คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1339/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บ.เช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์ ต่อมารถยนต์คันพิพาทถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดเป็นทรัพย์ของลูกหนี้ในคดีล้มละลายซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง ป.เป็นบุคคลล้มละลาย โจทก์ได้ร้องขัดทรัพย์ ในการประชุมเจ้าหนี้คดีล้มละลายจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหนี้ผู้มีเสียงข้างมากคัดค้านการขอถอนการยึดรถยนต์คันพิพาท เมื่อปรากฏว่า ขณะที่ทำการยึดรถยนต์คันพิพาทอยู่ภายในบ้านของ ป. แม้ ม.อดีตภริยาของ ป. ซึ่งพักอาศัยอยู่ภายในบ้านดังกล่าวในขณะนั้นอ้างว่าเป็นเจ้าของรถยนต์คันพิพาท รถยนต์คันพิพาทมิใช่ทรัพย์ของ ป. แต่ ม. ก็มิได้แสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของรถยนต์คันพิพาทต่อเจ้าพนักงานผู้ไปทำการยึด พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวมีเหตุให้จำเลยที่ 2 เชื่อว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นของป. หรือ ป. มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอยู่กับม.ด้วย จำเลยที่ 2 จึงชอบที่จะใช้สิทธิคัดค้านการขอให้ถอนการยึดรถยนต์คันพิพาทได้ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปเพียงเพื่อต้องการจะกลั่นแกล้งโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิคัดค้านโดยไม่สุจริตจงใจ หรือประมาทเลินเล่อให้โจทก์เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 จ-5869กรุงเทพมหานคร มาให้นางเมทินี เทศทำนุ เช่าซื้อในราคา367,000 บาท แต่นางเมทินีชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง2 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์อีก โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและติดตามเอารถยนต์คันดังกล่าวคืน แต่ปรากฏว่ารถยนต์ถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดไว้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.3/2528 ของศาลชั้นต้น โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนั้นเป็นผู้นำยึดโจทก์ได้แจ้งและแสดงหลักฐานให้จำเลยทั้งสองทราบว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ให้ขอถอนการยึดและคืนรถยนต์ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยต่อมาจำเลยที่ 1 ขอถอนการยึด แต่จำเลยที่ 2 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตคัดค้านการถอนการยึด จนกระทั่งวันที่ 23 ธันวาคม 2529เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และอธิบดีกรมบังคับคดีมีคำสั่งให้ปล่อยการยึดรถยนต์ของโจทก์ และโจทก์ได้รับรถยนต์คืนเมื่อวันที่15 มกราคม 2530 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ เพราะรถยนต์เป็นทรัพย์สินที่สามารถตรวจสอบหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนได้ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ทราบดี แต่กลับจงใจหรือประมาทเลินเล่อใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 21,400 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2529 ตัวแทนของจำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปยึดรถยนต์คันพิพาทที่จอดอยู่ในบ้านของนายประวัติ เทศทำนุ จำเลยในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.4/2528 ของศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์จำเลยที่ 1 ทราบว่าผู้ครอบครองรถยนต์คันพิพาทคือจากนางเมทินีเทศทำนุ ภริยาของนายประวัติ และนายประวัติเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ทั้งในขณะที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดรถยนต์คันพิพาทนางเมทินีก็ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเข้าใจว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นทรัพย์ของนายประวัติหรือนายประวัติเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย หลังจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดรถยนต์คันพิพาทแล้วจำเลยที่ 1 จึงทราบว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นของโจทก์จำเลยที่ 1ก็ขอถอนการยึด แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติไม่ให้ถอนการ ยึดจำเลยที่ 1 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ แต่ได้ใช้ความระมัดระวังเช่นวิญญูชนที่จะพึงกระทำแล้ว จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า การที่ นางเมทินีชำระเงินค่าเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์ทำให้เจ้าหนี้ของนายประวัติดเสียเปรียบจำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิคัดค้านในการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาว่าควรถอนการยึดรถยนต์คันพิพาทหรือไม่ และการจะถอนการยึดรถยนต์คันพิพาทหรือไม่เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียงผู้เดียว แม้จำเลยที่ 2 จะไม่คัดค้านเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีอำนาจที่จะไม่ให้ถอนการยึดได้ การกระทำของจำเลยที่ 2เป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้ตามกฎหมาย หาเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายจำนวน 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2534 ต่อมาเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2534จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมนายชัยณรงค์ จันทร์วิสุทธิ์ศิริ บุตรของจำเลยที่ 2 ขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบโต้เถียงฟังยุติได้ว่า รถยนต์คันพิพาทถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดเป็นทรัพย์ของลูกหนี้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.4/2528 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องให้นายประวัติ เทศทำนุ เป็นบุคคลล้มละลาย ต่อมาโจทก์ได้ร้องขัดทรัพย์อ้างว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นของโจทก์ มิใช่ของลูกหนี้ในคดีล้มละลายในการประชุมเจ้าหนี้คดีล้มละลาย จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหนี้ผู้มีเสียงข้างมากคัดค้านการขอถอนการยึดรถยนต์คันพิพาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่อาจปล่อยการยึดรถยนต์คันพิพาทในวันนั้นได้ แต่เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทำการไต่สวนแล้วเชื่อว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นของโจทก์จริงจึงได้มีคำสั่งปล่อยการยึดรถยนต์คันพิพาทในเวลาต่อมา คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การคัดค้านการขอถอนการยึดรถยนต์คันพิพาทของจำเลยที่ 2 ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ขณะที่ทำการยึดรถยนต์คันพิพาทอยู่ภายในบ้านของนายประวัติลูกหนี้ในคดีล้มละลาย นางเมทินีอดีตภริยาของนายประวัติซึ่งพักอาศัยอยู่ภายในบ้านหลังนั้น ขณะนั้นอ้างความเป็นเจ้าของรถยนต์คันพิพาทต่อนางสาวอมรา พงศ์ศิริกุล เจ้าพนักงานผู้ไปทำการยึดรถยนต์คันพิพาท และปฏิเสธว่ารถยนต์คันพิพาทมิใช่ทรัพย์ของนายประวัติ แต่นางเมทินีก็มิได้แสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของรถยนต์คันพิพาท ต่อนางสาวอมรา แต่อย่างใด พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวมีเหตุให้จำเลยที่ 2 เชื่อว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นของนายประวัติหรือ นายประวัติมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอยู่กับนางเมทินี ด้วย ฉะนั้น เมื่อโจทก์มายื่นคำร้องขัดทรัพย์ในคดีล้มละลายที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ผู้มีเสียงข้างมากอยู่ ในวันประชุมเจ้าหนี้ จำเลยที่ 2 ก็ชอบที่จะใช้สิทธิคัดค้านการขอให้ถอนการยึดรถยนต์คันพิพาทของโจทก์ได้ การใช้สิทธิคัดค้านของจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปเพียงเพื่อต้องการจะกลั่นแกล้งโจทก์ จึงเรียกไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิคัดค้านโดยไม่สุจริต จงใจ หรือประมาทเลินเล่อให้โจทก์เสียหายการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share