คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 607/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์อยู่ท้ายซอยสุดของทางพิพาทถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เว้นเสียแต่จะผ่านไปตามทางพิพาทเพื่อออกสู่ทางสาธารณะเพียงทางเดียว ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคแรก แม้ที่ดินของโจทก์จะเป็นที่ดินที่ ว.ขายให้หลังจากที่ว.แยกโฉนดแบ่งขายให้ส.ไปส่วนหนึ่งแล้วแต่ขณะที่ว. แบ่งขายที่ดินให้แก่ ส. ก็ปรากฏว่าที่ดินส่วนที่เหลือที่โจทก์ซื้อมามีทางพิพาทใช้ออกสู่ทางสาธารณะได้อยู่ก่อนแล้ว โจทก์ชอบที่จะใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นต่อไปได้ เพราะการแบ่งแยกที่ดินไม่เป็นเหตุให้ที่ดินส่วนที่เหลือออกสู่ทางสาธารณะไม่ได้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างมาแต่แรกว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะการที่โจทก์ฎีกาว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะเพราะ ร. เจ้าของเดิมสละให้เป็นทางสาธารณะจึงเป็นเรื่องนอกคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ปิดกั้นถนนและแท่นซีเมนต์บนถนนพิพาทออกไป ให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 11284 ส่วนที่ถนนตัดผ่านตามเนื้อที่ในกรอบเส้นสีแดงในแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 11282 ตำบลวัดท่าพระ (เกาะท่าพระ) อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี (ธนบุรี) ของโจทก์หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน7,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายวันละ 1,480 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ปิดกั้นกีดขวางบนถนนสายภารจำยอม พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินวันละ 1,480 บาท ทุกวันให้แก่โจทก์จนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกไปเรียบร้อย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 สงวนสิทธิทางเดินนั้นเป็นทางส่วนบุคคลซึ่งโจทก์ก็ทราบดี ดังนั้นทางพิพาทที่ผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ใช้ผ่านออกสู่ทางสาธารณะยังไม่ถึง 10 ปีจึงไม่ตกเป็นทางภารจำยอม เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 11282 มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 26 ตารางวา โจทก์ซื้อเพียง 1 งาน 45 ตารางวาส่วนที่เหลือนายวีระ ยาไทย ขายให้แก่นายสุรศักดิ์พิทักษ์เกียรติกุล ที่ดินแปลงนี้มีทางออกไปสู่ทางทางสาธารณะทางด้านทิศใต้ของที่ดินโจทก์ เมื่อนายสุรศักดิ์ปิดกั้นที่ดินระหว่างที่ดินของนายสุรศักดิ์กับที่ดินของโจทก์ทำให้โจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินจากนายสุรศักดิ์ เพราะสาเหตุจากการแบ่งแยกได้จำเลยที่ 1 ปิดกั้นทางพิพาทจริงแต่จำเลยที่ 1 เว้นเป็นทางเดินกว้างประมาณ 1 เมตร จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด หากโจทก์ได้รับความเสียหายก็ไม่เกินวันละ50 บาท ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์บรรยายฟ้องไม่แจ้งชัดว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นทางภารจำยอมหรือทางจำเป็น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 รับว่าจำเลยที่ 2 ได้ก่อสร้างแท่นซีเมนต์ตามฟ้อง แต่เดิมเป็นร่องน้ำกว้างประมาณ2.50 เมตร ยาวตลอดที่ดิน จำเลยที่ 2 ได้ใช้แผ่นไม้พาดร่องน้ำใช้เป็นที่ตากถั่วเขียว ต่อมาร่องน้ำตื้นเขินได้มีการปรับปรุงโดยทำเป็นลานซีเมนต์จนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11284 เมื่อปี 2525 แท่นซีเมนต์ทั้งสองแท่นดังกล่าวไม่เกี่ยวกับทางเดินหรือทางรถยนต์เข้าออก จำเลยที่ 2ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11284 จำเลยที่ 2ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปิดกั้นถนนตามที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกินวันละ 100 บาท ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือทางจำเป็นไม่ชัดเจน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ปิดกั้นถนนและร่วมกันรื้อถอนแท่นซีเมนต์บนถนนที่ตัดผ่านที่ดินของโจทก์ในโฉนดเลขที่ 11283, 11284ตำบลวัดท่าพระ (เกาะท่าพระ) อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี (ธนบุรี)
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินของโจทก์ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 11282ซึ่งอยู่ท้ายซอยสุดของทางพิพาทถูกที่ดินแปลงอื่นของบุคคลอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ เว้นเสียแต่จะผ่านไปตามทางพิพาทเพื่อออกสู่ซอยวัดสังข์กระจายและถนนเพชรเกษมซึ่งเป็นทางสาธารณะเพียงทางเดียว ฉะนั้นโดยนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคแรก ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ชอบที่จะใช้ทางพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1เป็นทางจำเป็นสำหรับโจทก์ผ่านไปสู่ทางสาธารณะได้ จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิปิดกั้น หรือก่อแท่นซีเมนต์ตามแผนที่พิพาท ซึ่งข้อเท็จจริงฟังยุติตามข้อวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองแล้วว่าจำเลยที่ 2 สร้างแท่นซีเมนต์บนทางพิพาทกีดขวางทางเข้าออกของโจทก์เทียบเคียงได้กับคำพิพากษาฎีกาที่ 3261/2527 ระหว่างนายสมชายสุขทวี โจทก์ พระภิกษุสมาน สมบูรณ์จริง กับพวก จำเลย ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องผ่านที่ดินของนายสุรศักดิ์ซึ่งเป็นที่ดินแปลงที่ที่ดินของโจทก์แบ่งแยกมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 ไปสู่ทางสาธารณะไม่ได้นั้นเห็นว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 11282 แบ่งแยกมาจากที่ดินของนายริ้ว ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 15 นายริ้วยกให้นายวีระบุตรของนายริ้ว นายวีระเพิ่งจะแบ่งขายที่ดินที่ได้รับการยกให้บางส่วนให้แก่นายสุรศักดิ์ในปี 2520 คงเหลือที่ดิน 145ตารางวาด้านที่ติดทางพิพาทซึ่งขณะที่นายวีระแบ่งที่ดินขายให้แก่นายสุรศักดิ์ทางพิพาทจากที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นี้มีทางออกสู่ทางสาธารณะด้านซอยวัดสังข์กระจายอยู่ก่อนแล้ว และขณะนั้นที่ดินของนายสุรศักดิ์ไม่ได้เชื่อมต่อกับถนนจำเนียรสุข 3นายสุรศักดิ์จะต้องอาศัยทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะด้านซอยวัดสังข์กระจายเพียงทางเดียวมาก่อน นายสุรศักดิ์เพิ่งจะสามารถออกสู่ถนนเพชรเกษมซึ่งเป็นทางสาธารณะด้านถนนจำเนียรสุข 3ได้ในภายหลัง ฉะนั้น เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่เหลืออยู่ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 11282 มาจากนายวีระในปี 2523 ในขณะที่ทางพิพาทมีอยู่ก่อนแล้ว โจทก์ก็ชอบที่จะใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นออกสู่ทางสาธารณะด้านซอยวัดสังข์กระจายไปยังถนนเพชรเกษมต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่นายสุรศักดิ์ด้วยการให้ นายสุรศักดิ์ทุบกำแพงซึ่งกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์และของนายสุรศักดิ์เพื่อให้โจทก์ออกสู่ทางสาธารณะด้านถนนจำเนียรสุข 3 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพราะการที่นายวีระแบ่งแยกที่ดินบางส่วนขายให้แก่นายสุรศักดิ์ไม่เป็นเหตุให้ที่ดินส่วนที่เหลือออกสู่ทางสาธารณะไม่ได้กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350
ที่โจทก์ฎีกาว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะด้วยนั้น เห็นว่าเมื่อพิเคราะห์คำฟ้องโจทก์โดยตลอดแล้ว คงมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแต่เพียงว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความและเป็นทางจำเป็นเพราะที่ดินโจทก์ถูกที่ดินของบุคคลอื่นล้อมอยู่ไม่สามารถออกสู่ถนนสาธารณะได้ โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างมาแต่แรกว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะเพราะเหตุใด ดังนั้นการที่โจทก์ฎีกาว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะเพราะนายริ้ว ยาไทย ได้สละให้เป็นทางสาธารณะจึงเป็นเรื่องนอกคำฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share