คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6062/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การยื่นฟ้องและชั้นตรวจคำฟ้องในคดีล้มละลาย ไม่มีกฎหมายว่าด้วยล้มละลายและข้อกำหนดคดีล้มละลายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 18 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเป็นเอกสารที่ต้องแนบมาพร้อมกับคำฟ้อง ประกอบกับโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาแล้วว่า โจทก์มอบอำนาจให้ว่าที่พันตรี ส. หรือ ข. เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ อีกทั้งโจทก์ยื่นคำร้องอ้างเหตุที่มิได้ส่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เนื่องจากหลงลืมและขอส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาลและจำเลยทั้งสี่ ก่อนวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสี่เป็นเวลาประมาณ 1 ปี จำเลยทั้งสี่ย่อมมีโอกาสแก้ไขคำให้การได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบ ดังนั้น แม้ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจะไม่มีหนังสือมอบอำนาจแนบมาด้วยก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้โจทก์จะเคยนำหนี้ในคดีนี้ไปฟ้องจำเลยทั้งสี่ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 862/2549 ของศาลจังหวัดปราจีนบุรี ขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ โดยโจทก์และจำเลยทั้งสี่เป็นคู่ความคนเดียวกันและคดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ก็ตาม แต่ในคดีดังกล่าวประเด็นแห่งคดีมีว่า จำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ ส่วนในคดีนี้ประเด็นแห่งคดีมีว่า จำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและสมควรถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ จึงเป็นการยื่นคำฟ้องคนละเรื่องกัน ฟ้องของโจทก์หาเป็นฟ้องซ้อนไม่
ในการฟ้องคดีล้มละลายเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามกระบวนการกฎหมายล้มละลาย โจทก์มีสิทธิที่ฟ้องได้ภายในอายุความที่กฎหมายกำหนด ส่วนจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ ย่อมมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เมื่อผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยได้ตามข้อตกลงในสัญญาแห่งมูลหนี้นั้น ๆ เหตุที่ดอกเบี้ยค้างชำระจำนวนมากก็เนื่องมาจากจำเลยทั้งสี่ผิดนัดชำระหนี้ แม้หากดอกเบี้ยเป็นเบี้ยปรับในชั้นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ นอกจากนี้ แม้โจทก์จะเคยฟ้องจำเลยทั้งสี่ในคดีแพ่งและขอถอนฟ้อง และจำเลยทั้งสี่คัดค้านก็ตาม แต่ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีล้มละลายอีกได้ ประกอบกับศาลในคดีแพ่งได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องแล้ว การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องยังไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเพื่อบีบบังคับแก่จำเลยทั้งสี่ และใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด
การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงิน และหนี้สินอื่น ๆ ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 4 ทำหนังสือให้ความยินยอมในฐานะเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 แม้หนี้ดังกล่าวจะไม่ใช่หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสดั่งที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ก็ตาม แต่หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 2 สามีของจำเลยที่ 4 ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวที่จำเลยที่ 4 ผู้เป็นภริยาได้ให้สัตยาบันแล้วจึงเป็นหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในหนี้ที่มีต่อโจทก์
หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาวงเงินขายลดตั๋วเงินซึ่งสามารถคิดคำนวณยอดหนี้จนถึงวันฟ้องได้ว่าเป็นจำนวนเท่าใดโดยหาจำต้องรอให้ศาลในคดีแพ่งพิพากษากำหนดจำนวนหนี้จนคดีถึงที่สุดแล้วนำมาฟ้องคดีล้มละลายไม่ เนื่องจาก พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) เพียงแต่กำหนดว่าหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตามเท่านั้น โดยหาได้บัญญัติว่าหนี้นั้นศาลต้องพิพากษากำหนดจำนวนแน่นอนเสียก่อนไม่ หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์ย่อมมีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ให้ล้มละลายได้
ก่อนฟ้องโจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่โดยยื่นคำขอตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยทั้งสี่ที่สำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยทั้งสี่มีภูมิลำเนาในเขตรับผิดชอบแล้วปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงชำระหนี้ได้ นอกจากนี้โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แล้วสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมชำระหนี้ ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่า จำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) และ (9) แล้ว จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่เด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 3,000,000 บาท เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 3,800,000 บาท โดยได้รับเงินไปครบถ้วนแล้วตามสัญญากู้เงินและหนังสือหลักฐานการรับเงินกู้ยืม ในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขอใช้วงเงินขายลดตั๋วเงินกับโจทก์ 2 ฉบับ ในวงเงินฉบับละ 3,000,000 บาท ตามสัญญาวงเงินขายลดตั๋วเงิน และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 1,400,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน เพื่อประกันการชำระหนี้ดังกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ในการทำสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 4 ในฐานะคู่สมรส ตามสัญญาค้ำประกันและหนังสือให้ความยินยอม และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4617 ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองสิ่งปลูกสร้างอาคารโรงงานบนที่ดินดังกล่าวกับเครื่องจักรไว้แก่โจทก์ด้วย ตามหนังสือสัญญาจำนอง หลังจากทำสัญญาดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสี่ผิดนัดผิดสัญญา ต่อมาวันที่ 21 กันยายน 2548 และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์และทำคำขอและข้อตกลงชำระเงินกู้ยืมตามตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ไว้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้จำนวน 3,000,000 บาท กับขอเปลี่ยนแปลงวงเงินขายลดตั๋วเงิน แพคกิ้งเครดิต คงเหลือเป็นเงิน 240,000 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 2,760,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผิดนัดผิดสัญญาคิดถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 17,302,251.14 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหนี้โจทก์ 5,327,251.14 บาท และจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์ 19,502,251.14 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้ว่าที่พันตรีสมบัติหรือนายขจรเกียรติ เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ แต่ปรากฏว่าในคำฟ้องที่จำเลยทั้งสี่ได้รับและที่โจทก์ยื่นต่อศาล ไม่มีภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจโจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอส่งเอกสารดังกล่าวในภายหลัง จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ในการยื่นฟ้องและชั้นตรวจคำฟ้องในคดีล้มละลาย ไม่มีกฎหมายว่าด้วยล้มละลายและข้อกำหนดคดีล้มละลายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเป็นเอกสารที่ต้องแนบมาพร้อมกับคำฟ้อง ประกอบกับโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาแล้วว่า โจทก์มอบอำนาจให้ว่าที่พันตรีสมบัติหรือนายขจรเกียรติ เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ อีกทั้งโจทก์ยื่นคำร้องอ้างเหตุที่มิได้ส่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เนื่องจากหลงลืมและขอส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาลและจำเลยทั้งสี่เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 ก่อนวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสี่เป็นเวลาประมาณ 1 ปี จำเลยทั้งสี่ย่อมมีโอกาสแก้ไขคำให้การได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบ ดังนั้น แม้ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจะไม่มีหนังสือมอบอำนาจแนบมาด้วยก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อที่สองมีว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ เห็นว่าแม้โจทก์จะเคยนำหนี้ในคดีนี้ไปฟ้องจำเลยทั้งสี่ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 862/2549 ของศาลจังหวัดปราจีนบุรี ขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ โดยโจทก์และจำเลยทั้งสี่เป็นคู่ความคนเดียวกันและคดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ก็ตาม แต่ในคดีดังกล่าวประเด็นแห่งคดีมีว่า จำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ ส่วนในคดีนี้ประเด็นแห่งคดีมีว่า จำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและสมควรถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ จึงเป็นการยื่นคำฟ้องคนละเรื่องกัน ฟ้องของโจทก์หาเป็นฟ้องซ้อนไม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อที่สามมีว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า โจทก์ปล่อยเวลาให้เนิ่นนาน ทำให้จำนวนดอกเบี้ยค้างชำระจำนวนมาก ดอกเบี้ยดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ โจทก์ใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการฟ้องคดีล้มละลายเพื่อบีบบังคับจำเลยทั้งสี่ เนื่องจากจำเลยทั้งสี่คัดค้านการถอนฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งนั้น เห็นว่า ในการฟ้องคดีล้มละลายเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามกระบวนการกฎหมายล้มละลาย โจทก์มีสิทธิที่ฟ้องได้ภายในอายุความที่กฎหมายกำหนด ส่วนจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เมื่อผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยได้ตามข้อตกลงในสัญญาแห่งมูลหนี้นั้น ๆ เหตุที่ดอกเบี้ยค้างชำระจำนวนมากก็เนื่องมาจากจำเลยทั้งสี่ผิดนัดชำระหนี้มากกว่า แม้หากดอกเบี้ยเป็นเบี้ยปรับในชั้นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ นอกจากนี้ แม้โจทก์จะเคยฟ้องจำเลยทั้งสี่ในคดีแพ่งและขอถอนฟ้อง และจำเลยทั้งสี่คัดค้านก็ตาม แต่ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีล้มละลายอีกได้ ประกอบกับศาลในคดีแพ่งได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องแล้ว การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องยังไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเพื่อบีบบังคับแก่จำเลยทั้งสี่ และใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อที่สี่มีว่า จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในหนี้ที่มีต่อโจทก์หรือไม่ ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 4 เพียงแต่ลงชื่อให้ความยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์เท่านั้น ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 ได้ให้สัตยาบัน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งหนี้ดังกล่าวไม่ใช่หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสโดยตรง จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงิน และหนี้สินอื่น ๆ ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 4 ทำหนังสือให้ความยินยอมในฐานะเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 แม้หนี้ดังกล่าวจะไม่ใช่หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสดั่งที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ก็ตาม แต่หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 2 สามีของจำเลยที่ 4 ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวที่จำเลยที่ 4 ผู้เป็นภริยาได้ให้สัตยาบันแล้วจึงเป็นหนี้ร่วม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในหนี้ที่มีต่อโจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปมีว่า หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ เห็นว่า หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาวงเงินขายลดตั๋วเงินซึ่งสามารถคิดคำนวณยอดหนี้จนถึงวันฟ้องได้ว่าเป็นจำนวนเท่าใดโดยหาจำต้องรอให้ศาลในคดีแพ่งพิพากษากำหนดจำนวนหนี้จนคดีถึงที่สุดแล้วนำมาฟ้องคดีล้มละลายดังที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ไม่ เนื่องจากพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) เพียงแต่กำหนดว่าหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตามเท่านั้น โดยหาได้บัญญัติว่าหนี้นั้นศาลต้องพิพากษากำหนดจำนวนแน่นอนเสียก่อนไม่ หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์ย่อมมีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ให้ล้มละลายได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนฟ้องโจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่โดยยื่นคำขอตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยทั้งสี่ที่สำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยทั้งสี่มีภูมิลำเนาในเขตรับผิดชอบแล้วปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงชำระหนี้ได้ นอกจากนี้โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แล้วสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ตามสำเนาหนังสือทวงถามและใบตอบรับ แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมชำระหนี้ ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่า จำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) และ (9) แล้ว จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ที่จำเลยทั้งสี่นำสืบว่า ทรัพย์จำนองมีราคา 16,375,000 บาท สามารถหักกับหนี้ได้ทั้งหมด จำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพค้าขายของเก่าและดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีตำบลบ้านนาปรือ มีรายได้จากการค้าขายของเก่าประมาณเดือนละ 50,000 ถึง 100,000 บาท และมีเงินเดือนเดือนละ 18,650 บาท ส่วนจำเลยที่ 4 รับราชการทหารมีเงินเดือนเดือนละ 27,550 บาท นั้น เห็นว่า สำหรับราคาทรัพย์จำนองที่จำเลยทั้งสี่อ้างว่าสามารถนำไปหักชำระหนี้ได้ทั้งหมด เป็นหนี้ตามทุนทรัพย์ในคดีแพ่งซึ่งโจทก์ฟ้องก่อนคดีนี้ จำนวน 15,055,791.31 บาท โดยยังไม่รวมดอกเบี้ยหลังจากวันฟ้อง แต่เมื่อคิดยอดหนี้ถึงวันฟ้องคดีนี้รวมเป็นเงิน 19,502,251.14 บาท ทรัพย์ดังกล่าวจึงไม่พอชำระหนี้ทั้งหมด สำหรับรายได้จากการขายของเก่าของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว จำเลยที่ 2 เบิกความกล่าวอ้างเลื่อนลอยจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 จะมีรายได้ดังกล่าวจริงหรือไม่ ส่วนเงินเดือนของจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นรายได้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ต้องใช้จ่ายในการดำรงชีพและครอบครัว ไม่ปรากฏว่าแต่ละเดือนมีเงินเหลือเท่าใด อีกทั้งต้องห้ามมิให้บังคับคดีในคดีแพ่ง โจทก์ย่อมไม่อาจบังคับมาชำระหนี้ได้ ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ทุกข้อข้างต้นล้วนฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นเป็นรายละเอียดปลีกย่อย แม้จะวินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่เด็ดขาดมานั้น ชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share