คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6142/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะจำเลยกระทำความผิด การเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 62 ตรี ต้องรับโทษตามมาตรา 106 ตรี ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97(พ.ศ. 2539)ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ เดิมทุกฉบับและให้วัตถุออกฤทธิ์ที่ระบุชื่อในบัญชีท้ายประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวมิได้ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์อีกต่อไป ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศลำดับที่ 20 ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ เท่านั้น จึงมีผลให้การเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 57ต้องรับโทษตามมาตรา 91 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาทไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ อีกต่อไป อันเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 วรรคหนึ่ง เมื่อระวางโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ มาตรา 106 ตรี และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 91 ต่างเป็นคุณต่อผู้กระทำความผิดคือถ้าดูในโทษขั้นสูงแล้วพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ มาตรา 106 ตรีเป็นคุณกว่า เพราะจำคุกอย่างสูงเพียงห้าปี แต่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 91 ลงโทษอย่างสูงได้ถึงสิบปีแต่ถ้าดูโทษขั้นต่ำแล้ว พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯมาตรา 91 เป็นคุณกว่าเพราะจำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปแต่พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯมาตรา 106 ตรี จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ฉะนั้นถ้าศาลลงโทษจำคุกในอัตราขั้นสูงต้องใช้พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ เพราะเป็นคุณแก่จำเลยแต่ถ้าจะจำคุกจำเลยในอัตราขั้นต่ำต้องใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ เพราะเป็นคุณแก่จำเลย คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วางโทษจำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน การวางโทษอยู่ในระดับที่ใช้กฎหมายขณะกระทำความผิด คือ พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ ก็ได้ หรือใช้กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด คือ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯก็ได้ เช่นนี้ควรใช้กฎหมายขณะกระทำความผิดที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ จึงชอบแล้ว ข้อหาความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพวัตถุออกฤทธิ์ ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง,157 ทวิ วรรคหนึ่งนั้น เมื่อภายหลังการกระทำความผิดเมทแอมเฟตามีนไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทแต่ได้เปลี่ยนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539)และ พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ไม่มีบทบัญญัติลงโทษผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษดังเช่น พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ปัญหานี้แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185,215 และ 225 การเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถยนต์ในทางสาธารณะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุเป็นผลให้บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บล้มตายซึ่งเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม นับได้ว่าเป็นภยันตรายที่ร้ายแรงปรากฏให้เห็นเป็นประจำในสังคมปัจจุบัน การลงโทษสถานหนักโดยให้จำคุกเป็นมาตรการหนึ่งในการป้องกันและปรามปรามหยุดยั้งมิให้มีการกระทำความผิดเช่นนี้อีก จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อได้เสพเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2ขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถโดยเป็นผู้ขับรถโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62 ตรี พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 102 (3 ตรี), 127 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ และสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่และจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 4, 6, 62 ตรี, 106 ตรี พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ตรี), 127 ทวิพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ,157 ทวิ (ที่ถูกมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคหนึ่ง)การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62 ตรี, 106 ตรี จำคุก 1 ปีปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30, พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษปรับและไม่รอการลงโทษจำคุก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ขอให้รอการลงโทษและกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ขณะกระทำความผิด การเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 ตรีต้องรับโทษตามมาตรา 106 ตรี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 79 (พ.ศ. 2539) ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 เดิมทุกฉบับและให้วัตถุออกฤทธิ์ที่ระบุชื่อในบัญชีท้ายประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวไม่มีระบุว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์อีกต่อไป ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศลำดับที่ 20 ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เท่านั้น จึงมีผลให้การเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57ต้องรับโทษตามมาตรา 91 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 อีกต่อไปอันเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณ แก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 วรรคหนึ่ง พิเคราะห์แล้ว ระวางโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 ตรี และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 ต่างเป็นคุณต่อผู้กระทำความผิด คือถ้าดูในโทษขั้นสูงแล้วพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 ตรีเป็นคุณกว่า เพราะจำคุกอย่างสูงเพียงห้าปี แต่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 ลงโทษอย่างสูงได้ถึงสิบปีแต่ถ้าจะดูโทษขั้นต่ำแล้วพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 91 เป็นคุณกว่าเพราะจำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป แต่พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 106 ตรี จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปกรณีเช่นนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าศาลจะลงโทษจำคุกในอัตราขั้นสูงต้องใช้พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 เพราะเป็นคุณแก่จำเลยแต่ถ้าจะจำคุกจำเลยในอัตราขั้นต่ำต้องใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพราะเป็นคุณแก่จำเลย คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วางโทษจำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน การวางโทษอยู่ในระดับที่ใช้กฎหมายขณะกระทำความผิดคือ พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ก็ได้หรือใช้กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดคือพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ก็ได้ เช่นนี้ควรใช้กฎหมายขณะกระทำความผิด ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยมาตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 จึงชอบแล้ว
ส่วนข้อหาความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคหนึ่งนั้น เมื่อภายหลังการกระทำความผิดเมทแอมเฟตามีนไม่เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แต่ได้เปลี่ยนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ไม่มีบทบัญญัติลงโทษผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษดังเช่นพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ปัญหานี้แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185, 215 และ 225
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า การเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถยนต์ในทางสาธารณะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นผลให้บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บล้มตายซึ่งเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม อันนับได้ว่าเป็นภยันตรายที่ร้ายแรงปรากฏให้เห็นเป็นประจำในสังคมปัจจุบัน การลงโทษสถานหนักโดยให้จำคุกเป็นมาตรการหนึ่งในการป้องกันและปราบปรามหยุดยั้งมิให้มีการกระทำความผิดเช่นนี้อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รอการลงโทษ จำคุกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง,157 ทวิ วรรคหนึ่ง และให้ยกคำขอพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนด 6 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share