คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6113/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลที่จะพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้โดยไม่ต้องบังคับต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีเช่นนี้ ในขั้นตอนภายหลังจากที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าสั่งให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้จดทะเบียนไว้แล้วได้เป็นอีกกรณีหนึ่ง ต่างหากจากกรณีที่จะใช้สิทธิคัดค้านในระหว่างการพิจารณาคำขอจดทะเบียนของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยไม่มีบทบัญญัติจำกัดว่าการใช้สิทธิตามมาตรา 67 นี้จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ใช้สิทธินั้นได้คัดค้านในชั้นพิจารณาคำขอจดทะเบียนของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วแต่อย่างใด
การแจ้งและการรับแจ้งลงในบัญชีแสดงการรับแจ้งเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติบังคับให้เจ้าของเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปต้องแจ้งและมีการลงบัญชีเช่นว่านี้ โดยหากไม่แจ้งไว้ให้ถือว่าไม่เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปแต่อย่างใด
เมื่อเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่ใช้คำว่า “Watson’s” และ “Watsons” เป็นสาระสำคัญโดยการเห็นคำดังกล่าวและเรียกขานคำดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญในการสังเกตจดจำว่าเป็นเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่จดทะเบียนไว้ก็มีคำว่า “Watson” เป็นสาระสำคัญแม้จะมีอักษรโรมันว่า “WS” ในเส้นวงรีประกอบก็มีลักษณะเป็นอักษรย่อของคำว่า “Watson” นั่นเอง และมีลักษณะเครื่องหมายการค้าที่มีส่วนสำคัญในการสังเกตและเรียกขานที่คำว่า “Watson” เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ดังกล่าว จึงย่อมมีเหตุที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเดียวกันได้ ทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 662878 แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังไม่มีคำสั่งให้จดทะเบียน จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้เสียเองจึงไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่าจำเลยที่ 1 การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนนี้ของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ได้เพื่อมิให้เสียหายแก่โจทก์ต่อไป โดยหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติก็ชอบที่จะใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1
คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งอัตราค่าทนายความที่ศาลจะกำหนดให้แก่ผู้ชนะคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องไม่เกิน 3,000 บาท ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความแทนโจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท จึงไม่ถูกต้องแม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เมื่อเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “Watson” ดีกว่าจำเลย และให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค 164720 ค 172866 ค 179393 และคำขอเลขที่ 662878 และเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของจำเลยทั้งสอง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค 179393 ค 172866 ค 164720 และคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 662878 และห้ามจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นประการแรกว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้โดยโจทก์ไม่ได้ฟ้องนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและโจทก์ไม่ได้คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ในชั้นการพิจารณาดำเนินการของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นการฟ้องจำเลยทั้งสองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ในเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่มีคำว่า “Watson” ตามที่จำเลยที่ 1 ได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ใช้คำดังกล่าวและคล้ายกับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 อันเป็นคำฟ้องที่มีข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา เพื่อการใช้สิทธิฟ้องต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 ซึ่งตามคำฟ้องและบทกฎหมายดังกล่าวย่อมมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยถึงสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยตามข้อกล่าวอ้างในคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 โต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 67 ดังกล่าว จึงชอบที่โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ทั้งบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 ดังกล่าวก็บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลที่จะพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้โดยไม่ต้องบังคับต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และบทกฎหมายมาตรา 67 นี้ก็เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีเช่นนี้ในขั้นตอนภายหลังจากที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าสั่งให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไว้แล้วได้เป็นอีกกรณีหนึ่งต่างหากจากกรณีที่จะใช้สิทธิคัดค้านในระหว่างการพิจารณาคำขอจดทะเบียนของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยไม่มีบทบัญญัติจำกัดว่าการใช้สิทธิตามมาตรา 67 นี้ จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ใช้สิทธินั้นได้คัดค้านในชั้นพิจารณาคำขอจดทะเบียนของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วแต่อย่างใด การฟ้องคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวโดยชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เป็นทำนองว่า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ตามคำฟ้องไม่ปรากฏอยู่ในบัญชีแสดงการรับแจ้งเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของกรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงไม่ถือว่าเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้น เห็นว่า การแจ้งและการรับแจ้งลงในบัญชีดังกล่าวไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติบังคับให้เจ้าของเครื่องหมายที่ชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปต้องแจ้งและมีการลงบัญชีเช่นว่านี้ โดยหากไม่แจ้งไว้ให้ถือว่าไม่เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปแต่อย่างใด กรณีเช่นนี้ย่อมไม่ใช่ข้อสำคัญอันจะทำให้ฟังไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ตามฟ้องไม่เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป หากแต่การพิจารณาการเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) และตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ฉบับลงวันที่ 21 กันยายน 2547 ดังที่โจทก์แก้อุทธรณ์มานั้น ในประกาศข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2543) เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2543 ส่วนในข้อ 2 ระบุถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป 2 ประการ โดยประการแรก สินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นจะต้องมีการจำหน่ายหรือมีการใช้หรือมีการโฆษณาหรือได้มีการใช้เครื่องหมายโดยวิธีใด ๆ อย่างแพร่หลายตามปกติโดยสุจริตจนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี และประการที่ 2 เครื่องหมายนั้นจะต้องมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภค ส่วนประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2543) เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2543 ก็กำหนดหลักเกณฑ์ในข้อ 1 ว่าเครื่องหมายนั้นต้องมีปริมาณการจำหน่ายจำนวนมาก หรือมีการใช้หรือโฆษณาเป็นที่แพร่หลายจนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี ข้อ 2 เครื่องหมายนั้นจะต้องมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในหมู่ผู้บริโภค เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวมาข้างต้นแล้วว่า โจทก์ได้โฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ตามสื่อต่าง ๆ หลายประเภท จนเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในหมู่สาธารณชนทั่วไปและสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องรวมทั้งโจทก์เปิดร้านสาขาเป็นจำนวนมากทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ดังกล่าวมาในคดีนี้ย่อมฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ตามฟ้องที่มีคำว่า “Watson’s” และ “Watsons” เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) อันเป็นเครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าทุกจำพวก ตามมาตรา 6 (2) และมาตรา 8 (10) มิใช่ต้องห้ามมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเฉพาะการขอจดทะเบียนสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น ตามมาตรา 6 (3) และมาตรา 13 แต่อย่างใด และเมื่อเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่ใช้คำว่า “Watson’s” และ “Watsons” เป็นสาระสำคัญโดยการเห็นคำดังกล่าวและเรียกขานคำดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญในการสังเกตจดจำว่าเป็นเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่จดทะเบียนไว้ก็มีคำว่า “Watson” เป็นสาระสำคัญแม้จะมีอักษรโรมันว่า “WS” ในเส้นวงรีประกอบก็มีลักษณะเป็นอักษรย่อของคำว่า “Watson” นั่นเอง และมีลักษณะเครื่องหมายการค้าที่มีส่วนสำคัญในการสังเกตและเรียกขานที่คำว่า “Watson” เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ดังกล่าว จึงย่อมมีเหตุที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเดียวกันได้ ทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้เพราะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 6 (2) และมาตรา 8 (10) ดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิที่จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ในสินค้าทุกจำพวกไม่ว่าจะขอจดทะเบียนสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันกับสินค้าของโจทก์หรือไม่ก็ตาม ขณะที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปย่อมมีสิทธิที่จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนได้ นอกจากนี้ยังได้ความอีกว่าก่อนหน้าที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจนได้รับการจดทะเบียนทั้งสามทะเบียนดังกล่าว จำเลยที่ 1 เคยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนนั้น แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเพราะเหตุที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้มาก่อนแล้ว แต่จำเลยที่ 1 กลับมาขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามคำขอนี้ใหม่ โดยขอจดทะเบียนสำหรับใช้กับสินค้าแตกต่างไป แสดงว่าจำเลยที่ 1 ก็ทราบถึงสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และลักษณะความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายการค้านี้แล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อบริษัทว่ารีไลหรือ Rely ส่วนจำเลยที่ 2 ที่มีชื่อว่า วสันต์หรือ Wasun ซึ่งไม่ได้เขียนเป็นภาษาอังกฤษเป็น Watson แต่อย่างใด แต่จำเลยที่ 1 กลับนำเอาคำว่า Watson ซึ่งเป็นทั้งชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้ากับเครื่องหมายบริการของโจทก์มาดัดแปลงเล็กน้อยแล้วขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ส่อแสดงให้เห็นเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ด้วยการอาศัยประโยชน์จากการที่ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์มีชื่อเสียงจึงไม่อาจอ้างสิทธิที่เกิดจากการกระทำโดยไม่สุจริตได้ ดังนี้ย่อมฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนไว้ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค 179393 ค 172866 และ ค 164720 โจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามทะเบียนของจำเลยที่ 1 ได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67
สำหรับกรณีที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 662878 ตามคำฟ้องของโจทก์นั้น ปรากฏว่าการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังไม่มีคำสั่งให้จดทะเบียนและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอนี้แล้วแต่อย่างใด จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้เสียเองจึงไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่าจำเลยที่ 1 ด้วย การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนนี้ของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ได้เพื่อมิให้เสียหายแก่โจทก์ต่อไป โดยหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติก็ชอบที่จะใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ และศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งอัตราค่าทนายความที่ศาลจะกำหนดให้แก่ผู้ชนะคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องไม่เกิน 3,000 บาท ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความแทนโจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เมื่อเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 662878 ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการขอถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า หากไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาศาลฎีกานี้แทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง 3,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share