แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นายสุรพลเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ในสังกัดของจำเลยที่ 1ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2ขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างคนทั้งสองต่างขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันชนกัน รถยนต์ที่จำเลยที่ 3 ขับเสียหลักแฉลบไปชนรถยนต์ของโจทก์ซึ่งนายสุภาพเป็นผู้ขับได้รับความเสียหาย เกิดเหตุแล้วนายสุภาพได้รายงานให้เลขาธิการสำนักงานของโจทก์ทราบเหตุมีใจความสำคัญว่า “ได้มีรถยนต์โดยสารประจำทางสายขอนแก่น-หล่มสัก หมายเลขทะเบียน 10-1806 ขก.ชนกับรถยนต์บรรทุกเล็กราชการของกรมป่าไม้ หมายเลขทะเบียน น-2691ซย.ฯลฯ…แล้วรถยนต์โดยสารประจำทางเสียหลักพุ่งมาชนรถยนต์ราชการของศปอ.หมายเลขทะเบียน2ง-9601ซึ่งวิ่งมาตามเลนปกติด้วยความเร็วประมาณ 50 กม/ชม. เนื่องจากสภาพถนนไม่ดี…รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายและแผนผังแสดงสถานที่เกิดเหตุที่แนบมาพร้อมนี้” และยังได้รายงานด้วยว่าได้แจ้งความต่อร้อยเวรประจำสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุเป็นหลักฐานเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่อไปแล้ว รายงานของนายสุภาพระบุชัดว่ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-2691 ชัยภูมิ เป็นรถยนต์ราชการของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามปกติจำเลยที่ 1 ย่อมจะต้องใช้รถยนต์ดังกล่าวในราชการ รายงานระบุด้วยว่ารถยนต์ของโจทก์แล่นอยู่ในทางเดินรถตามปกติ และได้แจ้งความเป็นหลักฐานในการเรียกร้องค่าเสียหายแล้วเป็นการแสดงว่ารถยนต์อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายกระทำผิด โจทก์จึงทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่เลขาธิการสำนักงานของโจทก์ทราบรายงานของนายสุภาพคือวันที่ 15 เมษายน 2528 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 30 พฤษภาคม2529 เกิน 1 ปี นับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 รายงานของนายสุภาพมิได้ระบุว่าคนขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุคือใครและเป็นลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของบุคคลผู้ใด ปรากฏว่าเลขาธิการสำนักงานของโจทก์ทราบชื่อคนขับและนายจ้างของคนขับรถยนต์โดยสารเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2528คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ที่ 3ต้องร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 และนายสุรพลผู้ขับรถของจำเลยที่ 1 ขับรถคนละคันแล่นสวนทางกันโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถชนกันและรถยนต์ของโจทก์เสียหาย เป็นกรณีต่างคนต่างกระทำละเมิด แต่ละฝ่ายต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามสัดส่วนของความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิดของฝ่ายตน มิใช่ร่วมกันรับผิด ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 หรือนายสุรพลฝ่ายใดมีความประมาทเลินเล่อยิ่งกว่ากันจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงรับผิดในจำนวนเงินค่าเสียหายแต่เพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่าเสียหายทั้งหมด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีฐานะเป็นกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีและเป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2 ง – 9601 กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 เป็นกรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น – 2691 ชัยภูมิ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองในฐานะผู้เช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน10 – 1806 ขอนแก่น จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 10 – 1806 ขอนแก่น รับส่งคนโดยสารประจำทางสายขอนแก่น – หล่มสัก อันเป็นกิจการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2528 นายสุรพล พลบถึงพนักงานของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น – 2691 ชัยภูมิไปตามถนนสายภูเขียว-ชุมแพ-ขอนแก่น ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1อันเป็นการกระทำตามหน้าที่ในราชการของจำเลยที่ 1 ขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 10-1806 ขอนแก่น รับส่งคนโดยสารจากสถานีขนส่งรถยนต์โดยสารจังหวัดขอนแก่น มุ่งหน้าไปอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามเส้นทางสายขอนแก่น-ชุมแพอันเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อรถยนต์ทั้งสองคันแล่นมาถึงบริเวณทางโค้งใกล้หมู่บ้านไชยสอที่เกิดเหตุ นายสุรพลและจำเลยที่ 3 ต่างขับรถยนต์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังคือต่างฝ่ายต่างขับรถมาด้วยความเร็วสูง โดยเฉพาะนายสุรพลได้ขับแซงรถคันอื่นที่แล่นนำหน้าตนขึ้นไป จึงเป็นเหตุให้รถที่นายสุรพลกับรถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 3 ขับมานั้นชนกันอย่างแรงแล้วรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 ขับเสียหลักแล่นแฉลบไปชนกับรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายคิดค่าเสียหายจำนวน 73,470 บาทการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของนายสุรพลและจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้รถของโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของนายสุรพลจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ทราบถึงการกระทำละเมิดและรู้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้ที่ต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2528ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 73,470 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า นายสุรพล พลบถึง มิได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น – 2691 ชัยภูมิ ด้วยความประมาท แต่เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้น โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินไป ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุรถยนต์ชนกันเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของนายสุรพล พลบถึง พนักงานของจำเลยที่ 1 และนายสุภาพสวงโท พนักงานของโจทก์ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2มิได้ร่วมประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด ค่าเสียหายของโจทก์มากเกินไปไม่เป็นความจริง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่รถยนต์ของจำเลยที่ 1ชนกับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 เกิดจากนายสุรพลขับแซงรถยนต์ตรงทางโค้งเข้าไปในทางเดินรถของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 3 ขับสวนทางมาจำเลยที่ 3 มิได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อ เหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายสุรพลฝ่ายเดียว โจทก์ฟ้องคดีเกินหนึ่งปีนับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวว่าจำเลยที่ 1 จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างและขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 ด้วย ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 2ส่วนจำเลยที่ 3 แม้จะไม่ได้ให้การต่อสู้คดี แต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้ จำเลยที่ 3 ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2528 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา นายสุรพล พลบถึงเจ้าพนักงานป่าไม้ปฏิบัติงานประจำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวจังหวัดชัยภูมิ ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน น – 2691 ชัยภูมิของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ขับรถยนต์โดยสารประจำทางสายขอนแก่น-หล่มสัก หมายเลขทะเบียน 10 – 1806 ขอนแก่น ของจำเลยที่ 2ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แล่นสวนทางกับรถยนต์คันที่นายสุรพลขับ นายสุรพลและจำเลยที่ 3 ต่างขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันชนกัน รถยนต์โดยสารคันที่จำเลยที่ 3ขับเสียหลักแล่นแฉลบไปชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ง – 9601กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ซึ่งมีนายสุภาพ สวงโท หัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นผู้ขับเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 73,470บาท นายสุภาพได้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้น ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 พลตำรวจตรีชวลิต ยอดมณีเลขาธิการสำนักงานของโจทก์ทราบรายงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 15เมษายน 2528 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2529
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง หรือไม่เห็นว่า นายสุภาพได้รายงานให้เลขาธิการสำนักงานของโจทก์ทราบเหตุตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งมีข้อความสำคัญว่า “ได้มีรถยนต์โดยสารประจำทางสายขอนแก่น-หล่มสัก หมายเลขทะเบียน 10 – 1806 ขก.ชนกับรถยนต์บรรทุกเล็กราชการของกรมป่าไม้ หมายเลขทะเบียนน – 2691 ชย…ฯลฯ…แล้วรถยนต์โดยสารประจำทางเสียหลักพุ่งมาชนรถยนต์ราชการของ ศปอ. หมายเลขทะเบียน 2 ง – 9601 ซึ่งวิ่งมาตามเลนปกติด้วยความเร็วประมาณ 50 กม/ชม. เนื่องจากสภาพถนนไม่ดีพอเป็นถนนลูกรังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และฝุ่นตลบเมื่อรถยนต์วิ่งสวนกัน ฯลฯ รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายและแผนผังแสดงสถานที่เกิดเหตุที่แนบมาพร้อมนี้” และได้รายงานว่า “ดังนั้นจึงได้ดำเนินการแจ้งความต่อ ร.ต.อ.สมบูรณ์ แสงวงษ์ รอง สวส.สภอ.ชุมแพ ร้อยเวรไว้เป็นหลักฐานในการเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป ตามสำเนาประจำวันของ สภอ.ชุมแพ ลำดับที่ 6 ลงวันที่ 12 เมษายน 2528 (ดังแนบ)…”รายงานของนายสุภาพระบุชัดว่า รถยนต์คันหมายเลขทะเบียนน – 2691 ชัยภูมิ เป็นรถยนต์ราชการของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามปกติจำเลยที่ 1 ย่อมจะต้องใช้รถยนต์คันดังกล่าวในราชการ รายงานดังกล่าวระบุไว้ด้วยว่ารถยนต์ของโจทก์แล่นอยู่ในทางเดินรถตามปกติ และนายสุภาพได้ดำเนินการแจ้งความเป็นหลักฐานในการเรียกร้องค่าเสียหายแล้ว อันเป็นการแสดงว่ารถยนต์อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายกระทำละเมิดโจทก์จึงทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2528 คือวันที่เลขาธิการสำนักงานของโจทก์ทราบรายงานของนายสุภาพ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 นับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่งส่วนคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 นั้น รายงานของนายสุภาพมิได้ระบุว่าคนขับรถยนต์โดยสารประจำทางคันเกิดเหตุคือใคร และเป็นลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของบุคคลผู้ใด ข้อเท็จจริงรับฟังได้จากเอกสารหมาย ป.จ.8 ว่า เลขาธิการสำนักงานของโจทก์ทราบชื่อคนขับและนายจ้างของคนขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม2528 คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 2ที่ 3 ต้องร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 และคนขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ขับรถคนละคันแล่นสวนทางกันโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถชนกัน และรถยนต์ของโจทก์เสียหายเป็นกรณีต่างคนต่างกระทำละเมิด แต่ละฝ่ายต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามสัดส่วนของความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิดของฝ่ายตน มิใช่ร่วมกันรับผิดข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3หรือคนขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ฝ่ายใดมีความประมาทเลินเล่อยิ่งกว่ากัน จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงชอบที่จะรับผิดในจำนวนเงินค่าเสียหายแต่เพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่าเสียหายทั้งหมดโดยรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนเงิน 36,735 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้เงินให้แก่โจทก์ 36,735 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 12 เมษายน 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1