แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ ป.อ. มาตรา 74 (3) กำหนดให้ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติเด็ก ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 56 โดยมาตรา 56 (5) กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควร แต่เงื่อนไขดังกล่าว ย่อมต้องเป็นไปเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นคุ้มครองสังคมและฟื้นฟูตัวผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันก็เพื่อให้ผู้กระทำความผิดหลาบจำไม่ก่อเหตุซ้ำอีก โดยเงื่อนไขดังกล่าวย่อมต้องเป็นไปในทำนองที่บัญญัติไว้ใน (1) (2) (3) หรือ (4) คือเป็นบทบังคับเกี่ยวกับตัวเด็กซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายในทางแพ่งก็มีกฎหมายบัญญัติไว้ต่างหากแล้ว และคดีนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 520,000 บาท แล้ว การกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติจำเลย โดยกำหนดให้จำเลยและผู้ปกครองเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้องเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี จึงเป็นการซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลย และเงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันไม่ให้กระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 56 (5) การที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ส. มารดาเด็กหญิง พ. ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงิน 580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 14 ปีเศษ จึงไม่ต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 ศาลชั้นต้นว่ากล่าวตักเตือนจำเลยและมอบตัวจำเลยให้ผู้ปกครองรับกลับไปดูแล โดยวางข้อกำหนดว่า หากจำเลยก่อเหตุร้ายขึ้นอีกภายในระยะเวลา 1 ปี ผู้ปกครองต้องชำระค่าปรับต่อศาลเป็นเงินครั้งละ 2,000 บาท คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดย (1) ให้จำเลยมารายงานตัวต่อนักจิตวิทยาของศูนย์ให้คำปรึกษาหรือผู้พิพากษาสมทบเป็นเวลา 4 ครั้ง (2) ให้จำเลยและผู้ปกครองเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้องเป็นรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันพิพากษา (3) ให้จำเลยเข้าร่วมกิจกรรมศูนย์ให้คำปรึกษา ตามที่จำเลย นักจิตวิทยาและผู้พิพากษาสมทบเห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 56 กับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 520,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2556 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา เด็กหญิง น. ขับรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อยามาฮ่า มีโอ หมายเลขทะเบียน กตท อำนาจเจริญ 82 มาตามถนนทางลัดระหว่างหมู่บ้านซึ่งเป็นถนนลูกรังกว้างประมาณ 4 เมตร ไม่มีเส้นแบ่งช่องทางจราจร จากบ้านหนองแสงมุ่งหน้าไปทางรัตนวารี โดยมีรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า เวฟ หมายเลขทะเบียน กธล อำนาจเจริญ 703 ซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุแล่นตามมาด้านหลัง ขณะนั้นนายสุทิพย์ ขับรถบรรทุกหกล้อ หมายเลขทะเบียน 80 – 3321 อำนาจเจริญ สวนทางมา รถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุเฉี่ยวชนด้านท้ายรถจักรยานยนต์ ที่เด็กหญิง น. เป็นคนขับ ทำให้รถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ เสียหลักล้มลง จำเลยและเด็กหญิง พ. ตกจากรถคันดังกล่าว จำเลยได้รับบาดเจ็บ ส่วนเด็กหญิง พ. ถูกรถบรรทุกหกล้อทับที่ศีรษะเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายสุทิพย์ คนขับรถบรรทุกที่ทับผู้ตายเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า เห็นจำเลยเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุมีผู้ตายนั่งซ้อนท้าย เมื่อถึงที่เกิดเหตุเฉี่ยวชนกับท้ายรถจักรยานยนต์คันหน้าเป็นเหตุให้ผู้ตายกระเด็นมาถูกรถบรรทุกที่ตนขับมาทับถึงแก่ความตาย ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน สภาพที่เกิดเหตุเป็นที่โล่ง นายสุทิพย์ขับรถบรรทุกสวนทางมา ย่อมเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจน แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ก่อนวันเกิดเหตุ นายสุทิพย์ได้ดื่มสุรามาแต่เป็นเวลาก่อนเกิดเหตุนานกว่า 10 ชั่วโมง และก่อนเกิดเหตุนายสุทิพย์ได้ขับรถบรรทุกดินไปส่งหลายเที่ยวแล้ว เชื่อว่า นายสุทิพย์ไม่ได้อยู่ในอาการเมาสุรา สามารถขับรถและเห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุได้ชัดเจน ทั้งนายสุทิพย์ และจำเลยได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกันว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุให้ร้อยตำรวจโทสมพงษ์และดาบตำรวจประยูรฟังขณะไปตรวจที่เกิดเหตุหลังได้รับแจ้งเหตุเพียง 10 นาที ทำให้คำเบิกความของนายสุทิพย์ มีน้ำหนักและเหตุผลหนักแน่นมั่นคง นายสุทิพย์เป็นเพื่อนบ้านกับครอบครัวจำเลยโดยบ้านอยู่ใกล้กันและรู้จักจำเลยมาตั้งแต่เด็กย่อมจดจำจำเลยได้ดี ทั้งไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับครอบครัวจำเลยหรือจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย และโจทก์ยังมีบันทึกตกลงค่าเสียหาย ลงวันที่ 4 มกราคม 2557 ทำหลังเกิดเหตุ 7 วัน ระบุข้อความยืนยันว่า ผู้ตายนั่งซ้อนท้ายรถมีจำเลยเป็นคนขับนอกจากนี้ โจทก์มีบันทึกประจำวัน ที่บันทึกไว้ในวันเกิดเหตุระบุว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์มีผู้ตายนั่งซ้อนท้าย สนับสนุนทำให้คำเบิกความของนายสุทิพย์มีน้ำหนักยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ร่องรอยการเฉี่ยวชน ที่พันตำรวจโททศพล จัดทำ ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยขับรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุโดยประมาทเฉี่ยวชนท้ายรถจักรยานยนต์ที่เด็กหญิง น. เป็นคนขับเป็นเหตุให้ผู้ตายที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับกระเด็นไปถูกรถบรรทุกทับศีรษะเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว ในความรับผิดส่วนแพ่งจึงฟังได้ว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ตาย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (1) ถึง (3) โดยวางเงื่อนไขคุมประพฤติจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาเห็นชอบด้วย แต่ที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติของจำเลย ข้อ 2 ว่า ให้จำเลยและผู้ปกครองเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้องเป็นรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันพิพากษาและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (3) กำหนดให้ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติเด็ก ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โดยมาตรา 56 (5) กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควร แต่เงื่อนไขดังกล่าว ย่อมต้องเป็นไปเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นคุ้มครองสังคมและฟื้นฟูตัวผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันก็เพื่อให้ผู้กระทำความผิดหลาบจำไม่ก่อเหตุซ้ำอีก โดยเงื่อนไขดังกล่าวย่อมเป็นไปในทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ใน (1) (2) (3) หรือ (4) คือเป็นบทบังคับเกี่ยวกับตัวเด็ก ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งการเยียวยาความเสียหายของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดก็มีการบัญญัติถึงมาตรการในการเยียวยาความเสียหายในทางแพ่งไว้ต่างหากไว้แล้ว โดยผู้เสียหายมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการถูกกระทำละเมิดเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหากทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 หรือหากเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องคดีอาญา ผู้เสียหายก็มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ซึ่งจะเห็นว่ากฎหมายมุ่งคุ้มครองเยียวยาความเสียหายของผู้เสียหายไว้แล้ว ทั้งในคดีนี้ ผู้ร้องก็ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยและศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 520,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติจำเลย โดยกำหนดให้จำเลยและผู้ปกครองเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้องเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี จึงเป็นการซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลย และเงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ไข หรือฟื้นฟูหรือป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดกระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (5) การที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่กำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติที่ให้จำเลยและผู้ปกครองเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้องเป็นรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ