คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 164/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อของลูกหนี้ขาดอายุความแล้ว แต่ต่อมาลูกหนี้ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไว้จึงเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 เดิม ลูกหนี้ไม่อาจยกเหตุการขาดอายุความขึ้นอ้างเพื่อบอกปัดการชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 188 วรรคแรก เดิม เมื่อลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แม้อำนาจการจัดการหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้จะตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22 แต่การจัดการหรือกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเป็นการกระทำแทนลูกหนี้ตามสิทธิของลูกหนี้ที่มีอยู่ เมื่อลูกหนี้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวแล้ว ย่อมทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจยกเหตุแห่งการขาดอายุความขึ้นบอกปัดการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ ดังนั้นหนี้ของลูกหนี้จึงมิใช่หนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)เจ้าหนี้จึงขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าซื้อเชื่อสินค้าจำนวน27,793 บาท 42 สตางค์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดให้บรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้ตรวจคำขอรับชำระหนี้แล้วไม่มีผู้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้ได้สอบสวนแล้วเห็นว่า มูลหนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อของเจ้าหนี้ขาดอายุความต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้เจ้าหนี้มีสิทธิเข้ารับชำระหนี้ได้ตามคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้หนี้ค่าซื้อสินค้ารายนี้จะขาดอายุความ2 ปีแล้ว แต่หลังจากขาดอายุความลูกหนี้ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2529 ว่าจะชำระหนี้ภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2529มอบให้เจ้าหนี้ไว้ จึงเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 ทำให้ลูกหนี้ไม่อาจยกเหตุการขาดอายุความขึ้นอ้างเพื่อบอกปัดการชำระหนี้ตามมาตรา 188 วรรคแรก แม้ต่อมาลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดอำนาจการจัดการหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินจะตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22 แต่การจัดการหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นี้จะต้องเป็นการทำแทนลูกหนี้ตามสิทธิของลูกหนี้ที่มีอยู่ เมื่อลูกหนี้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวแล้ว ย่อมทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจยกเหตุแห่งการขาดอายุความขึ้นบอกปัดการชำระหนี้ดังกล่าวได้หนี้ที่ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 163ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องร้องนั้น ตรงตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) ที่บัญญัติไว้ว่าหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้เป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ แต่การห้ามฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 163 จะต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 193 ที่ว่าลูกหนี้จะต้องยกอายุความขึ้นต่อสู้ว่าหนี้ขาดอายุความแล้ว การที่เจ้าหนี้นำหนี้ที่ขาดอายุความแล้วไปขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมยกอายุความขึ้นบอกปัดการชำระหนี้ในนามของลูกหนี้ได้ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระตามที่มาตรา 94 บัญญัติไว้ แม้อำนาจการจัดการทรัพย์สินหรือกระทำการใด ๆ ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 22ไม่เพียงแต่เป็นอำนาจในการทำแทนลูกหนี้เท่านั้น แต่เป็นการทำแทนเจ้าหนี้ทั้งปวงด้วยก็ตาม แต่การทำแทนเจ้าหนี้ทั้งปวงนั้นหมายถึงการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อแบ่งเฉลี่ยชำระหนี้ให้เจ้าหนี้เท่านั้น แต่สิทธิในการบอกปัดการชำระหนี้เพราะเหตุขาดอายุความเป็นของลูกหนี้โดยเฉพาะดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 188 วรรคแรก บัญญัติไว้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้ในนามของเจ้าหนี้อื่น ๆ เมื่อหนี้รายนี้ลูกหนี้ได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความก่อนที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงเป็นหนี้ที่ฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share