คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6090/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์ได้เสียค่าอากรแสตมป์ใบรับสำหรับรายรับจากการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ไป แต่ต่อมาโจทก์ทราบว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียอากรแสตมป์ จึงมาฟ้องขอให้กรมสรรพากรจำเลยคืนเงินค่าอากรแสตมป์ คำฟ้องของโจทก์ดังนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนเงินค่าภาษีอากรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7(3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ ซึ่งตามมาตรา 9 และ ป.รัษฎากร มาตรา 122การขอคืนอากรไม่ว่าเป็นกรณีที่เสียไปโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือเสียเกินไปกว่าอัตราที่กำหนด ถ้าจะขอคืนต้องเป็นกรณีที่ค่าอากรที่จะขอคืนนั้นไม่น้อยกว่า 2 บาท และการขอคืนต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเวลา 6 เดือน นับแต่วันเสียอากรหรือค่าเพิ่มอากร เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ดังกล่าว จึงไม่อาจที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์บริการและได้จดทะเบียนการค้ากับจำเลย เมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนการค้าและเสียภาษีการค้าแล้ว โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ใบรับสำหรับรายรับจากการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ลักษณะ 28 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ในการจดทะเบียนซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่สมาชิกตั้งแต่วันที่24 กันยายน 2528 ถึงเดือนสิงหาคม 2532 จำเลยยังคงเรียกเก็บค่าอากรแสตมป์ใบรับสำหรับรายรับจากการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจากโจทก์อีก รวมเป็นเงิน 591,510 บาท ต่อมาโจทก์ทราบว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียอากรแสตมป์ใบรับ โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องขอคืนค่าอากรแสตมป์ใบรับจำนวนดังกล่าวจากจำเลย จำเลยได้พิจารณาและสั่งคืนค่าอากรแสตมป์ใบรับ 94,821 บาท ส่วนที่เหลือ 496,689 บาทจำเลยไม่คืนให้ ขอให้จำเลยคืนเงินค่าอากรแสตมป์ใบรับจำนวน496,689 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้สั่งคืนค่าอากรแสตมป์ใบรับ 94,821 บาทให้โจทก์แล้ว แต่ค่าอากรแสตมป์ใบรับ 496,689 บาทนั้น จำเลยไม่คืนให้เพราะขาดอายุความและโจทก์ไม่เคยนำใบเสร็จรับเงินค่าอากรแสตมป์เดือนตุลาคม 2528 ถึงเดือนธันวาคม 2528 และปี 2529ถึงปี 2531 ไปยื่นคำร้องขอคืนค่าอากรแสตมป์แต่อย่างใด เมื่อโจทก์ไม่ยื่นคำร้องขอคืนอากรแสตมป์ภายใน 6 เดือนนับแต่วันเสียอากรแสตมป์แต่กลับนำคดีมาฟ้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าก่อนฟ้องคดีโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอคืนอากรแสตมป์ใบรับตามจำนวนเงินค่าอากรดังที่กล่าวในฟ้อง ปัญหาวินิจฉัยคงมีว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอคืนค่าอากรแสตมป์ดังกล่าวหรือไม่ ได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วโจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์ได้เสียค่าอากรแสตมป์ใบรับสำหรับรายรับจากการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ไป แต่ต่อมาโจทก์ทราบว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียอากรแสตมป์ จึงมาฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินค่าอากรแสตมป์ คำฟ้องของโจทก์ดังนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7(3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ซึ่งในมาตรา 9 บัญญัติว่า “คดีตามมาตรา 7(3) ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้ขอคืนค่าภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่กำหนดไว้จะดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเช่นว่านั้น” และในเรื่องการขอคืนอากรนั้นประมวลรัษฎากร มาตรา 122 บัญญัติว่า “ผู้ใดได้เสียค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรเกินไปไม่น้อยกว่า 2 บาท สำหรับตราสารลักษณะเดียวหรือเรื่องเดียว ผู้นั้นชอบที่จะทำคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่ออธิบดีเห็นว่าเกินไปจริงก็ให้คืนค่าอากร หรือค่าเพิ่มอากรที่เกินไปนั้นแก่ผู้เสียอากรได้แต่คำร้องที่กล่าวนั้นต้องยื่นภายใน 6 เดือน นับแต่วันเสียอากรหรือค่าเพิ่มอากร และต้องประกอบด้วยคำชี้แจ้งหรือเอกสารซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรืออธิบดีเห็นสมควรให้ยื่นสนับสนุนคำร้อง” ตามบทบัญญัติในมาตรานี้มีความให้เห็นเป็นการชัดเจนว่า การขอคืนอากรไม่ว่าเป็นกรณีที่เสียไปโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย หรือเกินไปกว่าอัตราที่กำหนด ถ้าจะขอคืนต้องเป็นกรณีที่ค่าอากรที่จะขอคืนนั้นไม่น้อยกว่า 2 บาท และการขอคืนต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเวลา 6 เดือน นับแต่วันเสียอากรหรือค่าเพิ่มอากร กรณีของโจทก์เป็นการขอคืนในกรณีที่โจทก์ไม่ต้องเสียอากร โจทก์ก็ต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอคืนตามที่บัญญัติไว้ในบทมาตรานี้ เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า โจทก์มิได้ดำเนินการยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้จึงไม่อาจที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528…”
พิพากษายืน.

Share