แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การต่อสู้คดีอ้างกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทของฝ่ายจำเลยนั้นจำเลยอาจจะให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์โดยมิได้ฟ้องแย้ง หรือจะฟ้องแย้งด้วยก็ได้ ถ้าฟ้องแย้งด้วยและเมื่อฟังว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลย ศาลก็จะบังคับให้ตามฟ้องแย้ง แต่ถ้าหากมิได้ฟ้องแย้งศาลก็จะพิพากษาเพียงให้ยกฟ้องโจทก์เท่านั้น คดีเช่นนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ การที่จำเลยมิได้นำค่าขึ้นศาลฟ้องแย้งมาชำระหาได้ทำให้ประเด็นในข้อต่อสู้กรรมสิทธิ์หมดหรือระงับไปไม่ การที่ศาลมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับนั้นเป็นการใช้ดุลพินิจของศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 หาใช่เป็นการกำหนดหรือคำนวณค่าฤชาธรรมเนียมไม่ถูกต้องตามกฎหมายไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 15/2กับใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายในอายุความศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาว่าเดิมโจทก์ฟ้องอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ เมื่อจำเลยให้การและฟ้องแย้งต่อสู้กรรมสิทธิ์ศาลจึงมีคำสั่งให้โจทก์จำเลยเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์แต่เมื่อทางฝ่ายจำเลยมิได้นำค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์มาวางศาลประเด็นเรื่องการต่อสู้กรรมสิทธิ์จึงไม่มี คงเหลือประเด็นตามข้อต่อสู้ของจำเลยเพียงว่า โจทก์ฟ้องเคลือบคลุมและจำเลยมิได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างบ้านเท่านั้น
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การต่อสู้คดีอ้างกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทของฝ่ายจำเลยนั้น จำเลยอาจจะให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์โดยมิได้ฟ้องแย้งหรือจะฟ้องแย้งด้วยก็ได้ ถ้าฟ้องแย้งด้วยและเมื่อฟังว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลย ศาลก็จะบังคับให้ตามฟ้องแย้ง แต่ถ้าหากมิได้ฟ้องแย้งศาลก็จะพิพากษาเพียงให้ยกฟ้องโจทก์เท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยมิได้นำค่าขึ้นศาลมาชำระหาได้ทำให้ประเด็นในข้อต่อสู้กรรมสิทธิ์หมดหรือระงับไปอย่างโจทก์ฎีกาไม่ดังจะเห็นได้จากคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในคำพิพากษาว่า ศาลเชื่อว่าจำเลยซื้อบ้านและที่ดินจากโจทก์เพราะฉะนั้นคดีนี้จึงคงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจของศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 หาใช่เป็นการกำหนดหรือคำนวณค่าฤชาธรรมเนียมไม่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน