาะ จึงจะทำให้การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดดังจำเลยฎีกาไม่ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ฎีกาของจำเลยในประการอื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share