แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว นอกจากทนายความทั้งสองฝ่ายมาศาล ยังปรากฏว่าตัวความทั้งสองฝ่ายมาศาล และได้ลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง หากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีทางดำเนินคดีต่อไปเพียงประการเดียวคืออุทธรณ์ฎีกาให้ศาลสูงแก้ไข หากเข้ากรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ภายในกำหนดเวลา หนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตามยอมนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว คำพิพากษาตามยอมนั้นย่อมถึงที่สุด ไม่อาจที่จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ แม้จำเลยจะอ้างว่าเพิ่งทราบเหตุที่ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความภายหลังว่า คำพิพากษาตามยอมตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้
คดีนี้โจทก์ฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรสจำเลย เป็นคดีที่ไม่มีผู้เยาว์เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์เกี่ยวข้อง โจทก์และจำเลยต่างแถลงร่วมกันต่อศาลชั้นต้นว่าไม่ต้องการผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษา ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ดังนั้น ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งไม่น้อยกว่าสองคนย่อมเป็นองค์คณะพิจารณาและพิพากษาคดีนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 147 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้โจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากกันและแบ่งสินสมรสกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอ้างว่า สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย และผู้พิพากษานั่งพิจารณาไม่ครบองค์คณะตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาเกินกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จึงให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ยื่นขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยอ้างว่า สัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่าขาดกันและแบ่งสินสมรสตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2555 นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้วในวันดังกล่าว นอกจากทนายความทั้งสองฝ่ายจะมาศาล ยังปรากฏว่าตัวความทั้งสองฝ่ายมาศาลและได้ลงชื่อไว้ปรากฏอยู่ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2555 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง หากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็มีทางดำเนินคดีต่อไปได้เพียงประการเดียวคืออุทธรณ์ฎีกาให้ศาลสูงแก้ไข หากเข้ากรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ทั้งนี้ภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตามยอมนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว คำพิพากษาตามยอมนั้นย่อมถึงที่สุด ไม่อาจที่จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก แม้จำเลยจะอ้างว่าเพิ่งทราบเหตุที่ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นในภายหลัง โดยอ้างว่าคำพิพากษาตามยอม ตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยประการต่อมาที่ว่า การพิจารณาคดีและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ชอบเพราะไม่มีผู้พิพากษาสมทบนั่งพิจารณาคดีให้ครบองค์คณะขัดต่อพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 นั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ไม่มีผู้เยาว์เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์เกี่ยวข้อง โจทก์และจำเลยต่างแถลงร่วมกันต่อศาลชั้นต้นว่าไม่ต้องการผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งไม่น้อยกว่าสองคนย่อมเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 147 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาเห็นควรสั่งให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ