คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6066/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้วเจ้าหนี้ไม่อาจนำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา27,91และ94 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยแล้วพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา24บัญญัติห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนเว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้โจทก์เพื่อชำระค่าเบี้ยประกันภัยในระหว่างจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายจึงเท่ากับเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยซึ่งจำเลยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวการกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลายพ.ศ.2483ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเช็คพิพาททั้งสองฉบับที่จำเลยสั่งจ่ายชำระให้โจทก์จึงเป็นโมฆะโจทก์ไม่มีสิทธินำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาฟ้องจำเลยให้รับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2535 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาท่ามะกา รวม 2 ฉบับชำระหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ฉบับแรกลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2535สั่งจ่ายเงินจำนวน 15,000 บาท ฉบับที่สองลงวันที่ 14 สิงหาคม 2535สั่งจ่ายเงินจำนวน 14,539 บาท เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดโจทก์ได้นำไปเบิกเงินสดที่ธนาคารตามเช็ค ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 30,462 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 29,539 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องจริง แต่จำเลยไม่ต้องรับผิดเพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2535 ทำให้ทรัพย์สินของจำเลยตกอยู่ในอำนาจดูแลจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยสั่งจ่ายเช็คหลังจากถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและยังไม่หลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย เช็คดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีมูลหนี้ โจทก์ทราบว่าจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแต่ไม่ไปขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจึงหมดสิทธิจะได้รับชำระหนี้และจะฟ้องจำเลยอีกไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าจำเลยถูกศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม2535 ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.6/2535 ของศาลชั้นต้นต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 135(2) เมื่อวันที่6 พฤษภาคม 2536 ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 29,539 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ เห็นว่า หนี้ตามฟ้องโจทก์เกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้วโจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 27, 91 และ 94ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ขอรับชำระหนี้ภายใน 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจึงหมดสิทธิได้รับชำระหนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาอ้างว่า การสั่งจ่ายเช็คพิพาทของจำเลยในระหว่างที่จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เป็นการจัดการทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ซึ่งฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22 เช็คพิพาทจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจนำเช็คพิพาทมาฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยแล้วพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 24 บัญญัติห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้โจทก์เพื่อชำระค่าเบี้ยประกันภัยในระหว่างจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.6/2535ของศาลชั้นต้นจึงเท่ากับเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยซึ่งจำเลยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเช็คพิพาททั้งสองฉบับที่จำเลยสั่งจ่ายชำระให้โจทก์จึงเป็นโมฆะโจทก์ไม่มีสิทธินำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาฟ้องจำเลยให้รับผิดคำแก้ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษายืน

Share