คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6144/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารหมายล.3ที่จำเลยอ้างเป็นเพียงสำเนาภาพถ่ายเอกสารซึ่งไม่ปรากฏว่าผู้มีอำนาจรับรองได้รับรองถูกต้องแล้วหรือโจทก์ตกลงว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวถูกต้องแล้วทั้งไม่ปรากฏว่าต้นฉบับเอกสารไม่ได้เพราะสูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัยหรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่นจึงไม่อาจรับฟังสำเนาภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวได้ โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยต่อเรือตรวจการและรับเรือแล้วแต่เรือชำรุดเสียหายโจทก์ได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกซ่อมแซมเป็นเงิน1,159,330บาทและเรือพิพาทชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้จนถึงวันซ่อมเสร็จประมาณ4ปีเสียหายเป็นเงิน300,000บาทดังนี้เมื่อเรือพิพาทชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่โจทก์มุ่งจะใช้ตามปกติจำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา595ประกอบด้วยมาตรา472

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2524 โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยต่อเรือตรวจการณ์พร้อมอุปกรณ์ ขนาดความยาว 60 ฟุตจำนวน 5 ลำ ขนาดความยาว 86 ฟุต จำนวน 2 ลำ รวมราคา96,050,000 บาท เริ่มทำงานจ้างตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2524และให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 กันยายน 2526 โดยมีข้อตกลงในสัญญาข้อ 6. ว่า เมื่องานเสร็จแล้วผู้ว่าจ้างรับมอบงานจากผู้ร้บจ้าง หากมีเหตุชำรุดเสียหายเกิดขึ้นกับเรือภายในกำหนด1 ปี นับแต่วันที่รับมอบงาน ซึ่งเหตุชำรุดเสียหายดังกล่าวเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้างจะเป็นโดยทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้วัสดุสิ่งของไม่ดีหรือทำไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการผู้รับจ้างต้องแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนดโดยไม่คิดค่าวัสดุ ค่าแรงงาน หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากผู้ว่าจ้างอีก ถ้าผู้รับจ้างไม่แก้ไขภายใน 30 วันนับแต่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้าง หรือเริ่มแก้ไขแล้วแต่ไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนดผู้ว่าจ้างมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำงานจ้างนั้นแทนผู้รับจ้างได้ ผู้รับจ้างต้องจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าวัสดุ ค่าคุมงาน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แทนจำนวนที่ว่าผู้ว่าจ้างต้องเสียไป จำเลยทำงานล่าช้าและส่งมอบเรือตรวจการณ์ทั้ง 7 ลำ ให้โจทก์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2527โจทก์นำเรือตรวจการณ์ทั้ง 7 ลำ ไปใช้ในราชการให้หมายเลขประจำเรือเป็น 612, 613, 614, 615, 616, 810, 811 ต่อมาวันที่26 พฤษภาคม 2527 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยจะต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องและความเสียหายตามสัญญา โจทก์นำเรือตรวจการณ์หมายเลข 616 ใช้ปฏิบัติหน้าที่เครื่องยนต์ด้านซ้ายของเรือเกิดชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้ สาเหตุเพราะจำเลยใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่มีอุปกรณ์ระบายความร้อยภายในเครื่องยนต์ไม่เหมาะสมกับอุณหภูมิในประเทศไทยทำให้อุณหภูมิของน้ำจืดที่หมุนเวียนในเสื้อสูบของเครื่องยนต์สูงเกินระดับจำเป็น กล่าวคือ หม้อดับความร้อนน้ำจืด (คูลเลอร์) กับหม้อดับความร้อนของอากาศ (แอร์คูลเลอร์)เป็นแบบรูทางน้ำทะเลผ่านแบนเล็กน้ำทะเลผ่านมาดับความร้อนน้ำจืดและอากาศไม่เพียงพอ จำเลยได้เปลี่ยนหม้อดับความร้อนอากาศเป็นแบบรูกลมโตกับเรือตรวจการณ์ลำอื่น ๆ ในรุ่นเดียวกันทำให้น้ำทะเลผ่านคล่องตัวขึ้น แต่ไม่ได้เปลี่ยนให้กับเรือตรวจการณ์หมายเลข 616 นอกจากนี้ระบบหล่อลื่นของเครื่องยนต์ซ้ายลูกสูบที่ 2เกิดอุดตัน หรือบิดเบนหัวฉีด น้ำมันหล่อลื่น หรือฉีดน้ำมันหล่อลื่นไม่เพียงพอและน้อยกว่าลูกสูบอื่น ๆ อันมีผลต่อเนื่องจากการระบายความร้อนน้ำจืดในเครื่องยนต์ไม่เพียงพอ ทำให้อุณหภูมิน้ำมันหล่อลื่นสูงขึ้นเกินระดับที่กำหนด เป็นผลให้นำ้มันหล่อลื่นมีความฝืดลดลงการเสียดสีมีความฝืดมากขึ้น ทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัด ลูกสูบซึ่งเป็นโลหะผสมขยายตัว อัดติดแน่นกับกระบอกสูบก้านสูบขาดการบังคับ จึงกระแทกปลอกสูบและเสื้อสูบแตกชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้ สาเหตุทั้งสองประการเกิดขึ้นเพราะจำเลยบกพร่องไม่แก้ไขระบบระบายความร้อยของเครื่องยนต์ โจทก์แจ้งให้จำเลยแก้ไขเครื่องยนต์หลายครั้ง จำเลยทราบแล้วเพิกเฉย วันที่18 กันยายน 2530 โจทก์ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดอู่ต่อเรือสายชลให้ซ่อมเรือตรวจการณ์หมายเลข 616 จำนวน 228 รายการเป็นเงิน 1,659,000 บาท เป็นการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากความบกพร่องของจำเลยจำนวน 109 รายการเป็นเงิน 1,159,330 บาทนับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2527 ซึ่งเป็นวันที่เครื่องยนต์เสียใช้การไม่ได้จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2531 ซึ่งเป็นวันที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอู่ต่อเรือสายชลซ่อมเรือเสร็จและส่งมอบให้โจทก์นับเป็นเวลาเกือบ 4 ปี โจทก์ไม่อาจใช้เรือออกตรวจสืบสวนปราบปรามได้ ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้ 300,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 1,459,330 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระค่าเสียหายแล้วแต่จำเลยไม่ชำระ ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,459,330 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์จ้างจำเลยต่อเรือตรวจการณ์พร้อมอุปกรณ์ จำเลยได้ส่งมอบเรือให้แก่โจทก์ตามสัญญาแล้วเมื่อวันที่2 กุมภาพันธ์ 2527 โจทก์นำเรือทั้ง 7 ลำ ไปใช้ในราชการของโจทก์แล้ว แสดงว่าโจทก์รับมอบเรือไปโดยไม่อิดเอื้อน ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยนำเครื่องยนต์ดีเซลที่มีอุปกรณ์ระบายความร้อยภายในเครื่องยนต์ไม่เหมาะสมกับอุณหภูมิของประเทศไทยมาติดตั้งกับเรือตรวจการณ์หมายเลข 616 ทำให้เกิดความร้อนในเครื่องยนต์สูงและมีผลต่อเนื่องไปถึงระบบหล่อลื่นของเครื่องยนต์ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้นนั้น ไม่เป็นความจริงเพราะเครื่องยนต์ดีเซลที่จำเลยนำมาติดตั้งกับเรือตรวจการณ์หมายเลข 616 นั้นเหมาะสมแล้ว แต่ความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากโจทก์ฯ นำเรือไปใช้โดยมิให้จำเลยตรวจสอบก่อน และโจทก์ใช้เรือโดยมิได้ดูแลบำรุงรักษาให้ถูกต้องตามปกติ ซึ่งเป็นความผิดของโจทก์เอง จำเลยไม่ต้องรับผิด อย่างไรก็ดีกรณีที่ความชำรุดบกพร่องที่จำเลยต้องซ่อมแซม จำเลยได้จัดการซ่อมแซมและส่งมอบเรือให้โจทก์รับไปแล้วโดยไม่อิดเอื้อน การที่โจทก์จ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดอู่ต่อเรือสายชลทำการซ่อมแซมเรือ โจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบและระยะเวลาที่จำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาแล้ว ค่าซ่อมแซมเรือที่โจทก์เรียกมาสูงเกินความเป็นจริง ส่วนค่าขาดประโยชน์ 300,000 บาทโจทก์ได้รับเรือไปใช้ประโยชน์ในราชการของโจทก์แล้วเมื่อเกิดความเสียหายเพราะโจทก์มิได้ดูแลบำรุงรักษาให้ถูกต้องตามปกติจำเลยจึงไม่ต้องรับผิด นอกจากนี้ความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นพ้นกำหนด 1 ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า จำเลยยังมิได้ซ่อมแซมเครื่องยนต์ด้านซ้ายซึ่งชำรุดบกพร่องของเรือพิพาทข้อนี้โจทก์มีพันตำรวจเอกคำนวน แพทย์สมาน ผู้รับมอบอำนาจซึ่งเป็นรองผู้บังคับการกองพลาธิการของโจทก์ ร้อยตำรวจเอกบรรจงอยู่ยิ่ง รองสารวัตรงานจัดหาของ กองกำกับการ 1 กองพลาธิการของโจทก์ กับพันตำรวจเอกเกียรติก้อง นันทกิจรองผู้บังคับการตำรวจน้ำของโจทก์เป็นพยานเบิกความได้ใจความรวมกันว่า เรือพิพาทเกิดชำรุดบกพร่อง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบปรากฏตามเอกสารหมายจ.2 ถึง จ.5 และจำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 29 สิงหาคม 2528ถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.10 ว่า ความเสียหายของโจทก์จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อจำเลยไม่ยอมซ่อมแซมโจทก์จึงจ้างช่างอื่นมาซ่อมแซมจำเลยนำสืบโดยอ้างนาวาเอกพิเศษนิรันดร ชิตานนท์เป็นพยานปากเดียวว่าโจทก์ได้คืนหนังสือค้ำประกันตามสัญญาว่าจ้างเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 (เอกสารหมาย จ.7) ให้จำเลยแล้วปรากฏตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.1 ล.2 จำเลยทำหนังสือค้ำประกันให้โจทก์ไว้หลายฉบับ โดยเอกสารหมาย ล.1 ล.2 เป็นฉบับสุดท้ายซึ่งมีความสำคัญเพราะต้องใช้ในการส่งมอบเรือและเบิกจ่ายเงินค่าเรือภายหลังที่จำเลยส่งมอบเรือพิพาทให้โจทก์และเกิดชำรุดบกพร่องจำเลยได้ซ่อมแซมเรือพิพาท ให้โจทก์แล้ว ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือเอกสารหมาย ล.3 เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 93 บัญญัติว่า การอ้างเอกสารเป็นพยานนั้นให้ยอมรับฟังได้แต่ต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เอกสารหมาย ล.3 เป็นเพียงสำเนาภาพถ่ายเอกสารซึ่งไม่ปรากฏว่าผู้มีอำนาจรับรองได้รับรองถูกต้องแล้ว หรือโจทก์ตกลงว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวถูกต้องแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าต้นฉบับเอกสารหาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่นจึงไม่อาจรับฟังสำเนาภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวได้ ส่วนต้นฉบับเอกสารดังกล่าวจำเลยได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกคำสั่งเรียกไปยังกองบังคับการพลาธิการของโจทก์ ผู้บังคับการกองพลาธิการของโจทก์ตอบศาลชั้นต้นตามหนังสือลงวันที่ 6 มีนาคม 2534 ว่า ไม่ปรากฏว่ามีหนังสือดังกล่าว ซึ่ง ศาลชั้นต้นได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว เอกสารหมาย ล.3 เป็นเอกสารที่จำเลยอ้างว่าพลตำรวจตรีประเสริฐ คุณะศรีเป็นผู้ทำขึ้น แต่จำเลยมิได้นำพลตำรวจตรีประเสริฐมาเบิกความรับรองความถูกต้องแท้จริงของเอกสารแต่อย่างใด นาวาเอกพิเศษนิรันดรก็เบิกความแต่เพียงว่าได้ขอถ่ายภาพเอกสารหมาย ล.3มาเท่านั้น ไม่ชัดแจ้งว่าถ่ายมาจากใครเมื่อใด และนาวาเอกพิเศษนิรันดรเองก็ไม่รู้จักพลตำรวจตรีประเสริฐ พยานหลักฐานของจำเลยจึงเลื่อนลอยข้อเท็จจริงไม่พอฟังว่าเอกสารหมาย ล.3 มีต้นฉบับเอกสารที่แท้จริง ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ได้คืนหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย ล.1 ล.2 ให้จำเลยแล้ว เห็นว่า หนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย ล.1 ล.2 เป็นหนังสือค้ำประกันซึ่งจำเลยขอให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ค้ำประกันการรับเงินตามสัญญางวดที่ 9 และงวดที่ 10 ไม่ใช่หนังสือค้ำประกันตามสัญญาเอกสารหมายจ.7 ข้อ 3 และตามเอกสารหมาย ล.1 ล.2 นางพัชรินทร์ หงษ์สุวรรณเจ้าหน้าที่ของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด รับไว้ตั้งแต่วันที่19 เมษายน 2527 แต่จำเลยส่งมอบเรือพิพาท ให้โจทก์เมื่อวันที่2 กุมภาพันธ์ 2527 จึงเป็นการส่งมอบเอกสารหมาย ล.1 ล.2 คืนหลังการส่งมอบเรือพิพาทเพียง 2 เดือนเศษ ซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยยังต้องรับผิดตามสัญญาเอกสารหมาย จ.7 ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังได้ว่าการที่จำเลยส่งมอบเอกสารหมาย ล.1 ล.2 คืนแสดงว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาเอกสารหมาย จ.7 ครบถ้วนแล้ว โจทก์มีพยานบุคคลและพยานเอกสารยืนยันว่า จำเลยยังไม่ได้ซ่อมแซมเรือพิพาทพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อ ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยขัดต่อเหตุผลไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อดังวินิจฉัยข้างต้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยยังไม่ได้ซ่อมแซมเรือพิพาทให้โจทก์
ในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายโจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดอู่ต่อเรือสายชลซ่อมแซมเรือพิพาทตั้งแต่รายการที่ 15 ถึง 123 เป็นเงิน 1,159,330 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 และเรือพิพาทชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้ จนถึงวันซ่อมแซมเสร็จเป็นเวลาประมาณ 4 ปี ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 300,000 บาท เห็นว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 6จำเลยมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าซ่อมแซมดังกล่าวให้โจทก์ และเมื่อเรือพิพาทชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่โจทก์มุ่งจะใช้ตามปกติ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 595 ประกอบด้วยมาตรา 472 ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมา300,000 บาท เหมาะสมแก่พฤติการณ์ในคดีแล้ว และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยชำระค่าเสียหายแล้วจำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ในระหว่างผิดนัดด้วย แต่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง จึงกำหนดให้เท่าที่โจทก์ขอ
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 1,459,330 บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ

Share