คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6066/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันบริษัทซ.ลูกหนี้ชั้นต้นของโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยทำไว้ให้แก่โจทก์โดยบรรยายถึงจำนวนหนี้พร้อมทั้งหลักฐานการเป็นหนี้ส่งไปยังจำเลยจำเลยรับแจ้งการเป็นหนี้ของลูกหนี้ที่จำเลยค้ำประกันไว้แต่ปฏิเสธที่จะชำระหนี้ส่วนหนึ่งขอให้พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้โจทก์ในจำนวนหนี้ที่แจ้งไปตามสัญญาค้ำประกันจำเลยให้การยอมรับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันตามที่โจทก์อ้างจริงแต่ไม่ต้องรับผิดในหนี้บางจำนวนกล่าวคือใบส่งของบางฉบับไม่ระบุวันที่รับสินค้าใบส่งของบางฉบับไม่ระบุหลักฐานการลงนามรับสินค้าและวันที่รับสินค้าและหนี้บางรายการไม่ปรากฏใบส่งของจำเลยจึงแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะชำระหนี้เฉพาะที่มีหลักฐานถูกต้องครบถ้วนเท่านั้นจะเห็นได้ว่าคำให้การได้ยกเหตุแห่งการปฏิเสธหนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ชัดแจ้งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา177วรรคสองแล้วแม้ศาลชั้นต้นจะได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในข้อที่2ว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่เพียงใดแต่การวินิจฉัยคดีในประเด็นดังกล่าวก็จำกัดอยู่แต่ในข้อต่อสู้ของจำเลยเท่านั้นหากนำเหตุอื่นมาวินิจฉัยคดีก็จะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นซึ่งไม่อาจกระทำได้ดังนั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่อ้างเหตุว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเพราะมีสินค้าบางส่วนที่โจทก์ได้รับคืนไปแล้วและบางส่วนโจทก์ได้รับชดใช้ราคาไปแล้วก็ดีกับข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบฟังได้ว่าโจทก์ได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ชั้นต้นแล้วทำให้หนี้สินระงับไปจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดก็ดีล้วนแต่เป็นข้อทีมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์จึงรับวินิจฉัยให้ไม่ได้ กฎหมายวิธีพิจารณาความบัญญัติขึ้นเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลเป็นไปโดยเรียบร้อยและเป็นธรรมแก่คู่กรณีทุกฝ่ายมิให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเอาเปรียบในเชิงคดีข้อที่จำเลยอ้างมาในฎีกาว่าขณะที่จำเลยยื่นคำให้การจำเลยพิจารณาเฉพาะพยานหลักฐานที่โจทก์ส่งไปให้จำเลยเพิ่งจะทราบข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับผิดเพราะเมื่อมีการคืนสินค้าบางส่วนชำระราคาและปลดหนี้ให้แล้วโจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากจำเลยอีกและพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้จำเลยยกเหตุไม่ต้องรับผิดดังกล่าวขึ้นกล่าวในคำให้การเพราะจำเลยเพิ่งทราบภายหลังนั้นไม่ถูกต้องเพราะกฎหมายได้ให้โอกาสที่จำเลยจะสืบหาข้อเท็จจริงเพื่อเป็นแนวทางต่อสู้คดีก่อนที่จำเลยจะยื่นคำให้การแล้วทั้งปัญหาว่าลูกหนี้ชั้นต้นเป็นหนี้โจทก์หรือไม่เพียงใดก็มิใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเมื่อจำเลยไม่ได้ยกข้ออ้างเหตุนี้ปฏิเสธหนี้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและมิใช่กรณีที่มีพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2532 จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัทซิลค์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดต่อโจทก์ เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท สำหรับหนี้ค่าซื้อสินค้าที่บริษัทดังกล่าวซื้อไปจากโจทก์นับแต่วันที่ 14 กันยายน 2532 จนถึงวันที่ 13 กันยายน 2533 ตามสำเนาหนังสือค้ำประกันท้ายฟ้องปรากฏว่าบริษัทซิลค์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นหนี้ค่าสินค้าที่ซื้อไปจากโจทก์ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2532 เป็นต้นไปจำนวน 504,790 บาท โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาค้ำประกัน จำนวน 500,000 บาท ตามสำเนาหนังสือทวงถามและใบตอบรับ พร้อมเอกสารแนบท้ายฟ้องหมายเลข 4, 5 และ 6จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ลงวันที่ 2 มีนาคม 2533 แจ้งว่าจะชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันให้โจทก์เพียง 164,246 บาท ส่วนหนี้ที่เหลือจำเลยอ้างว่าใบส่งของไม่ระบุวันที่รับสินค้าบ้าง ไม่ระบุหลักฐานลงนามรับสินค้าและวันที่รับสินค้าบ้างไม่มีใบส่งขอบ้าง ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 โจทก์เห็นว่าจำเลยเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันเพราะข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยไม่ใช่ข้อโต้แย้งว่าหนี้ระหว่างโจทก์กับบริษัทซิลค์ อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด ระงับไปแล้วแต่เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักฐานที่โจทก์ส่งให้เท่านั้น จึงขอบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน500,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัทซิลค์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต่อโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทจริง แต่ในการที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนบริษัทดังกล่าวนั้นโจทก์จะต้องส่งใบส่งสินค้าและหลักฐานการรับสินค้าให้จำเลยเพื่อตรวจสอบว่าโจทก์ได้ส่งมอบสินค้าแต่ละรายการจริงหรือไม่บริษัทซิลค์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้รับสินค้าแต่ละรายการจริงหรือไม่ และได้รับสินค้าไว้ภายในกำหนดเวลาตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2532 ถึงวันที่ 13 กันยายน 2533 หรือไม่หากโจทก์มิได้ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทดังกล่าวครบถ้วน และภายในระหว่างเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาค้ำประกัน จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันและมิใช่ลูกหนี้ร่วมก็ชอบที่จะยกข้อต่อสู้ของจำเลยเองตามสัญญาค้ำประกันที่มีต่อโจทก์ และอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายที่บริษัทดังกล่าวมีต่อโจทก์ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ครั้นเมื่อจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ค่าสินค้าตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4, 5และ 6 จำเลยได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่ามีสินค้าตามใบแจ้งหนี้รายการที่1, 4, 5, 7 ถึง 11 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5คิดเป็นเงิน 164,246 บาท เป็นสินค้าตามใบส่งของที่มีหลักฐานการส่งมอบ และรับมอบสินค้าครบถ้วน จำเลยจึงมีหนังสือลงวันที่ 2 มีนาคม 2533 ให้โจทก์ติดต่อจำเลยเพื่อรับเงินค่าสินค้าจำนวน 164,246 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2532 ส่วนสินค้ารายการที่ 2, 3, 6และ 12 ถึง 15 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 โจทก์มิได้ส่งมอบให้แก่บริษัทซิลค์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัทดังกล่าวก็มิได้รับสินค้านั้นไว้ภายในระหว่างวันที่ 14 กันยายน 2532ถึงวันที่ 13 กันยายน 2533 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้บริษัทดังกล่าวชำระราคาสินค้าได้ และจำเลยได้แจ้งให้โจทก์เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนเพราะลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ แต่โจทก์ไม่ทวงถามลูกหนี้ก่อน จำเลยพ้นความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระราคาสินค้าตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่23 ตุลาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน15,625 บาท ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกอุทธรณ์จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยเพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าข้อที่จำเลยยกขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์นั้นอยู่ในประเด็นที่พิพาทกันแบะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งศาลอาญายกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้จะไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น” คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันบริษัทซิงค์ อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด ลูกหนี้ชั้นต้นของโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยทำไว้ให้แก่โจทก์ โดยบรรยายถึงจำนวนหนี้พร้อมทั้งหลักฐานการเป็นหนี้ส่งไปยังจำเลย จำเลยรับแจ้งการเป็นหนี้ของลูกหนี้ที่จำเลยค้ำประกันไว้แต่ปฏิเสธที่จะชำระหนี้ส่วนหนึ่ง ขอให้พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้โจทก์ในจำนวนหนี้ที่แจ้งไปตามสัญญาค้ำประกันจำเลยให้การยอมรับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันตามที่โจทก์อ้างจริงแต่ไม่ต้องรับผิดในหนี้บางจำนวนกล่าวคือ ใบส่งของบางฉบับไม่ระบุวันที่รับสินค้า ใบส่งของบางฉบับไม่ระบุหลักฐานการลงนามรับสินค้าและวันที่รับสินค้าและหนี้บางรายการไม่ปรากฏใบส่งของจำเลยจึงแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะชำระหนี้เฉพาะที่มีหลักฐานถูกต้องครบถ้วนเท่านั้น จะเห็นได้ว่าคำให้การได้ยกเหตุแห่งการปฏิเสธหนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ชัดแจ้ง ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในข้อที่ 2ว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่เพียงใดแต่การวินิจฉัยคดีในประเด็นดังกล่าวก็จำกัดอยู่แต่ในข้อต่อสู้ของจำเลยเท่านั้น หากนำเหตุอื่นมาวินิจฉัยคดีก็จะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ซึ่งไม่อาจกระทำได้ ดังนั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่อ้างเหตุว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเพราะมีสินค้าบางส่วนที่โจทก์ได้รับคืนไปแล้วและบางส่วนโจทก์ได้รับชดใช้ราคาไปแล้วก็ดีกับข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบฟังได้ว่าโจทก์ได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ชั้นต้นแล้วทำให้หนี้สินระงับไปจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดก็ดี ล้วนแต่เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ขณะที่จำเลยยื่นคำให้การจำเลยพิจารณาเฉพาะพยานหลักฐานที่โจทก์ส่งไปให้ จำเลยเพิ่งจะทราบข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับผิดตามที่ยกเป็นข้ออ้างในอุทธรณ์ เมื่อมีการพิจารณาในศาลชั้นต้นซึ่งเป็นสาระสำคัญแก่คดีโดยพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้จำเลยยกขึ้นกล่าวในคำให้การได้และเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะเมื่อมีการคืนสินค้าบางส่วน ชำระราคาและปลดหนี้ให้แล้วโจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากจำเลยอีกนั้น เห็นว่า กฎหมายวิธีพิจารณาความบัญญัติขึ้นเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลเป็นไปโดยเรียบร้อยและเป็นธรรมแก่คู่กรณีทุกฝ่ายมิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเอาเปรียบในเชิงคดี ข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ที่กล่าวมาข้างต้นก็เช่นเดียวกันข้อที่จำเลยอ้างมาในฎีกาว่าพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้จำเลยยกเหตุไม่ต้องรับผิดดังกล่าวขึ้นกล่าวในคำให้การเพราะจำเลยเพิ่งทราบภายหลังนั้นไม่ถูกต้อง เพราะกฎหมายได้ให้โอกาสที่จำเลยจะสืบหาข้อเท็จจริงเพื่อเป็นแนวทางต่อสู้คดีก่อนที่จำเลยจะยื่นคำให้การแล้ว ทั้งปัญหาว่าลูกหนี้ชั้นต้นเป็นหนี้โจทก์หรือไม่เพียงใดก็มิใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยไม่ได้ยกข้ออ้างเหตุนี้ปฏิเสธหนี้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น และมิใช่กรณีที่มีพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคสอง
อนึ่ง คดีนี้จำเลยฎีกาขอให้พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ส่วนที่จำเลยเสียเกินมาจึงให้คืน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่จำเลย

Share