คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5943/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ แต่มีผู้พิพากษาลงนามในคำพิพากษาคนเดียว จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) ทั้งนี้เพราะผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันเล่นการพนันสลากกินรวบ อันเป็นการพนันตามบัญชี ข. หมายเลข 16 ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 พนันเอาทรัพย์สินกัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยจำเลยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ ส่วนพวกที่หลบหนีเป็นลูกค้าผู้ซื้อ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบของกลาง และสั่งจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, (ที่ถูก 12 (1)), 15 จำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางและให้จำเลยจ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน ไม่ลงโทษปรับ ไม่รอการลงโทษจำคุก และไม่คุมความประพฤติจำเลย คำขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ จำคุกจำเลย 1 ปี และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้แต่มีผู้พิพากษาลงนามในคำพิพากษาคนเดียว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) ทั้งนี้เพราะผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายข้างต้นซึ่งมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไป

Share