คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6067/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไปแล้ว จำเลยมาร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขาย โดยมิได้กล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง แต่อย่างใดเพียงแต่อ้างว่าราคาที่ขายทอดตลาดต่ำกว่าความเป็นจริง ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ต้องไต่สวนก่อนได้ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคท้าย มิได้บังคับให้ศาลต้องไต่สวนเสียก่อนมีคำสั่งทุกเรื่องไป การจะไต่สวนคำร้องหรือไม่ย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาล เมื่อผู้ซื้อทรัพย์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ซื้อทอดตลาดไปแล้ว โดยที่จำเลยมิได้ขอให้ศาลงดการบังคับไว้ก่อนตามป.วิ.พ. มาตรา 292 จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือที่อนุญาตให้ผู้ซื้อทรัพย์รับโอน หรือทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์ที่ประมูลซื้อทอดตลาดไว้ระหว่างอุทธรณ์ได้ ซึ่งแม้ต่อมาศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดในภายหลัง ก็ไม่ทำให้จำเลยเสียหาย เพราะผู้ซื้อทรัพย์และผู้รับโอนทรัพย์ต่อมาก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์อยู่ดี.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์เป็นเงิน 8,583,368.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์ขอบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ออกขายทอดตลาดรวม 4 แปลง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายได้เมื่อวันที่21 มีนาคม 2533
จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 26 มีนาคม 2533 ว่า ราคาที่ขายได้ต่ำเกินไป ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่าการขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาด ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม2533 จำเลยยื่นคำร้องฉบับที่ 2 ว่า การขายทอดตลาดไม่ชอบ โดยมีบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์นำแบบพิมพ์การขายทอดตลาดที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมาให้โจทก์ จำเลย กับผู้ซื้อ และพยานลงลายมือชื่อโดยที่ผู้นั้นไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้งดการบังคับคดีและยกเลิกกระบวนการบังคับคดี และขอให้ไต่สวนตามคำร้องของจำเลยศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่า เห็นว่าวันขายทอดตลาดจำเลยไม่เคยคัดค้านว่าการขายทอดตลาดเป็นไปโดยมิชอบ แต่จำเลยยื่นคำคัดค้านว่าราคาที่ขายต่ำไป ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 26 มีนาคม 2533ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โดยอ้างว่าราคาที่ขายต่ำไป เมื่อศาลสั่งยกคำร้อง จำเลยจึงมายื่นคำร้องฉบับนี้ เห็นว่า ข้ออ้างตามคำร้องนี้ จำเลยอ้างว่าการขายทอดตลาดมีบุคคลอื่นนำแบบพิมพ์การขายทอดตลาดมาให้โจทก์จำเลย ผู้ประมูลราคาสูงสุดและพยานลงชื่อโดยแบบพิมพ์การขายทอดตลาดก็ยังไม่มีการกรอกข้อความจั้น ข้ออ้างของจำเลยจึงขัดกับข้ออ้างเดิมที่เคยคัดค้านเอาไว้ว่าราคาที่ขายต่ำไป ข้ออ้างของจำเลยจึงเป็นข้ออ้างที่อ้างมาลอย ๆ เป็นข้ออ้างที่อ้างมาเพื่อประวิงการขายทอดตลาด ไม่มีเหตุที่จะไต่สวนให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ ต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2533จำเลยยื่นคำร้องฉบับที่ 3 อีกว่า คดีอยู่ในระยะเวลาอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้ผู้ซื้อเข้าทำนิติกรรมการโอนที่ดินที่ประมูลได้ไว้จนกว่าจะครบระยะเวลาอุทธรณ์หรือศาลสูงมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่า ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนตามคำร้อง ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นทั้งสามฉบับ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คำร้องฉบับแรกของจำเลยลงวันที่ 26มีนาคม 2533 นั้น จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2533 และให้มีการขายทอดตลาดใหม่ โดยอ้างว่าราคาที่ขายทอดตลาดไปในวันดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริง แต่มิได้กล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง แต่อย่างใด ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยเสียได้โดยไม่ต้องไต่สวนก่อน เพราะถึงจะไต่สวนต่อไปและได้ความตามคำร้อง ศาลก็จะสั่งให้ยกเลิกการขายทอดตลาดที่ได้กระทำไปแล้วโดยชอบไม่ได้ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “การขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาด ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ” โดยมิได้ทำการไต่สวนเสียก่อนนั้น จึงชอบด้วยวิธีพิจารณาแล้ว ส่วนปัญหาที่ว่าราคาขายทอดตลาดต่ำไปหรือไม่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการบังคับคดีว่าฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างใด จึงไม่จำต้องยกขึ้นวินิจฉัย
ส่วนคำร้องฉบับที่ 2 ของจำเลยลงวันที่ 27 มีนาคม 2533ที่อ้างว่า มีบุคคลภายนอกนำเอาแบบพิมพ์ของศาลเกี่ยวกับบันทึกการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมาให้โจทก์ จำเลยผู้ประมูลราคาสูงสุดและพยานลงชื่อ โดยบุคคลนั้นไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่มีเหตุสมควร เป็นการไม่เคารพอำนาจศาล จำเลยจึงถือว่าการขายทอดตลาดในวันที่ 21 มีนาคม 2533 เป็นการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้กระทำเองทั้งหมดขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีและยกเลิกกระบวนการบังคับคดีและศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า วันขายทอดตลาดจำเลยไม่เคยคัดค้านว่าการขายทอดตลาดเป็นไปโดยมิชอบ แต่จำเลยยื่นคำคัดค้านว่าราคาที่ขายต่ำไป ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 26 มีนาคม 2533 ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าราคาที่ขายต่ำไป เมื่อศาลสั่งยกคำร้อง จำเลยจึงมายื่นคำร้องฉบับนี้เห็นว่าข้ออ้างตามคำร้องนี้ จำเลยอ้างว่าการขายทอดตลาดมีบุคคลอื่นนำแบบพิมพ์การขายทอดตลาดมาให้โจทก์ จำเลย ผู้ประมูลราคาสูงสุดและพยานลงชื่อ โดยแบบพิมพ์การขายทอดตลาดก็ยังไม่มีการกรอกข้อความนั้น ข้ออ้างของจำเลยจึงขัดกับข้ออ้างเดิมที่เคยคัดค้านเอาไว้ว่าราคาที่ขายต่ำไป ข้ออ้างของจำเลยจึงเป็นข้ออ้างที่อ้างมาอย่างลอย ๆเป็นข้ออ้างที่อ้างมาเพื่อประวิงการขายทอดตลาดไม่มีเหตุที่จะไต่สวนให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ” โดยศาลชั้นต้นมิได้ไต่สวนก่อนนั้นเห็นว่า เป็นกรณีที่จำเลยอ้างว่าการบังคับคดีไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคท้าย บัญญัติว่า เมื่อได้ยื่นคำขอดั่งที่กล่าวมาและศาลได้ไต่สวนตามที่เห็นสมควรแล้วให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตหรือยกคำขอนั้นเสีย บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้ศาลต้องไต่สวนเสียก่อนมีคำสั่งทุกเรื่องไป การจะไต่สวนคำร้องหรือไม่ย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลว่ามีเหตุสมควรที่จะไต่สวนหรือไม่ เมื่อศาลเห็นว่าข้ออ้างของจำเลยขัดต่อเหตุผลถึงจะให้ไต่สวนต่อไปก็ไม่มีประโยชน์และคำร้องของจำเลยพอวินิจฉัยได้แล้ว ศาลย่อมมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยไปโดยไม่ต้องไต่สวนก่อนได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงชอบด้วยวิธีพิจารณาแล้ว
คำสั่งของศาลชั้นต้น ที่สั่งยกคำร้อง ฉบับที่ 3 ของจำเลยลงวันที่ 3 เมษายน 2533 นั้น ชอบด้วยวิธีพิจารณาหรือไม่ คำร้องฉบับนี้จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนหนังสือที่อนุญาตให้นายเจริญเศรษฐปิยานนท์ ผู้ซื้อทรัพย์รับโอนหรือทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินที่ประมูลซื้อทอดตลาดได้ไว้ก่อน โดยอ้างเหตุว่าคดียังอยู่ในระหว่างอุทธรณ์และจำเลยกำลังทำอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นอยู่และศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องของจำเลยว่า “พิเคราะห์แล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนตามคำร้อง ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ” ปัญหาข้อนี้เห็นว่า ปรากฏในคำร้องของจำเลยเองว่า ขณะที่จำเลยยื่นคำร้องฉบับนี้ นายเจริญ เศรษฐปิยานนท์ ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ซื้อทอดตลาดได้ไปเรียบร้อยแล้วโดยจำเลยมิได้ขอให้งดการบังคับคดีไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292 เสียก่อนหน้านี้ ประกอบกับไม่มีเหตุที่ส่อให้เห็นว่าการขายทอดตลาดไม่ชอบประการใด และแม้อาจจะมีการเพิกถอนการขายทอดตลาดในภายหลัง ก็ไม่ทำให้จำเลยเสียหาย เพราะผู้ซื้อทรัพย์และผู้รับโอนทรัพย์ต่อมาก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์อยู่ดีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะสั่งให้เพิกถอนหนังสือที่อนุญาตให้ผู้ซื้อทรัพย์รับโอนหรือทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์ที่ซื้อได้ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องฉบับนี้ของจำเลยมาโดยไม่ไต่สวนก่อนนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน.

Share