คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 48/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้านครหลวง พ.ศ.2501 มีผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์เป็นเจ้าของสายไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้าที่ถูกจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์เกี่ยวรั้งและเฉี่ยวชนเสียหาย เมื่อ ท. นิติกร กองคดี ฝ่ายกฎหมายของโจทก์เสนอขออนุมัติดำเนินคดีแพ่งแก่จำเลยทั้งสาม และผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการแทนผู้ว่าการอนุมัติให้ดำเนินการตามเสนอในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 จึงถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว นับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2547 อันเป็นวันฟ้องยังไม่พ้น 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 การที่นายตรวจเวรของโจทก์ ได้ร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจในวันเกิดเหตุ และผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้ตรวจสอบทราบว่ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับเป็นของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว ต่อมาผู้อำนวยการกองคดีของโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายแล้วจำเลยที่ 3 มีหนังสือถึงโจทก์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2543 เพื่อเจรจาค่าเสียหายนั้นก็เป็นเพียงการปฏิบัติไปตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ไปตามลำดับขั้นตอน ก่อนเสนอเรื่องไปถึงผู้ว่าการหรือผู้ปฏิบัติการแทนในฐานะผู้แทนของโจทก์เท่านั้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2541 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 82-9517 ชลบุรี ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างและกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไปตามถนนรัตนาธิเบศร์และแวะจอดเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันเชลล์ และด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 เติมน้ำมันเสร็จได้ขับรถออกจากปั๊มน้ำมันเชลล์ เป็นเหตุให้รถยนต์เกี่ยวรั้งสายไฟฟ้าและเสียหลักเฉี่ยวชนอุปกรณ์หม้อแปลงไฟฟ้าของโจทก์เสียหายคิดเป็นเงิน 17,434.92 บาท จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 82-9517 ชลบุรี ไว้จากจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 24,940.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 17,434.92 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำรเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำให้การว่า เหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2541 โจทก์ทราบถึงเหตุละเมิดและผู้ที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายในวันดังกล่าว แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากนั้นเป็นเวลา 5 ปี 8 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ความเสียหายมีเฉพาะสายไฟฟ้าเท่านั้นเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสามให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เสียเกิน 200 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น เริ่มนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 คดีนี้ผู้ต้องเสียหายคือโจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ.2501 มีผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางทัศนีย์ นิติกร กองคดีฝ่ายกฎหมายของโจทก์เสนอขออนุมัติดำเนินคดีแพ่งแก่จำเลยทั้งสามและผู้ช่วยผู้ว่าการ ปฏิบัติการแทนผู้ว่าการอนุมัติให้ดำเนินการตามเสนอในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 จึงถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว นับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2547 อันเป็นวันฟ้องยังไม่พ้น 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ การที่นายตรวจเวรของโจทก์ ได้ร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจในวันเกิดเหตุ และผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้ตรวจสอบทราบว่ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับเป็นของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว ต่อมาผู้อำนวยการกองคดีของโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายแล้วจำเลยที่ 3 มีหนังสือถึงโจทก์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2543 เพื่อเจรจาค่าเสียหายนั้นก็เป็นเพียงการปฏิบัติไปตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ไปตามลำดับขั้นตอน ก่อนเสนอเรื่องไปถึงผู้ว่าการหรือผู้ปฏิบัติการแทนในฐานะผู้แทนของโจทก์เท่านั้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตั้งแต่วันดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share