แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีแพ่งแดงที่ 473/2505 ที่โจทก์ฟ้องคดีแรกนั้นอ้างว่า ที่ดินพิพาทป. บิดาเป็นผู้ซื้อ เมื่อ ป. ตาย ที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาพิพากษาว่า ป. เป็นผู้ซื้อ แต่ ป. เป็นคนต่างด้าว ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน การซื้อขายเป็นโมฆะ ที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. คดีมีประเด็นเพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของ ป. หรือไม่ ส่วนคดีหลังคือคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาท ป. ซื้อมาตั้งแต่พ.ศ. 2486 เมื่อซื้อแล้วโจทก์และ ป. ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตลอดมาโดยสงบและเปิดเผยมากว่า 10 ปี โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เป็นเรื่องอ้างสิทธิทางครอบครอง เมื่อประเด็นคดีแรกเป็นเรื่องอ้างสิทธิการได้มาทางมรดก แต่ประเด็นคดีหลังเป็นเรื่องอ้างสิทธิการได้มาทางครอบครอง จึงเป็นคนละประเด็นต่างกัน ในการวินิจฉัยก็มิได้อาศัยมูลเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นน้องจำเลยที่ 1 นายปิงบิดาโจทก์ จำเลยได้ซื้อที่ดินไว้แปลงหนึ่งโฉนดเลขที่ 6705 แต่ขณะนั้นนายปิงเป็นคนต่างด้าวไม่อาจรับโอนที่ดินได้จึงให้ใส่ชื่อนายชุนไว้แทนต่อมานายชุนตาย จำเลยที่ 2 บุตรนายชุนได้รับโอนโฉนดไว้ในนามของนายยุ่งชุ้น โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอแบ่งที่ดินรายนี้เป็นมรดกนายปิง ศาลฎีกาพิพากษาว่าไม่เป็นมรดกของนายปิง เพราะนายปิงเป็นคนต่างด้าว ไม่อาจมีกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ ที่ดินแปลงนี้เมื่อซื้อแล้วโจทก์และนายปิงบิดาครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตลอดมา จนนายปิงตาย โจทก์ได้ครอบครองโดยสงบและเปิดเผย โดยเจตนาเป็นเจ้าของสืบต่อมา ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าที่ดินโฉนดที่ 6705 รายนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งห้าคนโดยได้รับมาจากนายปิงบิดาและครอบครองมาอย่างเป็นเจ้าของโดยชอบและตกเป็นกรรมสิทธิ์แล้ว แต่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมด้วยในฐานที่เป็นบุตรนายปิงและพี่ชายโจทก์ ให้จำเลยที่ 2 โอนโฉนดที่ 6705 ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ร่วมกัน และห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ขัดขวางในการโอนหากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับโอนก็ขอให้ศาลจัดการขายทรัพย์รายนี้แบ่งเป็นส่วนให้โจทก์คนละส่วน เป็น 5 ใน 6 ส่วนของจำนวนเงินที่ขายได้
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า ที่พิพาทรายนี้โจทก์ทั้งห้าคนกับนางสาวปิยนุชเคยฟ้องจำเลยที่ 1 มาครั้งหนึ่งแล้วว่าเป็นมรดกของนายปิง และขอแบ่งตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 473/2505 คดีถึงที่สุดชั้นศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่านายปิงบิดาโจทก์จำเลยเป็นผู้ตกลงซื้อที่พิพาทโดยให้นายชุน จองประดิษฐ์ เป็นผู้ซื้อแทน เพราะนายปิงเป็นคนต่างด้าว การตกลงซื้อของนายปิงจึงเป็นโมฆะ นายปิงไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาท ที่พิพาทไม่ใช่มรดกของนายปิง พิพากษายกฟ้อง โจทก์ เมื่อศาลฎีกาพิพากษามาแล้วโจทก์ในคดีนั้น เว้นแต่นางสาวปิยนุชจึงนำคดีมาฟ้องจำเลยในคดีนี้โดยอ้างว่าเมื่อซื้อที่พิพาทมาแล้วตั้งแต่ปี 2486 โจทก์และบิดาได้ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตลอดมาโดยสงบและเปิดเผยกว่า 10 ปีแล้ว โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 โดยบรรยายฟ้องเช่นนี้มาแล้ว ในคดีแดงที่ 473/2505 ครั้นศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ว่าไม่ใช่เป็นทรัพย์มรดกของนายปิง โจทก์กลับเอาคดีที่มีประเด็นข้อหาในมูลเหตุเช่นเดียวกันมาฟ้องในคดีนี้อีก ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำนายชุน จองประดิษฐ์ จำเลยที่ 2 ได้ทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยถูกต้อง ที่พิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยสมบูรณ์ ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่โจทก์ออกจากที่พิพาท
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ที่พิพาทเป็นที่ได้โอนรับมรดกจากนายชุ้น จำเลยที่ 2 มีหน้าที่เพียงว่า เมื่อทรัพย์พิพาทไม่ใช่เป็นมรดกของนายปิง ก็ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีกรรมสิทธิ์แต่อย่างใดทั้งสิ้น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ด้วย
โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ประเด็นที่โจทก์ฎีกาว่าฟ้องของโจทก์คดีนี้ไม่ใช่ฟ้องซ้ำกับคดีแรกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีแพ่งแดงที่ 473/2505 ที่โจทก์ฟ้องคดีแรกนั้น ได้อ้างว่าที่ดินพิพาทนายปิงบิดาเป็นผู้ซื้อ เมื่อนายปิงตาย ที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 คดีดังกล่าวนี้ศาลฎีกาพิพากษาว่านายปิงเป็นผู้ซื้อแต่นายปิงเป็นคนต่างด้าว ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน การซื้อขายเป็นโมฆะ ที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นทรัพย์มรดกของนายปิง คดีมีประเด็นเพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายปิงหรือไม่ ส่วนคดีเรื่องหลังคือคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทนายปิงซื้อมาตั้งแต่ พ.ศ. 2486 เมื่อซื้อแล้วโจทก์และนายปิงได้ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตลอดมาโดยสงบและเปิดเผยมากว่า 10 ปี โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทเป็นเรื่องอ้างสิทธิทางครอบครอง เมื่อประเด็นคดีแรกเป็นเรื่องอ้างสิทธิการได้มาทางมรดก แต่ประเด็นคดีหลังเป็นเรื่องอ้างสิทธิการได้มาทางครอบครอง จึงเป็นคนละประเด็นต่างกัน ในการวินิจฉัยก็มิได้อาศัยมูลเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีเรื่องแรก โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีนี้ก็ได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ส่วนข้อเท็จจริงนั้นศาลฎีกาฟังว่า ไม่มีฝ่ายใดได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
พิพากษายืน