คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ ระบุว่า จำเลยที่ 2 ขอค้ำประกันหนี้ของบริษัท ศ. ไม่ว่าหนี้นั้นมีอยู่แล้วขณะทำสัญญาหรือที่จะมีต่อไปในภายหน้าด้วย โดยจำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดชดใช้แทนแก่ธนาคาร ก. ซึ่งโอนขายสินเชื่อให้โจทก์ จนกว่าจะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง ดังนั้น แม้สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจะได้กระทำกันก่อนที่บริษัท ศ. เป็นหนี้ธนาคาร ก. ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท และไม่ว่าขณะก่อนหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัพสต์รีซีท จำเลยที่ 2 จะได้รู้เห็นยินยอมด้วยหรือไม่ แต่สัญญาค้ำประกันดังกล่าวก็มีผลผูกพันบังคับกันได้ และมิได้เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เพราะขณะทำสัญญาจำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมเพื่อประกันความรับผิดในหนี้ของบริษัท ศ. ที่จะเกิดในภายหน้าไว้ล่วงหน้าด้วย ซึ่งย่อมมีผลบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ จึงเป็นกรณีที่ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดว่าข้ออ้างของโจทก์ตามที่กล่าวในฟ้องนั้นมีมูลที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามกฎหมายหรือไม่ และไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ในส่วนที่เรียกดอกเบี้ยเกิน 5 ปี ขาดอายุความหรือไม่ และโจทก์ต้องบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์ที่บริษัท ศ. จดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ก่อนหรือไม่ เพราะจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2536 และ 14 ตุลาคม 2536 บริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดยื่นคำขอให้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตชนิดเพิกถอนไม่ได้ เพื่อชำระราคาสินค้าที่สั่งซื้อจากผู้ขายในต่างประเทศ ซึ่งธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไปให้รวม 2 ฉบับ ฉบับแรก เลตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ 07/02097/93 ฉบับที่สอง เลตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ 07/02551/93 หลังจากผู้ขายส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อของบริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด แล้ว ผู้ขายได้รับเงินค่าสินค้าจากธนาคารผู้ขาย ธนาคารของผู้ขายได้ส่งเอกสารมาให้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเรียกเก็บเงิน และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ชำระค่าสินค้าแทนบริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด ไปแล้ว แต่บริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด ยังไม่สามารถชำระค่าสินค้าคืนให้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2536 และวันที่ 18 พฤศจิกายน 2536 บริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด จึงทำสัญญาทรัสต์รีซีท ให้ไว้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รวม 2 ฉบับ เพื่อขอรับเอกสารต่างๆ จากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ไปรับสินค้าโดยตกลงว่าบริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด ต้องนำเงินค่าสินค้าพร้อมด้วยค่าธรรมเนียมและอากรแสตมป์มาชำระให้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ภายในวันที่ที่ระบุไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีท หนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีทดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้รวม 3 ฉบับ รวมวงเงิน 14,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้รวม 4 ฉบับ รวมวงเงิน 44,000,000 บาท และจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันไว้รวม 5 ฉบับ รวมวงเงิน 70,000,000 บาท โดยจำเลยทั้งสามยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาเมื่อวันถึงกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับคือ วันที่ 20 ธันวาคม 2536 และวันที่ 16 พฤษภาคม 2537 บริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ณ วันดังกล่าว มีหนี้สัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับ เป็นค่าสินค้าจำนวน 486,000 ดอลลาร์สหรัฐ และ 542,091.74 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าธรรมเนียมและอากรแสตมป์จำนวน 93,006.50 บาท และ 102,920.91 บาท โดยมีอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25.50 บาท และ 25.30 บาท ตามลำดับ เมื่อคิดยอดหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับเป็นเงินแล้ว ฉบับแรกค่าสินค้าเท่ากับ 12,393,000 บาท เมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมและอากรแสตมป์แล้วเป็นต้นเงินจำนวน 12,486,006.50 บาท ฉบับที่สอง ค่าสินค้าคิดเป็นเงินบาทเท่ากับ 13,714,921.02 บาท เมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมและอากรแสตมป์ แล้วเป็นต้นเงินจำนวน 13,817,841.90 บาท นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ดังกล่าว ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) คิดดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราต่างๆ ขึ้นลงตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างนั้นบริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท ฉบับแรก บางส่วน ส่วนฉบับที่สองไม่ชำระเลย คิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 6 ตุลาคม 2543) ยังคงมีหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับแรก เป็นต้นเงิน 9,228,268.58 บาท ดอกเบี้ย 6,365,861.93 บาท รวมเป็นเงิน 15,594,130.51 บาท ฉบับที่สองเป็นต้นเงิน 13,817,841.93 บาท ดอกเบี้ย 9,531,850.22 บาท รวมเป็นเงิน 23,349,692.15 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญาทั้งสองฉบับ 38,943,822.66 บาท เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2542 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาโอนขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ รวมทั้งหลักประกันทั้งหมดที่มีต่อจำเลยทั้งสามให้แก่โจทก์ ได้มีการทำหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามทราบแล้ว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2542 บริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด ได้ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 14,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 38,943,866.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ขอต้นเงินจำนวน 23,046,110.51 นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 38,943,866.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุด ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 23,046,110.51 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 ตุลาคม 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระเงินดังกล่าวข้างต้นจำนวน 14,000,000 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามชำระค่าธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยจะกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2536 และ 14 ตุลาคม 2536 บริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด ยื่นคำขอให้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต เพื่อชำระราคาสินค้าที่สั่งซื้อจากผู้ขายในต่างประเทศ ปรากฏตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 ซึ่งธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไปให้รวม 2 ฉบับ หลังจากผู้ขายส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อของบริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ชำระค่าสินค้าแทนบริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด ไปแล้ว แต่บริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด ยังไม่สามารถชำระค่าสินค้าคืนให้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2536 และวันที่ 18 พฤศจิกายน 2536 บริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด จึงทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รวม 2 ฉบับ เพื่อขอรับเอกสารต่างๆ จากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ไปรับสินค้า โดยตกลงว่าบริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด ต้องนำเงินค่าสินค้าพร้อมด้วยค่าธรรมเนียมและอากรแสตมป์มาชำระให้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ภายในวันที่ที่ระบุไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีท ปรากฏตามสัญญาทรัสต์รีซีทพร้อมคำแปล เอกสารหมาย จ.15 และ จ.17 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด ไว้ โดยจำเลยที่ 1 ทำไว้ รวม 3 ฉบับ รวมวงเงิน 14,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ทำไว้รวม 4 ฉบับ รวมวงเงิน 44,000,000 บาท จำเลยที่ 3 ทำไว้รวม 5 ฉบับ รวมวงเงิน 70,000,000 บาท ปรากฏตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.32 เมื่อครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับ คือ วันที่ 20 ธันวาคม 2536 และวันที่ 16 พฤษภาคม 2537 ตามลำดับ บริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ณ วันดังกล่าวมีหนี้สัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับเป็นค่าสินค้าจำนวน 486,000 ดอลลาร์สหรัฐ และ 542,091.74 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าธรรมเนียมและอากรแสตมป์จำนวน 93,006.50 บาท และ 102,920.91 บาท โดยมีอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25.50 บาท และ 25.30 บาท ตามลำดับ เมื่อคิดยอดหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับเป็นเงินบาทแล้ว ฉบับแรก ค่าสินค้าเท่ากับ 12,393,000 บาท เมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมและอากรแสตมป์แล้ว เป็นต้นเงินจำนวน 12,486,006.50 บาท ฉบับที่สอง ค่าสินค้าคิดเป็นเงินบาทเท่ากับ 13,714,921.02 บาท เมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมและอากรแสตมป์ แล้วเป็นต้นเงินจำนวน 13,817,841.90 บาท เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2542 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาโอนขายสินเชื่อด้อยคุณภาพรวมทั้งหลักประกันทั้งหมดที่มีต่อจำเลยทั้งสามให้แก่โจทก์ปรากฏตามสัญญาโอนขายสินเชื่อ เอกสารหมาย จ.7 เมื่อโจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาแล้ว ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้กับบริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด และจำเลยทั้งสามทราบแล้ว ปรากฏตามหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องและใบตอบรับ เอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10 และเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2542 บริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด ได้ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ปรากฏตามหนังสือรับรองและประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เอกสารหมาย จ.11 และ จ.33
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ประการแรกว่าสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.24 ถึง จ.27 เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่มีผลบังคับผูกพันจำเลยที่ 2 เพราะทำขึ้นในระหว่างปี 2530 ถึง 2533 ก่อนที่บริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด เป็นหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีทตามฟ้องนานหลายปี และขณะก่อหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีท จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.24 ถึง 27 ไว้ต่อโจทก์ ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 ขอค้ำประกันหนี้ของบริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด ไม่ว่าหนี้นั้นมีอยู่แล้วขณะทำสัญญาหรือที่จะมีต่อไปในภายหน้าด้วย โดยจำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดชดใช้แทนแก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จนกว่าจะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง ดังนั้น แม้สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจะได้กระทำกันก่อนที่บริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด เป็นหนี้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทตามฟ้องดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง และไม่ว่าขณะก่อหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีท จำเลยที่ 2 จะได้รู้เห็นยินยอมด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่สัญญาค้ำประกันดังกล่าวก็มีผลผูกพันบังคับกันได้และมิได้เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เพราะขณะทำสัญญาจำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมเพื่อประกันความรับผิดในหนี้ของบริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด ที่จะเกิดในภายหน้าไว้ล่วงหน้าด้วย ซึ่งย่อมมีผลบังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคสอง เมื่อต่อมาหนี้ได้เกิดขึ้นตามที่ได้ตกลงค้ำประกันไว้ จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เรียกดอกเบี้ยเกิน 5 ปี ขาดอายุความ และโจทก์ต้องบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์ที่บริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด จดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ก่อนนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ จึงเป็นกรณีที่ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดว่า ข้ออ้างของโจทก์ตามที่กล่าวในฟ้องนั้นมีมูลที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามกฎหมายหรือไม่และไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ในส่วนที่เรียกดอกเบี้ยเกิน 5 ปี ขาดอายุความหรือไม่ และโจทก์ต้องบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์ที่บริษัทเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำกัด จดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ก่อนหรือไม่ เพราะจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จึงไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน โจทก์ไม่ได้แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นนี้ให้

Share