คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6060/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงพิมพ์ข้อความมีหัวข้อข่าวว่า “แฉชัด ๆ “ชวน” บอกให้ปกปิด” ส่วนเนื้อข่าวมีข้อความว่า “ร้อยตำรวจเอกเฉลิมกล่าวว่า คดีบีบีซีเกิดขึ้น นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีการคดโกงธนาคารบีบีซี นายชวนหลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นทราบ ก็มีการบอกให้ปกปิดไว้อย่าพูดอะไร ตัวเองก็ยิ้มเงียบ อย่างนุ่มนวล รัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์แต่ละคนผูกไทใส่สูทพูดเพราะอย่างเดียว สื่อมวลชนก็ชื่นชม…” ข้อความที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาลงพิมพ์ดังกล่าวมีความหมายธรรมดา ประชาชนทั่วไปเข้าใจความหมายได้ว่า โจทก์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกระทำการโดยไม่ชอบด้วยหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่ดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องทุจริตในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารบีบีซี ทั้ง ๆ ที่นายธารินทร์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รายงานเรื่องการทุจริตดังกล่าวให้ทราบแล้ว แต่โจทก์กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการทั้งยังบอกให้นายธารินทร์ปกปิดเรื่องการทุจริตไว้ไม่ให้เปิดเผย มีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เป็นการเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากการอภิปรายในรัฐสภา และจำเลยที่ 2 มาลงพิมพ์โฆษณาเผยแพร่โดยมิได้เสริมแต่งข้อความหรือสอดแทรกความคิดเห็นก็ไม่ทำให้ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 13 ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2540 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐด้วยข้อความว่า “คดีบีบีซีเกิดขึ้น นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีการคดโกงธนาคารบีบีซี นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นทราบ ก็มีการบอกว่าให้ปกปิดไว้ อย่าไปพูดอะไร ตัวเองก็ยิ้มเงียบๆ อย่างนุ่มนวล รัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์แต่ละคนผูกไทใส่สูทพูดเพราะอย่างเดียว สื่อมวลชนก็ชื่นชม” และได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ในระหว่างบรรยายให้คณะสงฆ์ที่วัดสามพระยาฟังด้วยข้อความว่า “คดีบีบีซีนั้น เวลานี้นายชวน หลีกภัย ออกมาด่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ทั้งๆ ที่ตัวเองรู้ว่ามีการกระทำผิดแต่กลับหมักหมมเอาไว้ ตัวเองและนายสมัคร สุนทรเวช จึงต้องมาต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ เฉลิมกับสมัคร รวมกันเมื่อไรก็เหมือน รักกับยม ไม่มีทางแพ้ เรื่องบีบีซี นั้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดำเนินการเต็มที่ รัฐบาลต้องการเอาทรัพย์สินของประเทศชาติกลับคืนมา รัฐบาลนี้จะทำอย่างตรงไปตรงมาว่าใครผิดบ้าง ไม่ให้เหมือนรัฐบาลประชาธิปัตย์ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบเรื่องแล้วรายงานให้นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีทราบ แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ คดีบีบีซีที่เกิดขึ้น คุณธารินทร์ รมว. คลัง รู้ว่ามีการคดโกง รายงานให้นายชวนทราบ คุณชวนก็บอกว่าให้ปกปิดไว้ อย่าไปพูดอะไร โดยตัวเองก็นั่งยิ้มเงียบๆ อย่างนุ่มนวล รัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์แต่ละคนผูกไทใส่สูทพูดเพราะอย่างเดียว…รัฐบาลชวนกวาดขยะบีบีซีไว้ใต้พรมเมื่อเปิดดูก็กวาดจนฝุ่นฟุ้ง มาถึงรัฐบาลบิ๊กจิ๋วก็จะทำให้สะอาด ใครเอาเงินไปก็ต้องเอากลับมาคืนให้ได้” โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตีพิมพ์คำสัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับลงวันที่ 14 มีนาคม 2540 การให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 และการเสนอข่าวคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามทำให้ผู้ฟังคำสัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 และผู้อ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์เข้าใจว่า โจทก์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กระทำการโดยไม่ชอบด้วยหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่ดำเนินการสอบสวนหรือหาตัวผู้กระทำผิดเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตในธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ จำกัด (มหาชน) ทั้งๆ ที่นายธารินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้นได้รายงานเรื่องการทุจริตดังกล่าวให้ทราบแล้วแต่โจทก์กลับเพิกเฉย ไม่ดำเนินการแต่ประการใด ทั้งยังบอกให้นายธารินทร์ปกปิดเรื่องการทุจริตไว้โดยมิให้ไปเปิดเผย ณ ที่ใด โจทก์มีพฤติกรรมเหมือนกวาดขยะซุกไว้ใต้พรมซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น การให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 และการเสนอข่าวของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจากผู้ฟังการให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 และจากประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร แขวงคลองตันเหนือ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร และทุกแขวงทุกเขตทั่วกรุงเทพมหานคร และทุกตำบลทุกอำเภอทั่วราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 83 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไทยโพสต์ เดลินิวส์ สยามโพสต์ และมติชน ติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน หากจำเลยทั้งสามไม่สามารถลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์ฉบับใดฉบับหนึ่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้จำเลยทั้งสามลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับอื่นตามที่โจทก์เป็นผู้กำหนด โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างนัดสืบพยานจำเลย จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ตกลงกับโจทก์โดยยอมรับผิดและประกาศขอขมาโจทก์ โจทก์ยินยอมและขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ศาลอนุญาตและมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 จากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 326 (ที่ถูกไม่ต้องปรับบทมาตรา 326) พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 46 วรรคสอง ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2 กลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาโดยย่อพอได้ใจความในหนังสือพิมพ์ จำนวน 5 ฉบับ คือ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มติชน เดลินิวส์ ข่าวสด และแนวหน้า เป็นเวลาติดต่อกันฉบับละ 7 วัน ด้วยตัวอักษรขนาดเท่าหนังสือพิมพ์ทั่วไปที่เสนอข่าวเป็นปกติ โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวให้โจทก์เป็นผู้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นหรือฉบับอื่นแทนจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าโฆษณาทั้งหมด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติได้ว่า ในขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าพรรคมวลชน เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันออกจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 14 มีนาคม 2540 ได้ลงพิมพ์ข้อความในหน้า 17 มีหัวข้อข่าวว่า “แฉชัดๆ “ชวน” บอกให้ปกปิด” ส่วนเนื้อข่าวมีข้อความว่า “ร้อยตำรวจเอกเฉลิมกล่าวว่า คดีบีบีซีเกิดขึ้น นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีการคดโกงธนาคารบีบีซี นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นทราบ ก็มีการบอกให้ปกปิดไว้อย่าพูดอะไร ตัวเองก็ยิ้มเงียบๆ อย่างนุ่มนวล รัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์แต่ละคนผูกไทใส่สูทพูดเพราะอย่างเดียวสื่อมวลชนก็ชื่นชม…” รายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.1 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มิได้มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์เพราะข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐดังกล่าวจำเลยที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากการอภิปรายในรัฐสภาโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งรวมทั้งตัวโจทก์ด้วย เกี่ยวกับเรื่องการทุจริตคดโกงภายในธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารบีบีซี จนเป็นเหตุให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในระบบธนาคารและทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่มั่นคง การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลออกมาให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นการตอบโต้ฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่นักการเมืองจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะมีการให้สัมภาษณ์ตอบโต้กัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชนเป็นจำนวนมาก จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจึงได้รายงานข้อเท็จจริงให้ประชาชนทั่วไปทราบทั้งข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน อันเป็นการทำหน้าที่ตามจรรยาบรรณและตามปกติวิสัยของการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นและสื่อมวลชนทุกแขนงรวมทั้งวิทยุและโทรทัศน์ก็เสนอข่าวดังกล่าวด้วย โดยจำเลยที่ 2 มิได้แต่งเติมสอดแทรกความคิดเห็นอย่างอื่นไปในข่าวด้วยแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ลงข่าวตามเอกสารหมาย จ.1 จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น เห็นว่า ข้อความที่จำเลยที่ 2 ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐตามเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวมีความหมายธรรมดามิใช่มีความหมายพิเศษอันต้องแปลความเสียก่อนจึงจะเข้าใจความหมายได้ ประชาชนทั่วไปได้อ่านข้อความดังกล่าวก็เข้าใจความหมายได้ว่า โจทก์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกระทำการโดยไม่ชอบด้วยหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่ดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องทุจริตในธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารบีบีซี ทั้งๆ ที่นายธารินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้นได้รายงานเรื่องการทุจริตดังกล่าวให้ทราบแล้ว แต่โจทก์กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการ ทั้งยังบอกให้นายธารินทร์ปกปิดเรื่องการทุจริตไว้ไม่ให้เปิดเผย ซึ่งเห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ย่อมทราบความหมายดังกล่าวดีกว่าประชาชนทั่วไป เพราะได้ประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2507 และเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาตั้งแต่ปี 2527 และในฐานะเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จำเลยที่ 2 สามารถยับยั้งมิให้ลงพิมพ์ข้อความดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ได้ แล้วทำการตรวจสอบเสียก่อนว่าข้อความดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ สมควรที่จะลงพิมพ์แพร่หลายหรือไม่ แต่จำเลยที่ 2 ก็หาได้กระทำไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 สืบพยานก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่าก่อนที่จะนำข้อความดังกล่าวลงตีพิมพ์นั้นไม่ทราบว่าข้อความดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ อันแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาจะลงข่าวเพื่อให้หนังสือพิมพ์ขายดีอย่างเดียวโดยไม่ใยดีว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายจากการลงข่าวหรือไม่ เมื่อข้อความตามที่จำเลยที่ 2 ลงข่าวดังกล่าวข้างต้นมีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เป็นการเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้กล่าวข้อความดังกล่าวและจำเลยที่ 2 นำข้อความดังกล่าวมาลงพิมพ์โฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐโดยมิได้เสริมแต่งข้อความหรือสอดแทรกความคิดเห็นตามที่อ้างก็ตามก็ไม่ทำให้ข้อความดังกล่าวซึ่งเป็นการใส่ความโจทก์และเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทดังกล่าวกลับมาไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับที่ลงข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ดังกล่าวจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษมา ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าไม่มีเจตนากระทำความผิดจึงฟังไม่ขึ้น และจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่าข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ผู้กล่าวข้อความดังกล่าวได้ยอมรับผิดและประกาศขอขมาโจทก์ และโจทก์ยินยอมโดยได้ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ไปแล้ว ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 2 แสดงข้อความดังกล่าวโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทเพราะเข้าองค์ประกอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) นั้น เห็นว่า ข้อความที่ลงพิมพ์ดังกล่าวนั้น มีหัวข้อข่าวว่า แฉชัดๆ ชวนบอกให้ปกปิดและมีรายละเอียดมุ่งเน้นให้เข้าใจว่า โจทก์บอกให้นายธารินทร์ปกปิดเรื่องการทุจริตในธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งแสดงว่าโจทก์กระทำการไม่ชอบด้วยหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่มีพฤติการณ์ให้เข้าใจว่าเป็นจริง ซึ่งจำเลยที่ 2 เองก็ยอมรับว่าขณะลงพิมพ์จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าแสดงข้อความดังกล่าวโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรม จึงไม่มีเหตุอันพึงรับฟัง กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดตามที่อ้าง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share