แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาให้บริการเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จะต้องให้บริการเป็นผู้ประสานงานส่งข้อมูลขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่ระบุไว้เพื่อขอความช่วยเหลือที่รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ และเมื่อปรากฏว่าเครื่องส่งสัญญาณเอส.โอ.เอส. ที่จำเลยที่ 2 ติดตั้งไว้ที่เครื่องบริการเงินด่วนของธนาคาร ท. ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังศูนย์ข้อมูลของจำเลยที่ 2 เนื่องจากถูกคนร้ายงัดทำลายเข้าไปในเครื่องบริการเงินด่วนแล้ว เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2ละเลยไม่แจ้งเหตุร้ายต่อไปยังสถานีตำรวจท้องที่เพื่อขอความช่วยเหลือตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญา จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติผิดสัญญาต่อธนาคาร ท. ผู้ซื้อบริการ แต่การที่จำเลยที่ 2 ละเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อธนาคาร ท. คู่สัญญาเพราะการละเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาในกรณีดังกล่าวมิได้เป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายต่อบุคคลอื่น เป็นเหตุให้เขาเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยวินาศภัยในความเสียหายของเงินสดในเครื่องบริการเงินด่วน ของธนาคาร ท. ที่ถูกคนร้ายลักไป ได้ใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยไปแล้วมาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากเจ้าหนี้ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 880 วรรคแรก เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาว่าหากจำเลยที่ 2 ผิดสัญญา จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ธนาคาร ท. สัญญาให้บริการเป็นเพียงสัญญาให้บริการแก่ธนาคาร ท. เพื่อช่วยป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินของธนาคารอีกทางหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่สัญญา ที่จำเลยที่ 2 ตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่ธนาคาร ท.ในกรณีที่ทรัพย์สินของธนาคารถูกโจรกรรม ธนาคาร ท.คงมีสิทธิตามสัญญาข้อ 3 ที่กำหนดให้ธนาคาร ท. ได้รับการประกันตามขอบข่ายของกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัท ค.ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันภัยได้ระบุว่า ธนาคาร ท.ผู้ใช้บริการเป็นผู้เอาประกันภัยด้วย ดังนั้น ธนาคาร ท.จึงไม่มีสิทธิตามสัญญาที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อเรียกค่าเสียหายตามจำนวนเงินที่ถูกคนร้ายลักไปได้ และโจทก์ย่อมไม่อาจรับช่วงสิทธิของธนาคาร ท. มาฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,184,200 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า เงินที่ถูกคนร้ายโจรกรรมไปมิใช่สาเหตุมาจากเครื่องหรือจากการให้บริการของจำเลยที่ 2 การให้บริการรับส่งข้อมูลเตือนภัย เอส.โอ.เอส. เป็นเพียงการประสานงานและเสริมด้านความปลอดภัยเพิ่มขึ้นให้กับผู้ใช้บริการไม่ครอบคลุมถึงความรับผิดชอบด้านทรัพย์สินสิทธิตามสัญญาให้บริการเป็นสิทธิเฉพาะตัว โจทก์ไม่สามารถรับช่วงได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยโดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งฟังเป็นยุติได้ว่าเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2533 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดสำนักงานใหญ่ กับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาให้บริการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณ เอส.โอ.เอส. (สัญญาณกันขโมย) ไว้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสนามบินน้ำ ต่อมาวันที่1 มกราคม 2534 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สำนักงานใหญ่ได้เอาประกันภัยสถานที่ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดสาขาสนามบินน้ำ และเงินสดในเครื่องบริการเงินด่วน(เครื่อง เอ.ที.เอ็ม.) ในสถานที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์วันที่ 21 มกราคม 2534 เวลากลางคืนในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยมีคนร้ายงัดทำลายเข้าไปในเครื่องบริการเงินด่วนดังกล่าว แล้วลักเอาเงินสดในเครื่องไป 1,184,200 บาท โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเงินสดในเครื่องบริการเงินด่วนได้ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าโจทก์มีอำนาจรับช่วงสิทธิของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาข้อความในสัญญาให้บริการของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.6 ประกอบคำเบิกความของนายสินชัย ไชยศิริพุ่มศีรี ผู้จัดการสำนักงานบริการอีเลคโทรนิคของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สำนักงานใหญ่แล้วน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 2 ได้ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณเอส.โอ.เอส. แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เพื่อใช้บริการแจ้งเหตุร้ายที่ได้เกิดขึ้นกับเครื่องบริการเงินด่วนของธนาคารเพื่อขอความช่วยเหลือแล้ว ข้อโต้เถียงของจำเลยที่ 2 ว่าได้ติดตั้งให้ธนาคารทดลองใช้ก่อนโดยยังไม่เรียกเงินค่าบริการเป็นการฝ่าฝืนข้อความในสัญญา ไม่อาจรับฟังได้ และเชื่อได้ว่าในคืนเกิดเหตุเครื่องส่งสัญญาณทำงานและข้อมูลได้ถูกส่งไปยังศูนย์ข้อมูลของจำเลยที่ 2 ด้วยกลไกของเครื่องดังกล่าวข้อปฏิเสธของจำเลยที่ 2 ไม่มีเหตุผลที่จะรับฟัง ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังดังที่จำเลยที่ 2 ต่อสู้
ปัญหาต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการผิดสัญญาหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดต่อธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดหรือไม่ ตามสัญญาให้บริการเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 1 ระบุว่า”บริษัท (จำเลยที่ 2) รับบริการโดยเป็นผู้ประสานงานในการส่งข้อมูลของผู้ซื้อ (ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด) จากเครื่องส่งสัญญาณเอส.โอ.เอส. ไปยังสถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง โรงพยาบาลฯลฯด้วยเครื่องมือทางอีเล็คโทรนิคและคอมพิวเตอร์ โดยมุ่งหมายว่าหน่วยงานดังกล่าวข้างต้นจะได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือจากผู้ซื้อด้วยความรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” ดังนั้นเมื่อเครื่องส่งสัญญาณ เอส.โอ.เอส. ทำงานส่งสัญญาณแจ้งเหตุร้ายขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จะต้องให้บริการเป็นผู้ประสานงานส่งข้อมูลขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่ระบุไว้เพื่อขอความช่วยเหลือที่รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ แต่เมื่อปรากฏว่าเครื่องส่งสัญญาณ เอส.โอ.เอส. ที่จำเลยที่ 2ติดตั้งไว้ที่เครื่องบริการเงินด่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดสาขาสนามบินน้ำ ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังศูนย์ข้อมูลของจำเลยที่ 2 เนื่องจากถูกคนร้ายงัดทำลายเข้าไปในเครื่องบริการเงินด่วนแล้วเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ละเลยไม่แจ้งเหตุร้ายต่อไปยังสถานีตำรวจท้องที่เพื่อขอความช่วยเหลือตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญา จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติผิดสัญญาต่อธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ผู้ซื้อบริการ แต่การที่จำเลยที่ 2 ละเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด คู่สัญญาเพราะการละเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาในกรณีนี้แม้จะเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายต่อบุคคลอื่นเป็นเหตุให้เขาเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 คดีนี้โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยวินาศภัยในความเสียหายของเงินสดในเครื่องบริการเงินด่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสนามบินน้ำที่ถูกคนร้ายลักไปได้ใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยไปแล้วมาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากเจ้าหนี้ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า”ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น เพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใดผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น” จึงต้องวินิจฉัยต่อไปว่าธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ตามสัญญาให้บริการเอกสารหมาย จ.6เพียงใดหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาให้บริการดังกล่าวข้อ 1 มีใจความว่า บริษัท (จำเลยที่ 2) รับบริการโดยรับเป็นผู้ประสานงานในการส่งข้อมูลจากผู้ซื้อ (ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด)จากเครื่องส่งสัญญาณ เอส.โอ.เอส. ไปยังสถานีตำรวจฯลฯ ด้วยเครื่องมือทางอีเล็คโทรนิคและคอมพิวเตอร์โดยมุ่งหมายว่าหน่วยงานดังกล่าวจะได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือจากผู้ซื้อด้วยความรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและข้อ 3มีใจความว่า ผู้ซื้อ (ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด) ได้รับการประกันตามขอบข่ายของกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทคอมเมอร์เชี่ยลยูเนี่ยนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัดตามกรมธรรม์ประกันที่ระบุไว้ในสัญญาฉบับดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาว่าหากจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด และเป็นจำนวนเท่าไร เมื่อคำนึงถึงจำนวนค่าบริการรายปีเป็นเงิน2,500 บาท ประกอบด้วยแล้ว เห็นว่า สัญญาตามเอกสารหมาย จ.6เป็นเพียงสัญญาให้บริการแก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เพื่อช่วยป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินของธนาคารอีกทางหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่สัญญาที่จำเลยที่ 2 ตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ในกรณีที่ทรัพย์สินของธนาคารถูกโจรกรรม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด คงมีสิทธิตามสัญญาข้อ 3ที่กำหนดให้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ได้รับการประกันตามขอบข่ายของกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทคอมเมอร์เชี่ยลยูเนี่ยนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัดซึ่งตามกรมธรรม์ประกันภัยได้ระบุว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดผู้ใช้บริการเป็นผู้เอาประกันภัยด้วย ดังนั้น ตามสัญญาดังกล่าวธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อเรียกค่าเสียหายตามจำนวนเงินที่ถูกคนร้ายลักไปได้ ส่วนที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด จะมีสิทธิฟ้องร้องบริษัทคอมเมอร์เชี่ยลยูเนี่ยนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัดได้เพียงใด ตามสัญญาดังกล่าวข้อ 3 นั้น โจทก์ก็มิได้ฟ้องและนำสืบมาจึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่อาจรับช่วงสิทธิของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มาฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์