คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6100/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งขณะที่เข้าทำงานกับโจทก์และตำแหน่งอื่นใดซึ่งจะมีการโยกย้ายในภายหน้าด้วย ดังนั้น แม้โจทก์จะเลื่อนตำแหน่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสาขาก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมค้ำประกันด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ทำความเสียหายแก่โจทก์ และผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมเรียกให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 และ 686

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์เข้าทำงานตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปี 2542 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานระหว่างเดือนพฤษภาคม 2535 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2542 จำเลยที่ 1 ขณะมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการสาขาสระบุรีและสาขาหนองแคตามลำดับ ได้ร่วมกับพวกทุจริตทำเอกสารเท็จเกี่ยวกับตัวลูกค้าและอนุมัติสินเชื่อให้แก่ลูกค้าจำนวน 14 ราย ซึ่งความจริงแล้วลูกค้าไม่ได้ขอสินเชื่อและไม่ได้รับเงินตามที่จำเลยที่ 1 อนุมัติ โดยจำเลยที่ 1 กับพวกได้ร่วมกันยักยอกและฉ้อโกงเงินโจทก์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 83,476,921.20 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้หลบหนีไปโดยไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542 ติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 3 วันทำงาน โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับพนักงานของโจทก์และเป็นความผิดวินัย โจทก์จึงลงโทษจำเลยที่ 1 โดยการไล่ออกตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542 การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องชดใช้เงินจำนวน83,476,921.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มกราคม2542 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,950,280.22 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 86,427,201.42 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยก่อนฟ้องโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 86,427,201.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 83,476,921.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เนื่องจากคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมและขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 10 ปี โจทก์ปล่อยปละละเลยและมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ทั้งเมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดอาญา โจทก์ก็ไม่แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อจัดการแก้ไขหรือบรรเทาความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินจำนวน 86,427,201.42 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 83,476,921.20 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 21 กรกฎาคม 2542) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่เพียงใด ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานจำเลยที่ 1 ทำงานกับโจทก์ตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปี 2542 เดือนพฤษภาคม 2535 จำเลยที่ 1 เริ่มทำงานในตำแหน่งพนักงานทดสอบสำนักงานใหญ่ ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการสาขาสระบุรี และเดือนเมษายน 2539 จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการสาขาหนองแค โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมการดำเนินงานสาขาของโจทก์ให้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติของโจทก์ที่กำหนดไว้ โจทก์มีระเบียบว่าด้วยเรื่องการดำเนินงานของสำนักงานสาขาบริหาร การอนุมัติสินเชื่อของสาขา การอำนวยสินเชื่อของสาขา โดยโจทก์ได้กำหนดวิธีปฏิบัติหลักเกณฑ์และอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้จัดการสาขาให้มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อได้ในระดับต่าง ๆ กัน ซึ่งระเบียบดังกล่าวกำหนดให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการเกรดเอมีอำนาจอนุมัติสินเชื่อในวงเงินไม่เกิน 3,000,000บาท โจทก์ลงโทษจำเลยที่ 1 โดยการไล่ออกตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 83,000,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย พิเคราะห์หนังสือค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 แล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2518 ในตำแหน่งพนักงานทดสอบสำนักงานใหญ่ โดยระบุว่า “ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 2) ขอเข้าเป็นผู้ค้ำประกันของนายมนู มะโนน้อม (จำเลยที่ 1) ซึ่งทำงานในตำแหน่ง… ในธนาคารศรีนคร จำกัด (โจทก์) หรือในตำแหน่งอื่นใดซึ่งจะได้มีการโยกย้ายในภายหน้า ขอรับรองว่านายมนู มะโนน้อม จะปฏิบัติหน้าที่โดยความซื่อสัตย์สุจริตโดยความหมั่นเพียร และความระมัดระวังอันพึงควรมี และข้าพเจ้าจะสอดส่องดูแลความประพฤติของผู้ถูกค้ำประกัน ให้อยู่ในความดีงามตลอดเวลาที่ทำงานอยู่กับธนาคารศรีนคร หากปรากฏว่า นายมนู มะโนน้อม ได้กระทำการฉ้อโกงหรือยักยอกเงินของธนาคาร หรืออาศัยอำนาจหน้าที่ทำการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวหรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการใด ๆ (ไม่ว่าจะโดยเจตนาทุจริตหรือไม่ก็ตาม)ซึ่งเป็นเหตุทำให้ธนาคารต้องประสพความเสียหายแล้ว ข้าพเจ้าผู้ค้ำประกันยินยอมรับผิดชอบต่อธนาคารศรีนคร จำกัด ในการชดใช้ความเสียหายนั้นให้แก่ธนาคารจนครบ โดยปราศจากเงื่อนไข และโดยจะไม่ยกเอาเหตุผลใด ๆ เข้าเป็นข้อต่อสู้เพื่อในการหลุดพ้นจากภาระความรับผิดนี้” หมายความว่า จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งขณะที่เข้าทำงานกับโจทก์และตำแหน่งอื่นใดซึ่งจะมีการโยกย้ายในภายหน้าด้วย ดังนั้น แม้โจทก์จะเลื่อนตำแหน่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสาขา ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมค้ำประกันด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ซึ่งจำเลยที่ 2 ค้ำประกันได้ทุจริตต่อหน้าที่ทำความเสียหายแก่โจทก์จำนวน 83,000,000 บาท และผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมเรียกให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 และ 686 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share