คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หุ้นส่วนที่ไม่ใช่ผู้จัดการหรือผู้แทนของห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคล ย่อมไม่มีอำนาจร้องทุกข์แทนห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น
ใบมอบอำนาจซึ่งมีข้อความว่ามอบอำนาจให้ฟ้องร้องต่อศาลเกี่ยวกับคดีเรื่องเช็คได้ทุกศาล เป็นการมอบอำนาจให้ดำเนินการแทนเฉพาะการฟ้องร้องคดีต่อศาล ไม่รวมถึงการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ด้วย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ หลังจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค 5 เดือนเศษ โดยโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด ฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและขอแก้ฟ้องว่า โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย นายปานทอง จินตนาวงศ์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้มอบอำนาจให้นายประพันธ์ บูรพาธนะ ดำเนินคดีแทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2511 จำเลยที่ 1 โดยนายธิติ ธรรมกมล ได้ทำสัญญาเช่ารถแทรกเตอร์ของโจทก์ไป 3 คัน ในอัตราค่าเช่าชั่วโมงละ 260, 200 และ 210 บาท ตามสำเนาสัญญาเช่าท้ายฟ้อง จำเลยที่ 1 ค้างค่าเช่ารถโจทก์ทั้ง 3 คันเป็นเงินประมาณ 60,000 บาท วันที่ 2 กรกฎาคม 2511 จำเลยที่ 1 จ่ายเช็คชำระหนี้ค่าเช่ารถแทรกเตอร์ให้โจทก์ 2 ฉบับ ลงชื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้สั่งจ่าย คือเช็คหมายเลข ซี 486373 เงิน 30,000 บาท สั่งจ่ายวันที่ 15 กรกฎาคม 2511 และเช็คหมายเลข ซี 486374 เงิน 30,000 บาท สั่งจ่ายวันที่ 2 สิงหาคม 2511 ตามสำเนาเช็คท้ายฟ้อง วันที่ 18 กรกฎาคม 2511 โจทก์นำเช็คเลขที่ ซี 486373 ไปขึ้นเงินที่ธนาคารไทยพัฒนา จำกัด สาขาประตูน้ำ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยแจ้งให้ติดต่อกับผู้สั่งจ่าย โจทก์ติดต่อกับจำเลยทั้ง 3 หลายครั้ง ในที่สุดนายโชติชัย หุ้นส่วนคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระให้โจทก์ 10,000 บาท โจทก์สลักหลังเช็คไว้ เงินที่เหลืออีก 20,000 บาท จำเลยทั้ง 3 ยังไม่ชำระจนบัดนี้ และระหว่างวันที่ 2 สิงหาคม ถึง 20 สิงหาคม 2511 วันใดจำไม่ได้ โจทก์นำเช็คเลขที่ ซี 486374 ไปเบิกเงินที่ธนาคาร แต่เบิกไม่ได้ วันที่ 21 สิงหาคม 2511โจทก์นำเช็คฉบับนี้ไปเข้าธนาคารอีก ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินโดยแจ้งว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ทั้งนี้ เป็นการที่จำเลยร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค เหตุเกิดที่ตำบลสามเสนใน และตำบลมักกะสันอำเภอพญาไท จังหวัดพระนคร เกี่ยวพันกันโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจบางซื่อ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2511 เพื่อดำเนินคดีกับจำเลยแล้ว ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว สั่งประทับฟ้องโจทก์

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ได้ตัวมาดำเนินคดี ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 3 คงดำเนินการพิจารณาต่อไปเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 เมื่อพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำร้องทุกข์ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2511 ตามเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งนายประพันธ์ บูรพาธนะ เป็นผู้แจ้งต่อพนักงานสอบสวน ไม่มีข้อความว่าโจทก์เป็นผู้แจ้งหรือมอบอำนาจให้นายประพันธ์มาร้องทุกข์แทน คำร้องทุกข์ของนายประพันธ์จึงเป็นการกระทำไปในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่คำร้องทุกข์ของโจทก์ โจทก์ทราบเรื่องธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2511 แต่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2512 พ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดคดีจึงขาดอายุความ พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงอื่น

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ลงนามในเช็คได้ออกเช็คจ่ายเงินชำระหนี้ให้โจทก์ 2 ฉบับ ตามเช็คหมาย จ.4 จ.5 โจทก์นำเช็คหมาย จ.4 ไปขึ้นเงินจากธนาคารเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2511 ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้ติดต่อกับผู้สั่งจ่ายโจทก์ติดต่อกับจำเลย ในที่สุดจำเลยชำระเงินให้โจทก์ตามเช็คฉบับนี้ 10,000 บาท มีคงค้างอีก 20,000 บาท ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2511 โจทก์นำเช็คหมาย จ.5 ไปขึ้นเงินจากธนาคาร ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยแจ้งว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ตามเอกสารใบคืนเช็คหมาย จ.7 รุ่งขึ้นวันที่ 22 สิงหาคม 2511 นายประพันธ์ บูรพาธนะ หุ้นส่วนผู้หนึ่งของโจทก์ซึ่งได้รับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจทั่วไป ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2511 หมาย จ.2 ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อให้ดำเนินคดีกับจำเลย และโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 3 ฐานจ่ายเช็คไม่มีเงินต่อศาลอาญา ในวันที่ 29 มกราคม 2512

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คำร้องทุกข์หมาย จ.8 ไม่มีข้อความประการใดเลยที่แสดงให้เห็นว่า นายประพันธ์ บูรพาธนะ ได้ร้องทุกข์ในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดปานทองพานิช โจทก์ หรือได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ร้องทุกข์แทน ร้อยตำรวจตรีสมบัติ กล่ำสมบัติ พนักงานสอบสวนผู้รับคำร้องทุกข์ก็เบิกความว่า นายประพันธ์ร้องทุกข์ในฐานะส่วนตัว นายประพันธ์เป็นเพียงหุ้นส่วนคนหนึ่ง ไม่ใช่ผู้จัดการหรือผู้แทนของโจทก์ ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายนายประพันธ์จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์แทนโจทก์ และตามใบมอบอำนาจทั่วไปลงวันที่ 1 สิงหาคม 2511 หมาย จ.2 มีข้อความว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายประพันธ์ฟ้องร้องจำเลยต่อศาลเกี่ยวกับคดีเรื่องเช็คได้ทุกศาลจนคดีถึงที่สุด ให้มีอำนาจแต่งตั้งทนายความ และรับเงินจากศาลแทนโจทก์ได้ ซึ่งเป็นการมอบอำนาจโดยชัดแจ้งให้ดำเนินการแทนโจทก์เฉพาะการฟ้องร้องคดีต่อศาลเท่านั้น ไม่รวมถึงการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนด้วย ที่นายประพันธ์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนขอให้ดำเนินคดีกับจำเลยจึงไม่ใช่คำร้องทุกข์ของโจทก์ ไม่มีผลตามกฎหมาย ถือได้ว่า โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2512 หลังจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2511 ถึง 5 เดือนเศษฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์

Share