คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6101/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในขณะที่มีการนำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงตัวหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่1จากม. มาเป็นจำเลยที่2แล้วแต่จำเลยที่1ไม่ได้แจ้งขอเปลี่ยนแปลงบัตรตัวอย่างลายมือชื่อต่อกรมศุลกากรโจทก์ที่1ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่1ยินยอมให้ม.หุ้นส่วนผู้จัดการคนเดิมคงเป็นตัวแทนของจำเลยที่1อยู่ต่อไปเมื่อม.ลงชื่อในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าในนามจำเลยที่1จึงผูกพันจำเลยที่1และต้องถือว่าจำเลยที่1เป็นผู้นำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยที่1เป็นผู้นำเข้าสินค้าพิพาทโดยสำแดงราคาไว้ไม่ถูกต้องโจทก์ที่1มิได้ยอมรับในราคาที่จำเลยที่1สำแดงแต่ได้ตรวจปล่อยสินค้าพิพาทให้จำเลยที่1รับไปก่อนโดยเรียกให้มีการวางประกันค่าภาษีอากรตามราคาที่สำแดงจำเลยที่1ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมามอบไว้เป็นหลักประกันต่อมาโจทก์ที่1ประเมินราคาใหม่ที่ถูกต้องแท้จริงของสินค้าพิพาททำให้จำนวนภาษีอากรที่จำเลยที่1จะต้องรับผิดเพิ่มขึ้นแม้ธนาคารผู้ค้ำประกันจะชำระเงินให้แก่โจทก์ตามวงเงินในหนังสือค้ำประกันแล้วก็หาทำให้จำเลยที่1ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในเงินค่าภาษีอากรที่ขาดอยู่รวมทั้งเงินเพิ่มและค่าปรับด้วยนั้นพ้นจากความรับผิดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มที่ยังขาดอยู่ตามฟ้อง จำนวน 374,699.54 บาท พร้อมเงินเพิ่มอากรเงินเพิ่มภาษีการค้า และเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิที่ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีและเงินเพิ่มจำนวน 374,699.54 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ก็ไม่จำต้องรบผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เพราะนายมานิตไม่ได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อรับสินค้าในขณะนั้นแทนจำเลยที่ 1 จึงถือว่านายมานิตได้กระทำไปในฐานะส่วนตัว และได้ร่วมมือกับนายจรัลและนายซาดูซิงห์นำสินค้าออกขายและเก็บเงินไปทั้งหมด หากกรณีจะต้องรับผิดชอบต้องเป็นหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่ม จำนวน 374,699.54 บาท พร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือน จากจำนวนอากรขาเข้าที่ค้างชำระอยู่ 121,238 บาท นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2537ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ประเด็นข้อแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำสินค้าตามฟ้องเข้ามาในราชอาณาจักรหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า นายมานิต เอื้อทวีกุลผู้ซึ่งลงชื่อในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมายจ.1 แผ่นที่ 25 มิใช่หุ้นส่วนผู้จัดการหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1ในขณะนั้นตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของกระทรวงพาณิชย์ดังนั้น นายมานิตจึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันจำเลยที่ 1ทั้งจำเลยที่ 2 ผู้ที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ก็มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย การกระทำของนายมานิตเป็นการกระทำไปในฐานะส่วนตัว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดเห็นว่า ในขณะที่มีการนำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร ได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงตัวหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จากนายมานิตมาเป็นจำเลยที่ 2แล้ว ซึ่งเรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวหุ้นส่วนผู้จัดการทำให้ลายมือชื่อต้องผิดแผกแตกต่างไปจากตัวอย่างลายมือชื่อที่ให้ไว้แก่โจทก์ที่ 1นี้ นายวิรัติ ตรีนิติกุล พยานโจทก์ที่เป็นนิติกรเบิกความว่ากรณีที่ผู้นำเข้าได้ทำคำร้องขอมีบัตรตัวอย่างลายมือชื่อเจ้าของหรือผู้จัดการแล้วนั้น ภายหลังหากนิติบุคคลนั้นเปลี่ยนตัวหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นหน้าที่ของนิติบุคคลนั้นจะต้องมายื่นคำร้องขอเปลี่ยนบัตรตัวอย่างลายมือชื่อต่อโจทก์ที่ 1 แต่จนถึงขณะที่ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งขอเปลี่ยนแปลงบัตรตัวอย่างลายมือชื่อต่อโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด คำเบิกความของนายวิรัติข้างต้นมีเหตุผลให้รับฟังเพราะนิติบุคคลที่ขอมีบัตรตัวอย่างลายมือชื่ออยู่กับโจทก์ที่ 1 นั้น มีมากมาย จะคาดหวังให้โจทก์ที่ 1ต้องรับรู้การเปลี่ยนแปลงลายมือชื่อในบัตรลายมือชื่อทุกรายโดยถือว่าได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงไว้ที่กระทรวงพาณิชย์แล้วย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 มีการเปลี่ยนแปลงตัวหุ้นส่วนผู้จัดการจากนายมานิตมาเป็นจำเลยที่ 2 แต่มิได้แจ้งเปลี่ยนแปลงบัตรตัวอย่างลายมือชื่อต่อโจทก์ที่ 1 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1ยินยอมให้นายมานิต หุ้นส่วนผู้จัดการคนเดิมคงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 อยู่ต่อไป เมื่อนายมานิตลงชื่อในใบขายสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าในนามจำเลยที่ 1 จึงผูกพันจำเลยที่ 1และต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 25
ประเด็นต่อไปมีว่า การประเมินราคาสินค้าพิพาทของโจทก์ที่ 1ชอบหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ประเมินราคาสินค้าพิพาทโดยคาดคะเนเอาเอง และต้องถือว่าราคาสินค้าที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าถูกต้องเป็นยุติเพราะได้มีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่และสั่งให้ชำระค่าภาษีโดยการนำหนังสือค้ำประกันมาวางต่อทางราชการแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจที่จะมาประเมินราคาสินค้าใหม่อีก เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 นำเข้าสินค้าพิพาทเป็นการนำเข้ามาใช้ในการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า อันเป็นกรณีตามมาตรา 19 ทวิแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 นางสาวทิพาพรรณรัศมีสุข เจ้าหน้าที่บริหารพิธีการศุลกากร 5 พยานโจทก์เบิกความว่าถ้าโจทก์ที่ 1 พอใจราคาสินค้าที่ผู้นำเข้าตามมาตรา 19 ทวิสำแดงในใบขนก็จะตีตราว่า “พอใจราคาสินค้า” หากยังไม่พอใจก็จะตีตราว่า “ตีราคา” ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการประเมินราคาใหม่ภายหลังอีกครั้ง เมื่อตรวจดูเอกสารใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 25 ด้านหลังแล้วเห็นว่า ได้มีการตีตราว่า “ตีราคา” ไว้และลงวันที่ 21 พฤศจิกายน2529 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นเอกสารดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 ยังมิได้ยอมรับราคาสินค้าพิพาทที่จำเลยที่ 1 สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า กรณีอาจจะต้องมีการประเมินราคาใหม่ในภายหลังอีกหากจำเลยที่ 1 ผู้นำเข้าจะต้องเสียภาษีอากรในกรณีที่ไม่มีการผลิตและส่งออกตามที่แจ้งไว้แก่โจทก์ที่ 1 ฉะนั้นราคาที่จำเลยที่ 1สำแดงไว้ จึงหาเป็นยุติไม่ โจทก์ที่ 1 มีสิทธิประเมินราคาใหม่ได้ทั้งโจทก์ที่ 1 ก็ได้นำสืบถึงการประเมินราคาใหม่เป็นหลาละ1.25 ดอลลาร์สหรัฐ ไว้โดยละเอียดแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าการประเมินราคาใหม่ของโจทก์ที่ 1 ชอบแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าเมื่อธนาคารผู้ค้ำประกันได้ชำระเงินตามวงเงินประกันให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิจะประเมินราคาใหม่หรือเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระค่าภาษี ค่าปรับ และเงินเพิ่มอีกเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเข้าสินค้าพิพาทโดยสำแดงราคาไว้ไม่ถูกต้องโจทก์ที่ 1 มิได้ยอมรับในราคาที่จำเลยที่ 1 สำแดงแต่ได้ตรวจปล่อยสินค้าพิพาทให้จำเลยที่ 1 รับไปก่อน โดยเรียกให้มีการวางประกันค่าภาษีอากรตามราคาที่สำแดงจำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมามอบไว้เป็นหลักประกันต่อมาโจทก์ที่ 1ประเมินราคาใหม่ที่ถูกต้องแท้จริงของสินค้าพิพาท ทำให้จำนวนภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเพิ่มขึ้น แม้ธนาคารผู้ค้ำประกันจะชำระเงินให้แก่โจทก์ตามวงเงินในหนังสือค้ำประกันแล้ว ก็หาทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในเงินค่าภาษีอากรที่ขาดอยู่รวมทั้งเงินเพิ่มและค่าปรับด้วยนั้น พ้นจากความรับผิดไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนผู้จัดการย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ทั้งสองด้วย
พิพากษายืน

Share