แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มูลหนี้ตามคำฟ้องที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นมูลหนี้ค่าเบี้ยปรับในหนี้ภาษีอากร ซึ่งตามประมวลรัษฎากร ไม่มีบทบัญญัติให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับดังกล่าวได้ แม้ว่าการฟ้องคดีของโจทก์จะเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ร่วมในนามตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ก็ห้ามมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้มากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 235 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๓๓๑,๖๕๑.๘๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องให้เรียกบริษัทยูนิเวอร์แซล คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ จำกัด ลูกหนี้เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๓๓๑,๖๕๑.๘๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๔) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า บริษัทโจทก์ร่วมมีหุ้นรวม ๒๐๐,๐๐๐ หุ้น หุ้นละ ๑๐๐ บาท จำเลยเป็นผู้ถือหุ้น ๑๖,๐๐๐ หุ้น เจ้าหน้าที่ประเมินของโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทโจทก์ร่วมชำระเงินภาษีเงินได้นิติบุคคล ๑๔,๐๕๙.๐๑๗.๔๗ บาท เบี้ยปรับ ๗,๐๒๙,๕๐๘.๗๓ บาท และเงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๗ จำนวน ๖,๕๓๗,๔๔๓.๑๓ บาท รวมเป็นเงิน ๒๗,๖๒๕,๙๖๙.๓๓ บาท และมีหนังสือแจ้งให้บริษัทโจทก์ร่วมนำเงินภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน ๓๔๖,๒๙๐ บาท ไปชำระให้แก่โจทก์ภายใน ๓๐ วัน บริษัทโจทก์ร่วมได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ๒,๘๑๑,๘๐๓.๔๙ บาท ภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน ๕๔,๘๕๒.๙๗ บาท โจทก์ตรวจสอบพบว่าบริษัทโจทก์ร่วมมีเงินฝากในธนาคาร จึงได้อายัดเงินดังกล่าวนำมาหักชำระค่าภาษีดังกล่าวได้บางส่วน แต่บริษัทโจทก์ร่วมยังคงค้างชำระค่าภาษีต่อโจทก์ในปี ๒๕๔๙ โจทก์ได้ตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทโจทก์ร่วมพบว่าผู้ถือหุ้น ๑๔ คน ได้ชำระเงินค่าหุ้นเพียงหุ้นละ ๕๐ บาท และยังคงค้างชำระเงินค่าหุ้นอยู่ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๙ เจ้าหน้าที่ของโจทก์แจ้งให้บริษัทโจทก์ร่วมใช้สิทธิเรียกเก็บเงินค่าหุ้นที่ยังค้างชำระ แต่บริษัทโจทก์ร่วมเพิกเฉยไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งจำเลย ๒ ครั้ง ให้นำเงินค่าหุ้นที่ชำระไม่ครบมาชำระแก่โจทก์ และมีหนังสือถึงผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ด้วย ซึ่งผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งได้ทำหนังสือยินยอมชดใช้เงินค่าหุ้นดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์นำเงินที่ได้รับไปหักกลบลบหนี้ค่าภาษีที่บริษัทโจทก์ร่วมต้องรับผิดแล้ว บริษัทโจทก์ร่วมยังคงค้างหนี้ภาษีอากร (เฉพาะเบี้ยปรับ) เป็นเงิน ๓๓๑,๖๕๒.๑๕ บาท ส่วนจำเลยไม่ยอมชำระเงินค่าหุ้นแก่โจทก์บริษัทโจทก์ร่วมไม่ได้ประกอบกิจการ ไม่มีทรัพย์สินใดๆ ที่โจทก์จะบังคับคดีได้ ผู้ถือหุ้นของโจทก์ร่วมบางคนเป็นคนต่างด้าวไม่สามารถติดต่อได้ บางคนถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บางคนถึงแก่ความตายแล้ว ในปี ๒๕๕๐ บริษัทโจทก์ร่วมแจ้งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครว่า ในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทโจทก์ร่วมครั้งที่ ๑/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๐ จำเลยได้ชำระเงินค่าหุ้น หุ้นละ ๑๐๐ บาท แล้ว แต่ต่อมาในปี ๒๕๕๑ บริษัทโจทก์ร่วมแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครว่าตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๐ ไม่ถูกต้อง เนื่องจากจำเลยชำระเงินค่าหุ้นเพียงหุ้นละ ๕๐ บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในส่วนเบี้ยปรับหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างเป็นเงินค่าเบี้ยปรับมิใช่ตัวภาษีที่โจทก์ร่วมจะต้องชำระ โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในเบี้ยปรับดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เห็นว่า สำหรับเงินค่าหุ้นที่จำเลยค้างชำระนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๒ บัญญัติว่า ถ้าและเงินอันจะพึงส่งใช้เป็นค่าหุ้นตามเรียกนั้น ผู้ถือหุ้นคนใดมิได้ส่งใช้ตามวันกำหนดไซร้ ผู้นั้นจำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งใช้เสร็จ แต่มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นมูลหนี้ค่าเบี้ยปรับในหนี้ภาษีอากร ซึ่งตามประมวลรัษฎากรไม่มีบทบัญญัติให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับดังกล่าวได้ แม้ว่าการฟ้องคดีของโจทก์จะเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ร่วมในนามตนเองเพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๓ แต่การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์เจ้าหนี้แทนโจทก์ร่วมลูกหนี้นั้น ก็ห้ามมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้มากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๕ วรรคสอง ดังนั้นจากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน ๓๓๑,๖๕๑.๘๒ บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.