แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยพิพาทเป็นคดีสองเรื่อง ๆ หนึ่งเป็นคดีมีทุนทรัพย์เกิน 2,000 บาท อีกคดีหนึ่งเป็นคดีพิพาทกันโดยไม่มีทุนทรัพย์ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน ศาลอุทธรณ์คงพิพากษาแก้เฉพาะสำนวนมีทุนทรัพย์ให้แบ่งทรัพย์ที่ฟ้องคนละครึ่ง จำเลยเป็นฝ่ายฎีกาขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้โต้เถียงอะไร ในคดีพิพาทไม่มีทุนทรัพย์ทั้งไม่มีเหตุสำหรับฎีกา ประกอบทั้งคดีที่พิพาทกันโดยไม่มีทุนทรัพย์ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามวิ.แพ่ง ม. 248 และถือว่าจำเลยฎีกาขึ้นมาเพียงคดีมีทุนทรัพย์เกิน 2,000 บาทคดีเดียว
ฟ้องขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์โดยผู้มีชื่อยกให้โจทก์เข้าปกครองมา 25 ปีแล้ว เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าผู้มีชื่อหาได้ยกที่ให้โจทก์ไม่ เป็นแต่มมอบให้โจทก์และผู้อื่นปกครองรักษาไว้เป็นของกลางเท่านั้นโจทก์จึงไม่มีกรรมสิทธิในที่ และจะขอศาลสั่งว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิของโจทก์ไม่ได้
การปกครองรักษาที่พิพาทไว้ในฐานะของกลางตามคำสั่งของผู้ตายโดยไม่ปรากฎว่าผู้ครอบครองจะไม่ปกครองที่พิพาทไว้ตามคำสั่งของผู้ตาย ภายหลังจากผู้ตายได้ตายแล้ว กับทั้งผู้ครอบครองไม่เคยแสดงตัวก่อนเจ้าหน้าที่ว่าตนเป็นเจ้าของที่พิพาทรายนี้ การเสียภาษีบำรุงท้องที่ผู้อื่นก็เป็นผู้เสีย ดังนี้ ถือว่าเป็นการปกครองรักษาไว้เป็นของกลางเท่านั้น มิใช่เป็นการปกครองเพื่อเอากรรมสิทธิ์
ย่อยาว
คดีสองเรื่องนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาและพิพากษารวมกันมา จึงได้พิพากษารวมกัน
คดีดำที่ ๔๑๕/๒๔๙๘ (คดีแดงศาลเดิมที่ ๓๓๔/๒๔๙๖) ผู้ร้อง ๆ ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินสวนทุเรียนที่ ๑ แปลงเนื้อที่ประมาณ ๑๒ ไร่ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองบ่อ กิ่งอำเภอตาขาว จังหวัดตรัง ที่แปลงนี้เดิมเป็นของนางส่วน ป้าสะไภ้ผู้ร้อง นางส่วนได้ยกให้ผู้ร้อง ๆ ครอบครองมาด้วยเจตนาเป็นเจ้าของด้วยความสงบและเปิดเผยเป็นเวลาติดต่อกันมา ๒๕ ปีแล้ว ขอให้ศาลสั่งให้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิของผู้ร้อง
ผู้ร้องทั้งสองคัดค้านว่าที่พิพาทเดิมเป็นของนายสีผู้เสมือนไร้ความสามารถและอยู่ในความปกครองของนายญาณ นายสีครอบครองได้ราว ๒๕ ปี ต่อมาได้ทำหนังสือยกให้นายเทาสร้าง ๆ ครอบครองมา ๑๐ ปีเศษแล้วขอให้ยกคำร้อง
เมื่อมีผู้คัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คดีกลายเป็นคดีมีข้อพิพาทให้ถือว่านายจั่นเป็นโจทก์นายเทาสร้าง นายญานเป็นจำเลย
เมื่อศาลสั่งแล้วโจทก์ยื่นคำร้องเพิ่มเติมฟ้องว่าความจริงสวนพิพาทหนี้เป็นของนายจั่นและนายสีมีกรรมสิทธิเป็นเจ้าของร่วมกัน หรือถ้าจะถือตามคำสั่งที่นางส่วนเจ้าของสั่งไว้แล้ว ทั้งโจทก์และนายสีบิดาต่างไม่มีกรรมสิทธิในที่แปลงนี้เพราะบางส่วนสั่งให้ปกครองแทนและให้ลูก ๆ หลาน ๆ เก็บกินได้ทั้งกัน ดังนั้นนายสีจึงไม่มีอำนาจจะเอาไปยกให้ใคร อนึ่งนายสีเคยให้การไว้ต่อศาลในคดีแพ่เลขแดงที่ ๑๒๒/๒๔๙+ ว่าส่วนนี้มิได้ยกให้ใคร
ศาลชั้นต้นเพียงแต่สั่งในคำร้องว่าส่งสำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อโต้แย้ง แต่ฝ่ายนายญวน นายเทาสร้าง ก็ไม่ได้โต้แย้งอย่างใด ศาลชั้นต้นก็มิได้ทำคำสั่งว่าอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องได้หรือไม่
คดีดำที่ ๗๕๗/๒๔๙๘ (คดีแดงของศาลเดิมที่ ๓๓๕/๒๔๙๖) โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของสวนทุเรียนแปลงดังกล่าวมาแล้ว สวนนี้เป็นของนางส่วน นางส่วนมอบให้โจทก์และนายสีบิดาโจทก์ครอบครอง การที่นายสียกสวนทุเรียนนี้ให้แก่จำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งนายสีเคยให้การไว้ในคดีแดงที่ ๑๒๒/๒๔๙๔ ว่าไม่ได้ยกสวนทุเรียนให้ใคร ฉนั้นหนังสือที่นายสีทำยกสวนทุเรียนให้แก่จำเลยจึงเป็นการใช้ไม่ได้ต่อไปตามคำให้การของนายสี จึงขอให้เพิกถอนหนังสือนี้เสีย และบังคับให้จำเลยไปเพิกถอนการรับโอนที่สวนรายนี้ด้วย
จำเลยสู้ว่าที่สวนทุเรียนพิพาทนี้นางสีได้มาจากนางส่วนโดยเสียค่าตอบแทน นายสีโอนยกให้แก่จำเลยโดยโจทก์รู้แล้วแต่ไม่คัดค้าน ได้จดทะเบียนการยกให้ตาม ก.ม. และจำเลยเข้าครอบครองมาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืนหรือขอให้เพิกถอนเอกสารการยกให้
ศาลชั้นต้นฟังว่าหนังสือที่นายสีทำยกสวนทุเรียนให้จำเลยเป็นการถูกต้องแท้จริง และจำเลยครอบครองสวนทุเรียนมากว่า ๑๐ ปีแล้ว สวนทุเรียนต้องเป็นของจำเลย จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งสองคดีให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมกับค่าทนายรวม ๑๘๐ บาท แทนจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่านายสีได้ทำหนังสือต่ออำเภอยกสวนทุเรียนพิพาทให้แก่จำเลย แม้นายสีจะให้การต่อศาลว่าไม่ได้ยกสวนทุเรียนให้ใครก็ดี ก็เป็นถ้อยคำที่ไม่ตรงต่อความจริง ไม่ทำให้หนังสือนั้นเสียไป อุทธรณ์ของโจทก์จึงฟังไม่ได้ ส่วนสวนทุเรียนที่พิพาทนั้น แม้ชั้นต้นนายสีจะเป็นแต่ผู้ครอบครองแทนนางส่วนก็ดี แต่เมื่อนางส่วนตายแล้ว หน้าที่ตัวแทนก็สิ้นไป การที่นายสียังครอบครองสวนอยู่ต่อมาเป็นการครอบครองของนายสีเอง โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกับที่ได้รับมอบหมายจากนางส่วน เพราะไม่ปรากฎว่านายสีได้ครอบครองในฐานะเจ้าของนายสีจึงได้แต่สิทธิครอบครองและไม่มีกรรมสิทธิที่จะยกให้แก่จำเลยได้ แต่เมื่อนายสีไปทำหนังสือยกให้จำเลย ๆ เข้าครอบครองโดยสงบเปิดเผยในฐานะเป็นเจ้าของเป็นเวลา ถึง ๑๐ ปี จำเลยก็ได้กรรมสิทธิตาม ป.พ.พ.ม. ๑๓๘๒ โจทก์ก็ได้ครอบครองร่วมกันมากับนายสีและจำเลย เมื่อจำเลยเข้าครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของตามส่วนที่นายสียกให้แล้วก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์ซึ่งครอบครองร่วมกับจำเลยก็คงครอบครองในฐานะเช่นเดียวกัน โจทก์จึงได้กรรมสิทธิในสวนพิพาทร่วมกับจำเลยคือมีส่วนเท่ากันคนละครึ่ง จึงพิพากษาแก้ว่าให้แบ่งสวนพิพาทนี้ระหว่างโจทก์จำเลยคนละครึ่ง ถ้าไม่ตกลงก็ให้ประมูลร่วมกัน ถ้าประมูลไม่ตกลงก็ให้ขายทอดตลาดแบ่งเงินกันคนละครึ่ง ค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาว่าคดีดำที่ ๗๕๗/๒๔๙๘ นั้นเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์ซึ่งในคดีเช่นนี้จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ โดยต้องห้าม ตาม ป.วิ.แพ่ง ม. ๒๔๘ จำเลยผู้ฎีกาขึ้นมา เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากคำพิพากษาของศาลและไม่มีเหตุอะไรจะต้องฎีกาสำหรับคดีนี้ ทั้งในฎีกาที่จำเลยอื่นขึ้นมาก็โต้แย้งคัดค้านเฉพาะคดีดำที่ ๔๑๕/๒๔๙๘ ไม่ได้โต้แย้งอะไรในคดีดำที่ ๗๕๗/๒๔๙๘ เลย จึงควรถือว่าฎีกาของจำเลยเป็นฎีากเฉพาะคดีดำที่ ๔๑๕/๒๔๙๘ คดีเดียว ไม่ได้ฎีกาคดีดำที่ ๗๕๗/๒๔๙๘ ด้วย
ส่วนคดีดำที่ ๔๑๕/๒๔๙๘ ที่จำเลยฎีกาขึ้นมา ข้อเท็จจริงได้ความชัดว่า ที่สวนพิพาทเป็นของนางส่วนเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๗๑ นางส่วนได้ทำหนังสือขึ้นมีข้อความว่า ขอมอบให้นายสีและนายจั่น (โจทก์) เป็นผู้ปกครองรักษาไว้เป็นกลาง ถ้าลูกหลานคนใดไปขอผลไม้ในสวนก็ให้นายสีนายจั่นแบ่งให้กินตามควร โจทก์กับนายสีจึงได้เข้าปกครองที่สวนนี้มาจนพ.ศ. ๒๔๘๓ นายสีจึงไปทำหนังสือต่ออำเภอยกที่สวนพิพาทให้กับจำเลย ๆ จึงเข้าปกครองที่สวนร่วมมากับโจทก์จนบัดนี้ ดังนี้
ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์โดยนางส่วนยกให้โจทก์ ๆ ปกครองมา ๒๕ ปีแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่านางส่วนหาได้ยกที่ให้โจทก์ไม่ เป็นแต่มอบให้โจทก์และนายสีปกครองรักษาไว้เป็นกลาง เท่านั้น โจทก์จึงหามีกรรมสิทธิในที่พิพาทนี้ไม่ ฉนั้นโจทก์จะขอให้ศาลสั่งว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิของโจทก์ไม่ได้
อนึ่งหากโจทก์จะได้ครอบครองเองอยู่ตลอดมาภายหลังที่นางส่วนตายแล้วจนบัดนี้ซึ่งเป็นเวลากว่า ๒๐ ปีก็ดี ก็ไม่ทำให้ฐานะของโจทก์เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะตาม ป.พ.พ.ม. ๑๓๘๑ บัญญัติว่า “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก” แต่คดีนี้ไม่ปรากฎว่าโจทก์แสดงออกอย่างใดว่าโจทก์จะไม่ปกครองที่พิพาทไว้ตามคำสั่งนางส่วน ภายหลังที่นางส่วนตาย ยิ่งกว่านั้นโจทก์ยังเบิกความต่อศาลว่า โจทก์ไม่เคยแสดงตัวต่อหน้าที่เลยว่าโจทก์เป็นเจ้าของสวนที่พิพาทนี้ การเสียภาษีบำรุงท้องที่นายสีก็เป็นผู้เสีย ดังนี้ การครอบครองของโจทก์ภายหลังที่นางส่วนตายจึงยังคงต้องถือว่าโจทก์ปกครองรักษาไว้เป็นของกลางเท่านั้น มิใช่ปกครองเพื่อเอาเป็นกรรมสิทธิของตนฉนั้นโจทก์จะได้กรรมสิทธิเพราะการครอบครองหาได้ไม่
จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์เสีย แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องร้องกันในทางเป็นมรดกของนางส่วนให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมทุกศาลกับค่าทนาย ๓ ศาลเป็นเงิน ๔๐๐ บาท แทนจำเลยและให้คืนค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาสำหรับสำนวนคดีดำที่ ๗๕๗/๒๔๙๘ ให้จำเลยไปด้วย