แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์อุทธรณ์ว่า จ. ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่ตนเองโดยแจ้งในบัญชีเครือญาติว่าบุตรผู้ตายอีก 8 คน ถึงแก่ความตาย เหลือ จ. เพียงคนเดียว โดยไม่ระบุบุตรผู้ตาย และในคดีขอจัดการมรดก จ. ระบุว่า ผู้ตายมีทายาทเพียง 2 คน ถือเป็นการปิดบังมรดก แต่ในคำฟ้องของโจทก์อ้างสาเหตุที่เป็นหลักแห่งข้อหาว่าที่ต้องกำจัด จ. เพราะว่า จ. โอนทรัพย์มรดกแก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 โดยให้ถือกรรมสิทธิ์รวม แต่ไม่โอนให้แก่โจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงที่มิได้อ้างมาในคำฟ้อง ถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงไม่รับวินิจฉัย เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่โต้แย้งคัดค้านพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในประเด็นดังกล่าวนี้ว่า ไม่ชอบอย่างไร แท้จริงแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เป็นการยกเอาข้อเท็จจริงนอกคำฟ้องมาอุทธรณ์ แต่โจทก์ยังคงฎีกาว่า ตามคำฟ้องและจากพยานหลักฐานในสำนวนถือว่า จ. มีพฤติกรรมในการปิดบังทรัพย์มรดกต้องถูกกำจัด จึงถือว่าเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สิทธิในการรับมรดกนั้นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าเจ้ามรดกมีทายาทชั้นบุตร 9 คน โดยไม่ปรากฏว่ามีทายาทชั้นอื่นที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้อีก ดังนั้นมรดกของเจ้ามรดกต้องถูกแบ่งออกเป็น 9 ส่วนเท่าๆ กัน โดย ป.พ.พ. มาตรา 1632 และ 1633 บัญญัติว่า หากแบ่งปันหรือมีข้อตกลงให้แบ่งปันเป็นประการอื่น ต้องเป็นข้อตกลงยินยอมของทายาททุกคน จะใช้มติของทายาทเสียงข้างมากบังคับให้มีผลแตกต่างจากส่วนแบ่งที่จะได้รับตามกฎหมายหาได้ไม่ คดีนี้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 กล่าวอ้างว่า ทายาททุกคนตกลงให้แบ่งปันทรัพย์มรดกออกเป็น 10 ส่วน ส่วนที่เหลืออีก 1 ส่วน ยกให้แก่ จ. ก็มีผลเท่ากับว่า จ. ได้รับส่วนแบ่ง 2 ส่วน เกินส่วนที่ตนเองจะได้รับตามกฎหมาย และมีผลทำให้ทายาทอื่นรวมทั้งโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาต้องได้รับส่วนแบ่งน้อยลงด้วย ทั้งในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ปรากฏว่าโจทก์เกี่ยวข้องด้วย การแบ่งปันทรัพย์มรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลบังคับเฉพาะที่ทายาทที่ตกลงกันเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันโจทก์และไม่อาจทำให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งที่มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการแบ่งมรดกที่แบ่งโดยมิชอบได้ แต่คงเพิกถอนได้เฉพาะส่วนที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้กำจัดนายเจริญมิให้ได้รับมรดกของเจ้ามรดก ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 39591 ที่ใส่ชื่อนายเจริญเป็นผู้จัดการมรดกและนิติกรรมการจดทะเบียนโอนเป็นของนายเจริญในวันที่ 19 มิถุนายน 2551 นิติกรรมการจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 16 ตุลาคม 2555 ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 39658 ที่ใส่ชื่อนายเจริญเป็นผู้จัดการมรดก และนิติกรรมการจดทะเบียนโอนเป็นของนายเจริญในวันที่ 19 มิถุนายน 2551 นิติกรรมการจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 มีกรรมสิทธิ์รวม 6,000 ส่วนจาก 10,249 ส่วน ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2554 นิติกรรมการจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 มีกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนของนายเจริญคนละ 300 ส่วนจาก 4,249 ส่วน นิติกรรมการจดทะเบียนขายเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 7 ให้แก่จำเลยที่ 3 และนิติกรรมการจดทะเบียนขายเฉพาะส่วนของนายเจริญให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2555
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 8 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 7 ออกเสียจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 39591 ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ระหว่างนายเจริญกับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 จำนวน 1 ใน 27 ส่วน ของที่ดิน ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 8 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2555 จำนวน 1 ใน 27 ส่วนของที่ดินดังกล่าว ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 39658 ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด สำหรับนิติกรรมการจดทะเบียนให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 มีกรรมสิทธิ์รวม 6,000 ส่วนจาก 10,249 ส่วน ระหว่างนายเจริญกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2554 จำนวน 1 ใน 27 ส่วน ของที่ดิน และเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 มีกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนของนายเจริญคนละ 300 จาก 4,249 ส่วน ระหว่างนายเจริญกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 จำนวน 1 ใน 27 ส่วนของที่ดิน เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้เฉพาะส่วนระหว่างนายเจริญกับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 จำนวน 1 ใน 27 ส่วนของที่ดิน ให้กลับสู่กองมรดกของนางจันทีหรือจันทรี ผู้ตายโดยมีชื่อนายเจริญ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนทายาทเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกที่ยังไม่ได้รับมรดกต่อไป ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 25,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า นางจันทีหรือจันทรี เจ้ามรดก อยู่กินฉันสามีภริยากับนายถึง โดยไม่จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 9 คน คือ นายบำเพ็ญ นายชารี นายพุทธา นางสุด นายแจ่มจันทร์ นายเจริญ นายประสิทธิ์ นายสมาน และนางสังวาล โจทก์และจำเลยที่ 3 เป็นบุตรของนายบำเพ็ญ จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายเจริญ จำเลยที่ 4 เป็นภริยาของนายแจ่มจันทร์ จำเลยที่ 5 เป็นบุตรของนายประสิทธิ์ จำเลยที่ 6 เป็นบุตรของนายสมาน จำเลยที่ 7 เป็นบุตรของนายชารี นางสังวาลไม่มีทายาท นายถึงถึงแก่ความตายเมื่อปี 2503 ส่วนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อปี 2506 บุตรของเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปหมดแล้วแต่เป็นการถึงแก่ความตายหลังเจ้ามรดก โดยนายบำเพ็ญถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2543 ส่วนนายเจริญถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556 เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินจำนวน 2 แปลง คือ โฉนดเลขที่ 39591 และ 39658 ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 9 ตารางวา และ 25 ไร่ 2 งาน 49 ตารางวา ตามลำดับ โดยเจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรม หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วประมาณ 45 ปี ในวันที่ 21 เมษายน 2551 นายเจริญ ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2551 ตั้งนายเจริญเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก วันที่ 19 มิถุนายน 2551 นายเจริญจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกทั้งสองแปลงเป็นชื่อของนายเจริญในฐานะผู้จัดการมรดก และในวันเดียวกันก็โอนเป็นของนายเจริญในฐานะส่วนตัว แล้วนำที่โฉนดเลขที่ 39591 ไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 8 ต่อมาไถ่ถอนจำนอง และในวันที่ 16 ตุลาคม 2555 ก็โอนที่ดินแปลงดังกล่าวนี้แก่จำเลยที่ 2 และในวันที่ 19 ธันวาคม 2555 จำเลยที่ 2 นำไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 8 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 39658 นายเจริญให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายเจริญ ต่อมาจำเลยที่ 7 ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนแก่จำเลยที่ 3 และนายเจริญโอนส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกมีว่า นายเจริญยักย้ายหรือปิดปังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลทำให้เสื่อมเสียแก่ทายาทอื่นอันต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า นายเจริญในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่ตนเองโดยแจ้งในบัญชีเครือญาติว่าบุตรผู้ตายอีก 8 คน ถึงแก่ความตายเหลือนายเจริญเพียงคนเดียว ไม่ระบุบุตรผู้ตาย และในคดีขอจัดการมรดกนายเจริญระบุว่าผู้ตายมีทายาทเพียง 2 คน ถือเป็นการปิดปังมรดก แต่ในคำฟ้องของโจทก์อ้างสาเหตุที่เป็นหลักแห่งข้อหาว่าที่ต้องกำจัดนายเจริญเพราะนายเจริญโอนทรัพย์มรดกแก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ถือกรรมสิทธิ์รวม แต่ไม่โอนให้แก่โจทก์ เป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงที่มิได้อ้างมาในคำฟ้อง ถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงไม่รับวินิจฉัย เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่โต้แย้งคัดค้านพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในประเด็นดังกล่าวนี้ว่า ไม่ชอบอย่างไร แท้จริงแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เป็นการยกเอาข้อเท็จจริงนอกคำฟ้องมาอุทธรณ์ แต่โจทก์ยังคงฎีกาว่า ตามคำฟ้องและจากพยานหลักฐานในสำนวน ถือว่านายเจริญมีพฤติกรรมในการปิดปังทรัพย์มรดกต้องถูกกำจัด จึงถือว่าเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมตามคำขอท้ายฟ้องหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า สิทธิในการรับมรดกนั้นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย กรณีนี้จากทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายปรากฏว่าเจ้ามรดกมีทายาทชั้นบุตร 9 คน โดยไม่ปรากฏว่ามีทายาทอื่นที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้อีก ดังนั้น มรดกของเจ้ามรดกต้องถูกแบ่งออกเป็น 9 ส่วนเท่า ๆ กัน โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1632 และ 1633 หากแบ่งปันหรือมีข้อตกลงให้แบ่งปันเป็นประการอื่น ต้องเป็นข้อตกลงยินยอมของทายาททุกคน จะใช้มติของทายาทเสียงข้างมากบังคับให้มีผลแตกต่างจากส่วนแบ่งที่จะได้รับตามกฎหมายหาได้ไม่ คดีนี้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 กล่าวอ้างว่า ทายาททุกคนตกลงให้แบ่งทรัพย์มรดกออกเป็น 10 ส่วน ส่วนที่เหลืออีก 1 ส่วน ยกให้แก่นายเจริญ ก็มีผลเท่ากับว่า นายเจริญได้รับส่วนแบ่ง 2 ส่วน เกินส่วนที่ตนเองจะได้รับตามกฎหมาย และจะมีผลทำให้ทายาทอื่นรวมทั้งโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาต้องได้รับส่วนแบ่งน้อยลงด้วย จากทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 ซึ่งอ้างว่าจำเลยที่ 3 มาตกลงแทนโจทก์ซึ่งก็เป็นการกล่าวอ้างด้วยคำพูดลอย ๆ จำเลยที่ 3 มาเบิกความเป็นพยานว่า ในการฟ้องคดีไม่เคยแจ้งให้โจทก์ทราบเนื่องจากขณะนั้นโจทก์พักอาศัยที่ประเทศเยอรมัน ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ปรากฏว่าโจทก์เกี่ยวข้องด้วย ในการแบ่งปันมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมีผลบังคับเฉพาะที่ทายาทที่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันโจทก์และไม่อาจทำให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งต่างจากส่วนแบ่งที่มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการแบ่งมรดกที่แบ่งโดยมิชอบได้ แต่คงเพิกถอนได้เฉพาะส่วนที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มานั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่งโจทก์ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่นายเจริญได้กระทำเกี่ยวกับทรัพย์มรดกทั้งหมดเพื่อกลับคืนเข้าสู่กองมรดกซึ่งจะมีผลทำให้ต้องแบ่งปันมรดกกันใหม่กับขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 8 แต่เมื่อได้ความว่าทายาทอื่นส่วนใหญ่มิได้โต้แย้งคัดค้านการแบ่งปันมรดกของนายเจริญ ดังนั้นหากเพิกถอนให้กลับเข้าสู่กองมรดกก็จะเกิดความยุ่งยากไม่สะดวก ทั้งปรากฏว่ามรดกซึ่งเป็นที่ดินทั้งสองแปลงก็ยังไม่ถูกแบ่งแยก ยังคงมีชื่อทายาทของเจ้ามรดกที่เห็นด้วยกับการแบ่งปันมรดกของนายเจริญเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และเป็นทายาทที่ถูกโจทก์ฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้แล้ว ประกอบกับโจทก์เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์โดยคิดจากมรดกที่โจทก์ควรจะได้มาแล้วอันแสดงว่าโจทก์ประสงค์ขอส่วนแบ่งเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น มิได้ต้องการให้มีการแบ่งปันกันใหม่ทั้งหมด ศาลฎีกาจึงเห็นควรให้จำเลยซึ่งมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกดังกล่าวจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ลงในที่ดินมรดกโดยให้โจทก์มีส่วนในมรดกเท่าที่โจทก์จะได้ตามกฎหมาย กรณีดังกล่าวไม่ถือเป็นการพิพากษาเกินคำขอ เพราะการขอส่วนแบ่งมรดกเป็นวัตถุประสงค์หลักของโจทก์ในการฟ้องคดีนี้
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 39658 ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 49 ตารางวา ให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว 1 ใน 27 ส่วนของที่ดินทั้งแปลง และให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 39591 ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 9 ตารางวา ให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว 1 ใน 27 ส่วนของที่ดินทั้งแปลง โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 8 ร่วมกันจดทะเบียนเพิกถอนการจำนองที่ดินในส่วนที่เป็นของโจทก์ด้วย หากจำเลยดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ