คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6060/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 5 และ มาตรา 7 ได้แยกการกระทำของนิติบุคคลและ บุคคลธรรมดาในการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ ที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้ต่างหากจากกัน ทั้งได้บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ในการเรียกร้อง เอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เฉพาะบุคคลธรรมดา ที่เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น แต่กรณีนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เป็นนิติบุคคล แล้วกฎหมายมิได้ให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์แต่อย่างใด และตามบัญญัติมาตรา 7 หาได้จำกัดให้สมาชิกวงแชร์ ฟ้องได้เฉพาะคดีแพ่งไม่ เมื่อพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ มีบทบัญญัติความผิดและกำหนดโทษไว้เป็นความผิดทางอาญาด้วย สมาชิกวงแชร์ย่อมมีสิทธิฟ้องบุคคลธรรมดา ที่เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่กระทำการ ตามมาตรา 6 เป็นคดีอาญาได้ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล เมื่อตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ ได้ร่วมเล่นแชร์ที่จำเลยที่ 1 จัดขึ้นย่อมถือว่ามีส่วนร่วม ในการกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 5โจทก์ย่อมมิใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ว่ากระทำความผิดตามมาตรา 5 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 16 ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลธรรมดากรณีต้องด้วยมาตรา 6 และ 7 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดตามมาตรา 6 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 17 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการมีอำนาจทำการแทน ผูกพันจำเลยที่ 1 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2539เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสามจัดให้มีการเล่นแชร์ขึ้น จำนวน 2 วง คือแชร์วงหุ้นเอ และแชร์วงหุ้นบี โดยจำเลยที่ 1เป็นนายวงแชร์ทั้งสองวงซึ่งมีสมาชิกวงแชร์ทั้งสิ้นวงละ 11 คนโจทก์เป็นสมาชิกวงแชร์วงหุ้นเอ และวงหุ้นบี วงละ 1 มือ (คน)สมาชิกแต่ละคนของวงแชร์ทั้งสองวงมีภาระหน้าที่ต้องส่งเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายวงแชร์ทั้งสองวง เป็นงวดงวดแรกคนละ 200,000 บาท รวมเป็นเงินทุนกองกลางในงวดแรกวงละ 2,000,000 บาท ในวันที่ 10 มิถุนายน 2539และต้องส่งเงินงวดต่อไปคนละ 100,000 บาท ทุกวันที่ 20 ของเดือนที่มีการประมูลแชร์ เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้รวบรวมเป็นเงินทุนกองกลางสำหรับสมาชิกวงแชร์ทั้งสองวงจะได้หมุนเวียนกันรับเงินทุนกองกลางในแต่ละงวดโดยวิธีการประมูล ซึ่งจะได้เงินทุนกองกลางแต่ละวงงวดละ 1,100,000 บาท โดยจะทำการประมูลกันทุกวันที่ 10 ของเดือนถัดไป จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายวงแชร์มีสิทธิได้รับเงินทุนกองกลางในงวดแรกโดยไม่ต้องประมูลจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกเช็คธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน)สาขาบางมด ฉบับละ 200,000 บาท แทนจำเลยที่ 1 มอบให้แก่ลูกวงแชร์ทั้งสองวงทุกคน โจทก์ได้รับเช็คมา 2 ฉบับ ต่อมาเริ่มประมูลครั้งแรกวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 โดยจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นผู้ดูแลจัดการประมูลแชร์ทั้งสองวง จากนั้นปลายเดือนพฤศจิกายน 2539 โจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 2และที่ 3 ว่า วงแชร์ทั้งสองวงล้มทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ส่งเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อรวบรวมเป็นเงินทุนกองกลางในแต่ละงวดทั้งสองวงมาโดยตลอดเป็นเงินวงหุ้นละ700,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,400,000 บาทและโจทก์ยังประมูลแชร์ทั้งสองวงไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการร่วมกันจัดให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์อันมีเงินทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดเกินกว่า 300,000 บาท เกี่ยวพันกันขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534มาตรา 5, 6, 7, 17, 26 กฎกระทรวง (พ.ศ. 2534)ออกตามความในพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว งดไต่สวนมูลฟ้องและวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่เป็นผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. 2534 มาตรา 5 และ 6 ส่วนบทบัญญัติในมาตรา 7ให้อำนาจสมาชิกวงแชร์ที่ตั้งขึ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา 6 มีสิทธิฟ้องเรียกร้องจากนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ในทางแพ่งเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534มาตรา 5 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์” มาตรา 6 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้” และ มาตรา 7 บัญญัติว่า “บทบัญญัติในมาตรา 6ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดการเล่นแชร์” จากบทบัญญัติดังกล่าว กฎหมายได้แยกการกระทำของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาในการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้ต่างหากจากกัน ทั้งได้บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ในการเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เฉพาะบุคคลธรรมดาที่เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น แต่กรณีนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เป็นนิติบุคคลแล้วกฎหมายมิได้ให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์แต่อย่างใด และตามบัญญัติมาตรา 7 นั้น หาได้จำกัดให้สมาชิกวงแชร์ฟ้องได้เฉพาะคดีแพ่งไม่ เมื่อพระราชบัญญัติการเล่นแชร์มีบทบัญญัติความผิดและกำหนดโทษไว้เป็นความผิดทางอาญาด้วย สมาชิกวงแชร์ย่อมมีสิทธิฟ้องบุคคลธรรมดาที่เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่กระทำการตามมาตรา 6เป็นคดีอาญาได้ คดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลเมื่อตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ได้ร่วมเล่นแชร์ที่จำเลยที่ 1 จัดขึ้นย่อมถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 5 ดังกล่าวโจทก์ย่อมมิใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องจำเลยที่ 1ว่ากระทำความผิดตามมาตรา 5 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 16 ได้ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลธรรมดา กรณีต้องด้วยมาตรา 6และ 7 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดตามมาตรา 6 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 17 ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการไต่สวนมูลฟ้องและพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามในส่วนที่ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ชอบแล้วส่วนที่ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. 2534 มาตรา 6 และ 17 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ในส่วนดังกล่าวตามรูปคดี

Share