แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจเฉพาะตัวว่าจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ เมื่อผู้พิพากษาคนดังกล่าวไม่รับรองให้ฎีกาจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกาไม่ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62 ตรี,106 ตรี พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ,157 ทวิ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ตรี),127 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดกระทงแรกฐานเสพยาม้าจำคุก 1 ปีกระทงที่สองฐานขับรถโดยเสพยาม้า จำคุก 6 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์การทำผิดแล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องร้ายแรงจึงไม่ให้รอการลงโทษไว้ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ 1 ปี
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 62 ตรี, 106 ตรี พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 62 ทวิ วรรคแรก, 157 ทวิ วรรคแรกพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ตรี), 127 ทวิเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปีจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกาว่า ข้อความที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิจารณาและพิพากษาคดี เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดได้พิจารณาเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไปศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การรับรองให้อุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเป็นอำนาจเฉพาะตัวผู้พิพากษา ไม่มีบทกฎหมายให้อุทธรณ์คำสั่งได้ ไม่รับอุทธรณ์ สำเนาให้โจทก์
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ผู้พิพากษาคนใดซึ่งเป็นผู้พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 หรือไม่นั้น เป็นอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจเฉพาะตัวผู้พิพากษานั้น ๆ เมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่รับรองให้ฎีกา จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกาไม่ได้ ให้ยกคำร้อง”