คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6490/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกให้โจทก์ส่งเอกสารและไปให้ถ้อยคำประกอบการไต่สวน ปรากฏว่าโจทก์ขอผัดผ่อนการส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ โดยอ้างเหตุว่ารวบรวมไม่ครบ หรือป่วย และเหตุอื่น ๆรวม 13 ครั้ง และผิดนัดเรื่อยมา ตามพฤติการณ์จึงฟังได้ว่าโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควร จงใจฝ่าฝืนไม่นำบัญชีหรือพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดงตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีอากรของโจทก์ไปตามหลักฐานที่มีอยู่ซึ่งในกรณีนี้ โจทก์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 21 เพราะถือว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นอันยุติ โจทก์หมดสิทธิโต้แย้งแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานประเมินภาษีของจำเลยที่ 6 ได้ประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ประจำปี 2518 ถึง 2522 โดยกำหนดรายได้ของโจทก์มากกว่าความจริง หักค่าใช้จ่ายให้โจทก์เป็นการเหมาน้อยกว่าค่าใช้จ่ายจริงของโจทก์ โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งประกอบด้วยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 5 มีหนังสือแจ้งการไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ ขอให้มีคำสั่งว่าการประเมินภาษีของจำเลยที่ 1และที่ 6 ที่มีต่อโจทก์เป็นการประเมินโดยมิชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5ที่ไม่ยอมรับคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ เป็นให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รับคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
จำเลยทั้งหกให้การทำนองเดียวกันว่า การประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ตัวแทนของจำเลยที่ 6 ถูกต้องแล้ว โจทก์ได้รับหมายเรียกเพื่อตรวจสอบไต่สวน แต่โจทก์ไม่ไปพบตามหมายเรียกเจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินเงินภาษีอากรของโจทก์ ตามมาตรา 21แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์การประเมิน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์การประเมิน ให้คณะกรรมการพิจารณารับอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน ตามมาตรา 19เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินภาษีอากรของโจทก์ตามมาตรา 21แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ให้โอกาสโจทก์นำเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่การตรวจสอบไปให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบภาษีอากรของโจทก์ นับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2523 จนถึงครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 เป็นเวลานานเกือบ 3 ปี และตามที่จำเลยนำสืบมาได้ความว่า โจทก์ขอผัดส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ โดยอ้างว่ารวบรวมไม่ครบ หรือป่วยและเหตุอื่น ๆ รวม 13ครั้งและผิดนัดเรื่อยมา ซึ่งนายอาภรณ์ ปิ่นสุวรรณ พยานโจทก์เองก็เบิกความว่าโจทก์ไปพบนายธีระพงษ์ เขียวเกษมผู้ตรวจสอบภาษีอากรรายนี้ประมาณ 13 ครั้งและขอผัดผ่อนเนื่องจากไม่ได้นำเอกสารตามหมายเรียกไปให้ตรวจอีกหลายครั้งตามเอกสารหมายปจ.1 ตามพฤติการณ์จึงฟังได้ว่า โจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควรจงใจฝ่าฝืน ไม่นำบัญชีหรือพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดงตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีอากรของโจทก์ไปตามหลักฐานที่มีอยู่และแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบแล้วเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2526โจทก์มีหน้าที่ชำระเงินค่าภาษีอากรให้แก่จำเลยตามจำนวนที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งไป และในกรณีเช่นนี้โจทก์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 21 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นยุติ โจทก์หมดสิทธิโต้แย้งแล้ว ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่รับพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4และที่ 6 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share