คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 607/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ไวยาวัจกรของวัดมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัด การดำเนินคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกของพระภิกษุที่มรณภาพที่ตกแก่วัดเป็นการจัดการทรัพย์สินของวัดอย่างหนึ่งไวยาวัจกรย่อมมีสิทธิแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินคดีดังกล่าวได้ วัดผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของพระครู ส. และตั้ง ป. ในฐานะไวยาวัจกรของผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกด้วย ปรากฎว่าศาลได้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมเท่านั้นส่วนทรัพย์นอกพินัยกรรมยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกการที่ผู้ร้องนำคำสั่งศาลไปจัดการทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมอันตกได้แก่ผู้คัดค้านเป็นการกระทบสิทธิผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีนี้ได้โดยไม่ต้องไปยื่นคำร้องเป็นคดีใหม่ ศาลจึงมีอำนาจตั้ง ป. เป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์นอกพินัยกรรมได้

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายปรีชา พึ่งสายผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของพระครูสุวรรณสุนทรหรือทองหล่อ สิงห์ครุ ผู้มรณภาพ
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องใช้อำนาจในฐานะผู้จัดการมรดกกระทำการให้เป็นที่เสียหายแก่ผู้คัดค้าน โดยเบียดบังและยักย้ายที่ดินโฉนดเลขที่ 958 แขวงทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานครซึ่งตามกฎหมายแล้วต้องตกเป็นทรัพย์มรดกแก่ผู้คัดค้าน ทั้งผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน ซึ่งทำให้ผู้ร้องขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้มรณภาพอีกต่อไป ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้มรณภาพและแต่งตั้งนายปรุง ฟักแก้ว เป็นผู้จัดการมรดกของผู้มรณภาพแทน
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านว่า นายปรุง ฟังแก้ว ไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนผู้คัดค้าน ผู้ร้องมิได้กระทำการเบียดบังยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้มรณภาพเพื่อตนเอง แต่กระทำการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 958 และโอนที่ดินที่แบ่งแยกแล้วให้ผู้อื่น ตามเจตนารมณ์ของผู้มรณภาพ ที่จัดการทรัพย์มรดกอื่นล่าช้าเพราะต้นฉบับโฉนดอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น และที่ไม่ได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกเพราะไม่ทราบว่ากฎหมายกำหนดหน้าที่ดังกล่าวไว้ ขอให้มีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นายปรีชา พึ่งสาย ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ลงวันที่ 31 มีนาคม 2532 ของพระครูสุวรรณสุนทร หรือทองหล่อ สิงห์ครุ ผู้มรณภาพโดยให้จัดการเฉพาะทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 957แขวงทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เท่านั้น และมีคำสั่งตั้งให้นายปรุง ฟังแก้ว เป็นผู้จัดการมรดกของพระครูสุวรรณสุนทรหรือทองหล่อ สิงห์ครุ ผู้มรณภาพ อีกคนหนึ่งโดยให้จัดการทรัพย์มรดกอื่นของผู้มรณภาพนอกเหนือจากที่ดินโฉนดเลขที่ 957ให้ผู้ร้องและนายปรุง ฟักแก้ว มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าขณะมีชีวิตอยู่พระครูสุวรรณสุนทร เจ้ามรดกจำวัดอยู่ที่วัดครุในผู้คัดค้านพระครูสุวรรณสุนทร ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 958แขวงทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ระหว่างอยู่ในสมณเพศก่อนถึงแก่มรณภาพพระครูสุวรรณสุนทร ได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดเลขที่ 957 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 958 ให้แก่บุคคลอื่น รวม 18 คน โดยตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ปัจจุบันวัดครุในผู้คัดค้านมีพระสำรวย ปัญญาวุโธ เป็นเจ้าอาวาส และนายปรุง ฟังแก้วเป็นไวยาวัจกร มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อแรกว่าการที่นายปรุงไวยาวัจกรลงชื่อแต่งตั้งทนายความแทนผู้คัดค้านโดยไม่มีใบมอบอำนาจ แต่ได้ยื่นใบมอบอำนาจของผู้คัดค้านในภายหลังคำร้องที่ทนายความผู้คัดค้านยื่นจะสมบูรณ์หรือไม่ เห็นว่าตามกฎหมายเถรสมาคม ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2536) ลงวันที่ 30 มีนาคม 2536ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 ตรี และ มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ 4 ในกฎมหาเถรสมาคมนี้ “ไวยาวัจกร” หมายถึงคฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้ง และจะมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดได้ตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ ข้อ 5ไวยาวัจกรผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ก่อนวันใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้ให้ถือว่าเป็นไวยาวัจกรตามกฎมหาเถรสมาคมต่อไป ข้อเท็จจริงได้ความว่านายปรุงได้รับแต่งตั้งจากพระสำรวย ปัญญาวุโธเจ้าอาวาสวัดครุในผู้คัดค้านให้เป็นไวยาวัจกร ของวัดครุในเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2536 โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 5 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2506) จึงถือว่าเป็นไวยาวัจกรตามกฎมหาเถรสมาคมอยู่ ย่อมมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดได้ตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือตามกฎมหาเถรสมาคม ข้อ 4 ข้างต้น ตามคำร้องของผู้คัดค้านก็ระบุยืนยันว่านายปรุง มีอำนาจเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของผู้คัดค้าน แม้ขณะยื่นคำคัดค้านจะมิได้แนบหนังสือมอบหมายของเจ้าอาวาสก็ตาม แต่ระหว่างพิจารณาก่อนสืบพยาน ผู้คัดค้านก็ได้แถลงขอส่งหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ค.1ซึ่งมีพระสำรวยเจ้าอาวาสวัดครุในในผู้คัดค้านลงนาม โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่าทำวันที่ 15 พฤษภาคม 2536 ก่อนวันที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคดีนี้ทั้งระบุว่าให้มีอำนาจฟ้องคดีผู้ร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินอันเป็นมรดกของพระครูสุวรรณสุนทร ต่อมาในชั้นสืบพยานพระสำรวยก็เบิกความเป็นพยานรับรองหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ค.1 ดังนี้ ฟังได้ว่าพระสำรวยเจ้าอาวาสได้มอบหมายเป็นหนังสือให้นายปรุงไวยาวัจกรมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของผู้คัดค้านก่อนผู้คัดค้านยื่นคำร้องคดีนี้แล้ว ที่ดินโฉนดเลขที่ 958เป็นมรดกของพระครูสุวรรณสุนทร ตกได้แก่ผู้คัดค้าน จึงเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน การดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของวัดเป็นการจัดการทรัพย์สินอย่างหนึ่ง นายปรุง ย่อมมีอำนาจจัดการจึงมีสิทธิแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินคดีนี้ได้ คำร้องที่ทนายความซึ่งนายปรุงแต่งตั้งและได้ยื่นต่อศาลจึงสมบูรณ์ สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้ร้องอ้างมาในฎีกานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องในข้อต่อไปว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจตั้งนายปรุง ฟักแก้ว เป็นผู้จัดการมรดกอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในพินัยกรรมในคดีนี้หรือไม่เห็นว่า ตามคำร้องของผู้คัดค้านได้ขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของพระครูสุวรรณสุนทรเจ้ามรดกและขอให้ศาลชั้นต้นตั้งนายปรุงในฐานะไวยาวัจกรของผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของพระครูสุวรรณสุนทร เจ้ามรดกด้วย แม้ศาลชั้นต้นจะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมคือที่ดินโฉนดเลขที่ 957 ส่วนทรัพย์นอกพินัยกรรมยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องนำคำสั่งศาลชั้นต้นไปจัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมคือที่ดินโฉนดเลขที่ 958 อันตกได้แก่ผู้คัดค้านเป็นการกระทบสิทธิผู้คัดค้านเช่นนี้ นับว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีนี้ได้โดยไม่ต้องไปยื่นคำร้องเป็นคดีใหม่ และตามคำร้องขอของผู้คัดค้านก็ขอให้ตั้งนายปรุงเป็นผู้จัดการมรดกทั้งหมดโดยมิได้ขอให้เป็นผู้จัดการมรดกเฉพาะทรัพย์ตามพินัยกรรมเท่านั้น ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจตั้งนายปรุงเป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์นอกพินัยกรรมได้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share