แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การพิจารณาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ดังนั้น คำให้การของจำเลยในคดีดังกล่าวต้องแสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น หรือแต่บางส่วนเมื่อจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความที่จะเรียกร้องให้จำเลยคืนราคาทรัพย์ได้แล้วที่จำเลยอุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 และขอให้จำเลยร่วมกันคืนเงินให้แก่โจทก์จำนวน40,000 บาท
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 40,000 บาทแก่โจทก์ทั้งสอง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าให้จำเลยคืนราคาทรัพย์แล้ว
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นคดีส่วนแพ่งซึ่งจำเลยมิได้ให้การหรือนำสืบโต้แย้งไว้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องทางแพ่ง และขอให้หักผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับไว้แล้วระหว่างครอบครองที่ดินพิพาท นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 บัญญัติว่า การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การจำเลยที่ 2 ต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คือ แสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความและขอให้หักผลประโยชน์ไว้ ศาลชั้นต้นก็ไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 2 มาขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาให้ย่อมต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225วรรคแรก ที่ว่าข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างอิงในการยื่นอุทธรณ์นั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้ชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่รับวินิจฉัยให้ และพิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ 2 จึงชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.