คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6121/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าของโจทก์ และใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยประมาณ 3 ปี ทั้งสินค้าของโจทก์อยู่ในรูปวัตถุดิบ ไม่ได้จำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป แตกต่างจากสินค้าของจำเลยที่เป็นสินค้าสำเร็จรูป ลูกค้าของโจทก์และลูกค้าของจำเลยจึงเป็นคนละประเภท นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปซึ่งมีลักษณะประกอบด้วยรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นทึบ 2 รูป เท่า ๆ กันวางอยู่ใต้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทึบซึ่งมีด้านยาวขนาดเดียวกับรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 2 รูป วางเรียงกันส่วนด้านกว้างมีความยาวเท่ากับรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และระหว่างรูปสี่เหลี่ยมทั้ง 3 รูปนั้น โจทก์จงใจให้เกิดช่องว่างเป็นรูปอักษร T ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นอักษรต้นของชื่อโจทก์ แต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเพียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นทึบ 4 รูปเท่ากันวางเรียงกันในลักษณะสมดุล อยู่ข้างบน 2 รูป ข้างล่าง 2 รูป และระหว่างรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 4 รูป มีช่องว่างเป็นรูปเส้นตรง 2 เส้น ตัดกันเป็นมุมฉากไม่มีใครเรียกสินค้าของจำเลยว่า ยาตราสี่เหลี่ยม และในการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยมักจะใช้ชื่อจำเลยคำว่า CHINTA ประกอบด้วย ทำให้บางครั้งลูกค้าเรียกสินค้ายาของจำเลยว่า ยาชินต้า จึงมิใช่กรณีที่เครื่องหมายการค้าทั้งสองนี้มีการเรียกขานเหมือนกัน และช่องว่างของรูปสี่เหลี่ยมพื้นทึบในเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวไม่มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ ความหมายอยู่ที่รูปสี่เหลี่ยมซึ่งหมายถึงทิศทั้งสี่เท่านั้น เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีรูปลักษณ์ของรูปสี่เหลี่ยมจำนวนรูปสี่เหลี่ยมรวมทั้งช่องว่างระหว่างรูปสี่เหลี่ยมที่มีการประดิษฐ์แตกต่างกัน ไม่ได้เรียกขานเหมือนหรือคล้ายกัน ตามพฤติการณ์ดังกล่าวสาธารณชนย่อมสามารถสังเกตข้อแตกต่างได้ไม่ยาก นอกจากนี้ลูกค้าก็เป็นกลุ่มคนคนละประเภท ทั้งโจทก์ได้ใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นี้ในต่างประเทศมาก่อนจำเลย มิใช่กรณีที่เป็นการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีรูปสี่เหลี่ยมเป็นส่วนประกอบสำคัญก็ตาม ดังนี้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 255831 ของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเลขที่ 282844 ทะเบียนเลขที่ ค. 27718 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า และให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 255831 ของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 282844 ทะเบียนเลขที่ ค. 27718 ของจำเลยจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 255831 ของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามทะเบียนเลขที่ ค. 27718 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ นายรุทรผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2463 และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า TAKASAGO เครื่องหมายการค้ารูปอักษร T ประดิษฐ์ในสี่เหลี่ยมพื้นทึบและเครื่องหมายการค้าคำว่า TAKASAGO ประกอบรูปอักษร T ประดิษฐ์ในสี่เหลี่ยมในลักษณะต่างๆ อีก 2 รูป สินค้าของโจทก์เป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงาน โจทก์ไม่ได้จำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป กิจการของโจทก์มีอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น โจทก์คิดประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี 2525 โดยนำมาจากอักษรต้นของชื่อโจทก์ และโจทก์นำไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2525 และได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2527 นอกจากนี้โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2525 เป็นต้นมา และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศต่างๆ ประมาณ 122 ประเทศ สำหรับในประเทศไทยโจทก์ได้จำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านี้มาตั้งแต่ปี 2531 และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ 3 คำขอ เมื่อปี 2536 บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายรุทรดังกล่าวมีใจความเช่นเดียวกับหนังสือถ้อยแถลงของนายทากาซิ เคโต ผู้อำนวยการ โจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าว และใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของโจทก์มาตั้งแต่ปี 2525 ก่อนจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค. 27718 ประมาณ 3 ปี ทั้งสินค้าของโจทก์อยู่ในรูปวัตถุดิบ ไม่ได้จำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งแตกต่างจากสินค้าของจำเลยที่เป็นสินค้าสำเร็จรูป ดังนั้น ลูกค้าของโจทก์และลูกค้าของจำเลยจึงเป็นคนละประเภท นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูป ซึ่งมีลักษณะประกอบด้วยรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นทึบ 2 รูป เท่าๆ กันวางอยู่ใต้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นทึบซึ่งมีด้านยาวขนาดเดียวกับรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 2 รูป วางเรียงกัน ส่วนด้านกว้างมีความยาวเท่ากับรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และระหว่างรูปสี่เหลี่ยมทั้ง 3 รูป นั้น โจทก์จงใจให้เกิดช่องว่างเป็นรูปอักษร T ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นอักษรต้นของชื่อโจทก์แต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยคือเครื่องหมาย เป็นเพียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นทึบ 4 รูป เท่ากันวางเรียงกันในลักษณะสมดุล อยู่ข้างบน 2 รูป ข้างล่าง 2 รูป และระหว่างรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 4 รูป มีช่องว่างเป็นรูปเส้นตรง 2 เส้น ตัดกันเป็นมุมฉาก นายประเสริฐกรรมการบริษัทจำเลยก็เบิกความยอมรับว่าไม่มีใครเรียกสินค้าของจำเลยว่า ยาตราสี่เหลี่ยม และในการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยมักจะใช้ชื่อจำเลยคำว่า CHINTA ประกอบด้วย ทำให้บางครั้งลูกค้าเรียกสินค้ายาของจำเลยว่า ยาชินต้า จึงมิใช่กรณีที่เครื่องหมายการค้าทั้งสองนี้มีการเรียกขานเหมือนกันแต่อย่างใด และนายประเสริฐยังเบิกความอีกว่า ช่องว่างของรูปสี่เหลี่ยมพื้นทึบในเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวนี้ไม่มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ ความหมายอยู่ที่รูปสี่เหลี่ยมซึ่งหมายถึงทิศทั้งสี่เท่านั้น เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีรูปลักษณ์ของรูปสี่เหลี่ยม จำนวนรูปสี่เหลี่ยมรวมทั้งช่องว่างระหว่างรูปสี่เหลี่ยมที่มีการประดิษฐ์แตกต่างกัน ไม่ได้เรียกขานเหมือนหรือคล้ายกัน ตามพฤติการณ์ดังกล่าวสาธารณชนย่อมสามารถสังเกตข้อแตกต่างได้ไม่ยาก นอกจากนี้ลูกค้าก็เป็นกลุ่มคนคนละประเภท ทั้งโจทก์ได้ใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นี้ในต่างประเทศมาก่อนจำเลย มิใช่กรณีที่เป็นการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ดังนั้นแม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีรูปสี่เหลี่ยมเป็นส่วนประกอบสำคัญก็ตาม เครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามทะเบียนเลขที่ ค.27718 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share